10 เรื่องที่คุณไม่เคยรู้ คู่มือเที่ยววัดบ้านไร่หลวงพ่อคูณ

วัดบ้านไร่

วิหารเทพวิทยาคม วัดบ้านไร่

แม้ว่านักบุญแห่งที่ราบสูงหรือ หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ จะลาจากโลกนี้ไปแล้ว แต่เชื่อว่าคำสอนและคุณความดีของท่านยังคงอยู่ในใจชาวไทยไปตราบนานเท่านาน และอีกหนึ่งสถานที่สำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตของท่านก็คือ วัดบ้านไร่ ที่ตอนนี้หลายคนคงอยากไปเที่ยวชมให้ได้สักครั้ง

วันนี้แอดมินจะพาไปย้อนรำลึกถึงคุณงามความดีของท่านผ่านการเที่ยวชมวัดบ้านไร่ สถานที่ที่หลวงพ่อคูณเคยจำวัดในฐานะเจ้าอาวาส นอกจากจะสวยงามอลังการแล้ว ยังสามารถท่องเที่ยวและเรียนรู้หลักคำสอนของท่านได้อีกมากมายหลายมิติ ถ้าพร้อมแล้วตามมาชม 10 ข้อน่ารู้เกี่ยวกับวัดบ้านไร่แห่งนี้กันเลย

1. วัดเก่าแก่ ตั้งแต่สมัย ร.5

ขอเริ่มต้นจากประวัติความเป็นมาของวัดบ้านไร่กันก่อน วัดบ้านไร่เดิมเป็นสำนักสงฆ์ที่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2436 ในช่วงรัชกาลที่ 5 โดยมีพระอาจารย์เชื่อม วิรโช เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกได้มีการก่อสร้างศาสนอาคารต่างๆ ขึ้น

ต่อมาในช่วงที่หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เป็นเจ้าอาวาส ได้มีการพัฒนาวัดมากที่สุด ด้วยมีผู้ศรัทธาจากทั่วประเทศได้ร่วมถวายวัตถุปัจจัยเป็นเงินมหาศาล หลวงพ่อคูณได้ก่อตั้งเป็นมูลนิธิหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เพื่อกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่างๆ เช่น การบูรณะวัด การสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น

2. สถานที่ตั้งปัจจุบัน

ปัจจุบันวัดบ้านไร่ (วัดหลวงพ่อคูณ) ตั้งอยู่ในตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา มีชื่อเสียงโด่งดังเนื่องจากหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เป็นพระเกจิชื่อดังที่มีผู้คนเคารพศรัทธามากมายทั่วประเทศ

ภาพจิตรกรรมหลวงพ่อคูณ

ปัจจุบันวัดบ้านไร่ (วัดหลวงพ่อคูณ) ตั้งอยู่ในตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา มีชื่อเสียงโด่งดังเนื่องจากหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เป็นพระเกจิชื่อดังที่มีผู้คนเคารพศรัทธามากมายทั่วประเทศ หลวงพ่อคูณเป็นพระชาวบ้านที่เข้าถึงมวลชนทุกระดับชั้น ตั้งแต่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน นักการเมืองไปจนถึงชาวบ้าน ด้วยท่านมีเมตตามหานิยม มีวิธีการสั่งสอนที่ตรงไปตรงมาง่ายแก่การเข้าใจ จากความศรัทธาเลื่อมใสในตัวหลวงพ่อคูณที่มากมายมหาศาลเช่นนี้เอง จึงทำให้วัดแห่งนี้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปด้วย

3. สถานที่สำคัญในวัด

ภายในวัดมีสิ่งปลูกสร้างสำคัญๆ อยู่หลายอาคาร ได้แก่ พระอุโบสถ พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ หอแก้ว หอระฆัง อาคารประชาสัมพันธ์ ศูนย์โอทอป (OTOP) และหอเทพวิทยาคม เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา (อาคารปริสุทธปัญญา)

4. หอเทพวิทยาคม อุทยานธรรมกลางบึง

สถานที่ที่โดดเด่นที่สุดในวัดแห่งนี้คงหนีไม่พ้น หอเทพวิทยาคม เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา (อาคารปริสุทธปัญญา) ที่นี่เป็นอุทยานธรรมกลางบึงน้ำขนาดใหญ่ของวัดบ้านไร่ เพิ่งสร้างเสร็จในปี 2554 ถือเป็นจุดเด่นสำคัญของวัดบ้านไร่ ลักษณะเป็นอาคารประติมากรรมช้าง ตั้งอยู่บนพื้นที่บึงน้ำขนาด 30 ไร่ เป็นอาคารสูง 5 ชั้น รวมชั้นใต้ดิน (ชั้นบาดาล) และชั้นดาดฟ้า อาคารตั้งอยู่บนลานทรงกลมมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 65 เมตร เรียกว่าหอเทพวิทยาคมเป็นพุทธสถานในนิกายเถรวาทที่มีชนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ลานอธิฐาน

5. แนวคิดการออกแบบหอเทพวิทยาคม

ภายในหอเทพวิทยาคมถูกออกแบบให้เป็น มหาวิหารแห่งพระไตรปิฎก เป็นดินแดนที่รวบรวมพุทธประวัติ พระวินัย และพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงไว้ทั้งหมด เพื่อจรรโลงพระศาสนาให้เป็นไปตามบัญญัติของพระพุทธองค์ ที่นี่จึงเป็นสถานที่แห่งแรกและแห่งเดียวในโลกที่นำเอาพระไตรปิฎกมาแสดงและให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ หอเทพวิทยาคมยังประกอบขึ้นด้วยโมเสกมากกว่า 20 ล้านชิ้น และใช้แรงงานชาวบ้านเป็นผู้ติดอย่างละเอียดด้วยจิตศรัทธาและสมาธิ เพราะ 1 วัน 1 คน สามารถติดเซรามิกโมเสกชิ้นเล็กที่สุดเท่าเม็ดถั่วเขียวได้เพียงไม่เกิน 1 ตารางเมตร

เซรามิกโมเสคกว่า 20 ล้านชิ้น

6. สิ่งที่น่าสนใจในหอเทพฯ

อย่างที่บอกว่าหอเทพวิทยาคมเป็นอาคารสูง 5 ชั้น ตั้งอยู่กลางบึงน้ำ มีความกว้าง 60 เมตร ยาว 60 เมตร เป็นปริมณฑล อาคารสิ่งก่อสร้างองค์กลางมีขนาดกว้าง 30 เมตร ยาว 30 เมตร ความสูง 42 เมตร แต่ละชั้นประกอบไปด้วย ชั้นใต้ดิน : เป็นส่วนจัดแสดงเหมือนโลกใต้บาดาลอันศักดิ์สิทธิ์ ผู้เข้าชมสามารถรับของที่ระลึกจากเงินทำบุญที่ได้บริจาคไป ซุ้มของที่ระลึกแบ่งเป็น 2 โซน คือ โซนบริเวณโถงกลาง เรียกว่า ซุ้มของที่ระลึก เป็นการบูชาลูกปัดสีต่างๆ โดยเลือกเสี่ยงทายตามสถานะหรืออาชีพการงานของบุคคลนั้นๆ และถัดมาคือโซนเพชร 7 สี มณี 7 แสง ประกอบไปด้วย เจ็ดสิ่งนำโชคในโลกใต้บาดาล อันมีความหมายมงคลตามความเชื่อ

เพชรเจ็ดสีมณีเจ็ดแสง

 

ชั้นบนดิน ชั้นที่ 1 : จัดแสดงภาพพุทธประวัติและต้นโพธิ์อธิษฐาน มีความสวยงามในเชิงสัญญะ แต่ละภาพบอกเล่าถึงความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพระพุทธศาสนา รวมถึงเรื่องราวต่างๆ ของพุทธประวัติ ภาพพุทธประวัติและต้นโพธิ์อธิษฐาน

ชั้นบนดิน ชั้นที่ 2 : จัดแสดงเรื่องราวของพระวินัยปิฎก เเละ วิวัฒนาการพระพุทธศาสนา หลังจากพระพุทธ เจ้า เสด็จดับขรรธ์ ปรินิพพาน อาทิ ศีล 227 ข้อ เเละ เรื่องราวของนิกายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการตีความพระวินัยเเละพระธรรมคำสอน ในหลากหลายเเง่มุม

โถงแห่งธรรม

ส่วนพื้นที่สงบเงียบตรงกลางนั้นเป็น พื้นที่โล่งให้สาธุชนได้อธิฐานจิต เพื่อเป็นกุศลเเก่ตนเองส่วนห้อง บริเวณ เศียรช้างเป็นห้อง พระราชาผู้ทรงธรรม อันจะเนรมิตรให้เป็นนิทรรศการเพื่อเทิดพระเกรียติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของพวกเรา ซึ่งท่านคือ ผู้นำเเนวทางเเห่งอริยสัจ 4 มาดำเนินเพือให้ประชาชนชาวไทยได้พ้นทุกข์ อันจะได้เห็นจาก โครงการในพระราชดำริ ที่เกิดขึ้นมากมายเพื่อให้ปวงชนได้พ้นจาก ความจน มาเป็นความ “พอ”

นิทรรศการพระราชาผู้ทรงธรรม

ชั้นบนดิน ชั้นที่ 3 : จัดแสดงเรื่องราวของพระธรรมปิฎก พระธรรมขันธ์ จิตรกรรมวิจิตร บนเพดานชั้น 3 เป็นใบโพธิ์มากกว่า 84,000 ใบ นี้เพื่อสอดเเทรกคำสอนเรื่องของความเพียร เรียนรู้พระธรรม เเละยังเป็นเครื่องเตือนใจพุทธศาสนิกชน

พระธรรมปิฎก พระธรรมขันธ์

ชั้นดาดฟ้า : จัดแสดงรูปปั้นหลวงพ่อคูณและสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความสูงรวม 42 เมตร

พระธรรมปิฎก พระธรรมขันธ์

7. พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ

สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในวัดบ้านไร่ที่ไม่ควรพลาดชมคือ พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ตั้งอยู่ที่ศาลาการเปรียญ(หลังเดิม) จัดสร้างขึ้นเพื่อนำเสนอเรื่องราวชีวประวัติของหลวงพ่อคูณ ตั้งแต่เยาว์วัย การอุปสมบทเป็นพระภิกษุ วัตรปฏิบัติในสมณเพศที่ถือสันโดษและเป็นพระนักพัฒนา แรงศรัทธามหาชนที่มีต่อหลวงพ่อคูณ รวมทั้งการบริจาคทานจำนวนมหาศาล เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ให้แก่ประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศและบางส่วนในต่างประเทศ

8. สิ่งที่น่าสนใจในพิพิธภัณฑ์

ภายในพิพิธภัณฑ์ได้สะท้อนเรื่องราวต่างๆ ของหลวงพ่อคูณ ผ่านภาพจิตรกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้น บอกเล่าภาพชีวิตในอดีต สิ่งของเครื่องใช้จำนวนมากมาย ซึ่งผู้มีจิตศรัทธานำมาถวาย อัฐบริขารและเครื่องใช้จำเป็นในการครองสมณเพศ อีกทั้งยังจัดแสดงภาพเสมือนจริงที่จำลองบรรยากาศการออกธุดงค์ของหลวงพ่อคูณ แสดงให้เห็นถึงบารมีธรรมอันยิ่งใหญ่ มีประติมากรรมที่สื่อถึงผลบุญของการให้ทานอันเป็นวัตรปฏิบัติสำคัญของหลวงพ่อคูณ มหาทานของหลวงพ่อคูณที่ได้บริจาคเงินจำนวนมหาศาล เพื่อสาธารณประโยชน์ หลวงพ่อคูณยังได้บริจาคร่างกายเพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษา แสดงให้เห็นถึงความแน่วแน่ในวิถีสันโดษอันเป็นวัตรปฏิบัติที่หลวงพ่อคูณได้ยึดถือมาตลอด

พญานาค 7 เศียร

9. มีส่วนจัดแสดงมากถึง 11 โซน

พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ แบ่งเป็น 2 ชั้น 11 โซน ได้แก่

– โซน 1 ศรัทธามหาชน : จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อคูณท่านั่งยองๆ ขนาดเท่าจริง มีภาพประชาชนจากภาคต่างๆ มากราบนมัสการ

– โซน 2 ภิกษุสมถะแห่งดินแดนอีสาน : จัดแสดงสิ่งของจำลองบรรยากาศเหมือนห้องนอนเดิมของหลวงพ่อคูณ

– โซน 3 กำเนิดผู้มีบุญ : จัดแสดงหุ่นจำลองตอนโยมแม่ฝันเห็นดวงแก้ว อันเป็นนิมิตหมายอันดีของผู้มีบุญที่กำลังจะถือกำเนิด

– โซน 4 ตั้งจิตช่วยคนพ้นทุกข์ : ภาพจิตรกรรมหลวงพ่อคูณอุปสมบทเป็นพระภิกษุ และตั้งปณิธานช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์

– โซน 5 ออกธุดงค์ : หุ่นจำลองย่อส่วนประกอบเทคนิคภาพเคลื่อนไหวและแสงเสียง จำลองเหตุการณ์เทศนาโปรดสัมภเวสี

– โซน 6 พัฒนาวัดบ้านไร่ : จัดแสดงหุ่นจำลองย่อส่วน 4 เหตุการณ์ ได้แก่ หลวงพ่อคูณสร้างโบสถ์ไม้เพื่อใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจของพระลูกวัด, หลวงพ่อคูณนำชาวบ้านขุดสระน้ำเพื่อเป็นที่เก็บน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง, หลวงพ่อคูณปีนขึ้นเจิมป้ายโรงเรียนวัดบ้านไร่เพื่อความเป็นสิริมงคล และหลวงพ่อคูณใช้ยอดสากตำมวลสารศักดิ์สิทธิ์ นำมาสร้างพระเครื่องให้ศิษยานุศิษย์ได้บูชา

– โซน 7 ทำบุญกับพระเจ้าอยู่หัว : ประมวลภาพพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์

– โซน 8 มรดกทาน มรดกธรรม : จัดแสดงรูปหล่อสำริดหลวงพ่อคูณท่านั่งวิปัสสนา จัดแสดงวัตถุอันเป็นที่ระลึกถึงคุณูปการ เกียรติคุณของหลวงพ่อคูณที่ได้รับการเชิดชูยกย่องจากหน่วยงาน สถาบันและองค์กรต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งข้อความในพินัยกรรม (มรณานุสติ)

– โซน 9 ทานบารมีทวีคูณ : แสดงงานกราฟิกบนประติมากรรมต้นไม้แห่งทานบารมี

– โซน 10 เครื่องยึดเหนี่ยวใจใฝ่ทำดี : จัดแสดงวัตถุมงคลรุ่นต่างๆ

– โซน 11 ให้แล้วรวย : จัดแสดงวีดิทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับการทำบุญทำทาน ซึ่งเป็นภาพที่พบเห็นคุ้นตาในวิถีชีวิตของคนไทยเมื่อไปทำบุญ สอดแทรกคำสอนของหลวงพ่อคูณที่พูดถึงการทำบุญมาเป็นประโยคปิดท้ายในแต่ละช่วง

10. การเดินทาง

จากกรุงเทพฯ ใช้ถนนพหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข 1) มุ่งหน้าสู่จังหวัดสระบุรี ประมาณ 75 กิโลเมตร เมื่อถึงตัวเมืองสระบุรีแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) จากนั้นมุ่งหน้าสู่จังหวัดนครราชสีมา ประมาณ 89 กิโลเมตร จะถึงเขื่อนลำตะคอง ขับตรงไปอีกประมาณ 14 กิโลเมตร จะพบกับป้ายบอกทางถนนสาย 201 ให้เลี้ยวซ้ายไปทางถนนสาย 201 ไปตามทางที่จะไปจังหวัดชัยภูมิ จากนั้นขับตรงไปมุ่งหน้าสู่อำเภอด่านขุนทด พอถึงอำเภอด่านขุนทดให้ท่านขับตรงไปอีก จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสาย 2217 จากนั้นขับตรงไป ประมาณ 11 กิโลเมตร ก็จะถึง วัดบ้านไร่

แผนที่เดินทางไปวัดบ้านไร่

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, http://watbaanrai.com/

เรียบเรียง: อีสานร้อยแปดดอทคอม


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*