ประวัติส้มตำ หรือ ตำบักหุ่ง อาหารอีสาน

ส้มตำ

ถ้าพูดถึงอาหารการกินทางภาคอีสาน อย่างแรกที่หลายๆคนนึกถึงคงจะหนีบ่พ้น “ตำบักหุ่ง” หรือ “ส้มตำ” อาหารจานหลักในตำนานที่ไม่ได้นานอย่างที่หลายๆคนคิด ในฐานะทีมงานอีสานร้อยแปด ลูกอีสานแท้ๆก็อยากรู้ความเป็นมาเช่นกัน จึงได้ไปสืบเสาะหาข้อมูลมาเล่าสู่กันฟัง
จะว่าไปแล้ว มะละกอ และ พริก นั้น เป็นของนอกทั้งคู่

ดร.สุรีย์ ให้ข้อมูลว่า คนที่ทำให้พริกแพร่หลายในโลกคือ ปีเตอร์ มาร์ทิล ซึ่งเป็นลูกเรือของ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ผู้ค้นพบทวีปอเมริกา นั่นเอง โดย ปีเตอร์ มาร์ทิล ได้เอาพริกจากทวีปอเมริกาซึ่งเป็นแหล่งต้นกำเนิด ไปปลูกที่สเปน เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๐๙๖ ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓
แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิของกรุงศรีอยุธยา ต่อมาชาวสเปนและชาวโปรตุเกส ได้นำพริกเข้ามาเอเชีย โดยปลูกในอินเดียประมาณปี พ.ศ. ๒๑๔๓ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งราชวงศ์สุโขทัยของกรุงศรีอยุธยา
อินเดียเป็นประเทศที่ร่ำรวยในวัฒนธรรมการกินได้ผลิตอาหารรสจัด และเป็นเจ้าตำรับเครื่องแกง พริกที่มีรสเผ็ดก็คงถูกปรับเข้าไปเป็นองค์ประกอบของอาหารเหล่านั้นและได้เผยแพร่วัฒนธรรมการกินไปยังผู้คนในประเทศใกล้เคียงในเวลาต่อมา

ดร.สุรีย์ บอกว่า ในปี พ.ศ. ๒๑๔๓ พริกจากอินเดียได้แพร่หลายเข้าไปในประเทศจีนและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งคงรวมถึงไทยด้วย
ถ้ายึดถือตามข้อมูลดังกล่าว ก็น่าจะสันนิษฐานว่า คนไทยรู้จัก”พริก” เมื่อประมาณ ๔๐๕ ปีที่ผ่านมาฉะนั้น คนในสมัยสุโขทัยและอยุธยาตอนต้น ไม่น่าจะรู้จักพริกและคงไม่ได้ลิ้มรสเผ็ดของพริกแต่อย่างใด อาหารของคนสมัยนั้นจึงน่าจะ “จืด” ไม่เผ็ดร้อนเหมือนทุกวันนี้
ส่วนมะละกอนั้น ดร.สุรีย์ บอกว่า เข้ามาประเทศไทย
หลัง “พริก” อีก

ทั้งนี้ ตามเอกสารของกระทรวงต่างประเทศโปรตุเกสได้ระบุชัดเจนว่า มะละกอมีถิ่นกำเนิดที่เทือกเขาแอนดีส แต่บางเอกสารบอกว่ามะละกอมาจากเม็กซิโก หรือหมู่เกาะอินเดียตะวันตก บ้างก็ว่ามะละกอมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลางบริเวณประเทศเม็กซิโกตอนใต้และคอสตาริกา
อีกเอกสารหนึ่งยืนยันว่าสเปนได้นำมะละกอมาจากฝั่งทะเลแคริบเบียนของปานามาและโคลัมเบีย เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๖๙ เอกสารของสเปนได้ให้รายละเอียดว่า ค็อนควีสทะดอร์ส หรือเหล่านักรบสเปนที่มีชัยเหนือเม็กซิโกและเปรู เป็นผู้นำมะละกอจากสเปนไปปลูกที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเรียกว่าเมลอน ซาโปเต้
ในช่วงปี พ.ศ. ๒๓๑๔ อันเป็นช่วงที่กรุงธนบุรี เป็นราชธานีได้มีรายงานของ นายลินโซเตน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวดัตช์ว่าคนโปรตุเกสได้นำมะละกอมาปลูกที่มะละกา จากนั้นจึงนำไป
ปลูกที่อินเดียส่วนอีกทางหนึ่งได้ขยายไปปลูกที่อินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย
สำหรับประเทศไทยนั้นคาดกันว่ามะละกอจะเข้ามาหลายทางอาจจะเข้ามาภาคใต้ หรือเข้ามาทางอ่าวไทยซึ่ง ดร.สุรีย์ชี้ว่า ดูตามหลักฐานต่างๆ แล้ว น่าจะเชื่อได้ว่ามะละกอจะเข้ามาประเทศไทยในช่วงต้นของกรุงรัตนโกสินทร์จึงน่าจะฟันธงได้ว่า คนสมัยอยุธยาขึ้นไป ไม่เคยได้ลิ้มรส”ส้มตำ” เลย !
จากข้อมูลตรงนี้ ทำให้เรารู้ขึ้นมาชัดเจนอย่างหนึ่งว่า”ตำบักหุ่ง” หรือ “ส้มตำ” ไม่ใช่อาหารดั้งเดิมของอีสานบ้านเราและไม่ได้เก่าแก่อย่างที่นึก

เมี่ยง

เมี่ยง

คนอีสานอาจมีเมนู “ตำส้ม” ของตัวเองอยู่ก่อนแล้วส้มบ้านเรา ก็คือเปรี้ยว ตำส้ม ก็คงหมายถึง ตำอะไรก็ได้ที่เปรี้ยวๆ เช่น ตำมะม่วง บักค้อ อยู่มาวันหนึ่งอาจมีคนลองฝานมะละกอดิบลงไปตำหรือคลุก ชิมดูแล้ว อาจจะเห็นว่าเข้าท่า ยิ่งเติมน้ำปลาแดก ลงไปยิ่ง “นัวมากขึ้น” สูตรก็คงติดตลาด จากนั้นก็คงแพร่หลาย แทรกเข้าไปเป็นหนึ่งในเมนูอาหารจานหลักของคนอีสาน ในที่สุด “ของนอก” ก็กลมกลืนกลายเป็นของถิ่นทุกวันนี้คนอีสานและตำบักหุ่ง รวมเป็นเนื้อเดียวกันจนแยกไม่ออกแยกไม่ออก จนหลายคนไม่เชื่อเอาเสียเลย ว่า ตำบักหุ่งที่แซ่บกันอีหลีนี้ เป็น “ของนอก”

ตำบักค้อ

ตำบักค้อ

มะละกอ และพริก ต่างเป็นของนอก แต่พอมาเจอปลาร้าปลาแดกบ้านเราเท่านั้นแหละ เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์และเข้ากันได้ดีมากๆ อีกอย่าง ความเห็นส่วนตัวของผู้รวบรวมข้อมูล อาจจะมาจากด้วยที่มะละกอที่นำเข้ามามันปลูกง่าย ขึ้นได้ทุกฤดูกาล ไม่เหมือน ตำส้ม ที่ต้องรอให้ผลไม้ออกตามฤดูกาล เลยกลายเป็นฮิตติดตลาด และนอกจากนั้นหลังๆยังพลิกแพลงเป็นส้มตำหลากหลายสูตร อย่างที่ทุกท่านเห็นในปัจจุบันนี้ เช่น ตำลาว ตำไทย ตำโคราช ตำมั่ว ตำป่า ตำด้องแด๊ง ตำถาด(นี่ก็เพิ่งจะมาฮิต) ตำปูปลาร้า ทำทะเล สารพัดตำตามไอเดียของแต่ละท้องถิ่นที่มีวัตถุดิบจะนำมาตำรวมกัน

ตำถาด

ตำถาด

และนั่นก็เป็นข้อมูลที่ทีมงานได้ไปหามาฝาก ถูกผิดประการใดก็รบกวนทุกท่านแสดงความคิดเห็นเพื่อนำไปแก้ไข หากเห็นว่ามีประโยชน์ ถูกใจก็อย่าลืมแชร์สาระดีๆนี้ให้เพื่อนๆได้อ่านกันด้วยเด้อครับเด้อ

ที่มา :Pantip.com , Wikipedia.org


2 ความเห็นที่มีต่อประวัติส้มตำ หรือ ตำบักหุ่ง อาหารอีสาน

มี 2 บทความลิงก์มาที่ประวัติส้มตำ หรือ ตำบักหุ่ง อาหารอีสาน

กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*