เดือนสาม – บุญข้าวจี่

ประเพณีเดือนสาม

ก่อนหน้านี้อีสานร้อยแปดเฮาได้เคยเสนอบทความเกี่ยวกับประเพณีบุญข้าวจี่ไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่เรื่องเก่าเล่าใหม่ มาในครั้งนี้เราจะมาพูดถึงในแง่ของ “ฮีตสิบสอง คองสิบสี่” เพื่อรวมข้อมูลให้ครบสิบสิงฮีตนั่นเองครับ
ในวันเพ็ญเดือนสามให้ทำบุญข้าวจี่และบุญมาฆบูชา เริ่มพิธีทำบุญข้าวจี่ในตอนเช้า โดยใช้ข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อน ขนาดเท่ากำปั้นแล้วใช้ไม้ไผ่ที่เหลากลมๆ เสียบตรงกลาง ตามยาวของปั้นข้าวเหนียวแล้วนำไปปิ้งพอเกรียมแล้วชุบด้วยไข่ ย่างไฟจนสุก แล้วใส่ภาชนะไปตั้งใว้ในศาลาวัด นิมนต์พระมาให้ศีลให้พร แล้วเอาข้าวจี่ใส่บาตรนำถวายแด่พระสงฆ์ พร้อมด้วยอาหารอื่นๆ เมื่อพระฉันเสร็จแล้วมีการแสดงพระธรรมเทศนา ตอนเย็นมีการเวียนเทียนมาฆบูชาฟังเทศน์ที่วัด

ฮีตที่สาม

ฮีตที่สาม

มูลเหตุที่ทำให้เกิดประเพณีนี้ขึ้น
เนื่องจากในเดือนสาม อากาศของภูมิภาคอีสาน กำลังอยู่ในฤดูหนาว ในตอนเช้าผู้คนจะใช้ฟืนก่อไฟผิงแก้หนาวเมื่อฟืนถูกไฟเผาเป็นถ่าน ชาวบ้านจะเอาข้าวเหนียวมาปั้นเป็นก้อนกลม โรยเกลือวางไว้บนเตาไฟ เราเรียกว่า ข้าวจี่
มีเรื่องเล่าในพระธรรมบทว่า มีหญิงคนหนึ่งชื่อนางปุณณทาสี เป็นคนยากจนต้องไปเป็นทาสีรับใช้ของเศรษฐีคนหนึ่งในกรุงราชคฤห์ วันหนึ่งเศรษฐีให้นางไปซ้อมข้าว นางซ้อมตลอดวันก็ไม่หมด ตกตอนเย็นนางก็จุดไฟซ้อมต่อไป ได้รับความเหน็ดเหนื่อยเป็นอันมาก พอถึงตอนเช้ามานางก็เอารำทำเป็นแป้งจี่ เผาไฟให้สุกแล้วใส่ไว้ในผ้าของตนเดินไปตักน้ำปรารถนาจะบริโภคด้วยตนเอง ครั้นถึงกลางทางได้พบพระศาสดาเกิดความเลื่อมใส คิดว่าเราเป็นคนยากจนในชาตินี้ ก็เพราะมิได้ทำบุญไว้แต่ปางก่อนและชาตินี้เราก็ยังไม่เคยทำบุญเลย เมื่อคิดเช่นนั้นแล้วนางก็น้อมเอาข้าวแป้งจี่นั้นเข้าไปถวายแด่พระศาสดา พระองค์ทรงรับแล้ว และนางคิดอีกว่าพระศาสดาคงไม่เสวย พราะอาหารเศร้าหมอง เมื่อพระศาสดาทรงทราบวารจิตของนางเช่นนั้น พระองค์จึงประทับเสวยต่อหน้าของนาง ครั้นเสวยเสร็จแล้วก็ตรัสอนุโมทนากถาโปรดนางจนสำเร็จโสดาปัตติผล เป็นอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา กาลํ กตฺวา ครั้นนางทำกาลกิริยาแล้วก็ได้ไปเกิดบนดาวดึงส์สวรรค์เสวยทิพย์สมบัติ อยู่ในวิมานทองอันผุดผ่องโสภา มีนางฟ้าแวดล้อมเป็นยศบริวาร ดังนั้น ชาวนาเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วจึงพากันทำบุญข้าวจี่ เพราะถือว่าการถวายข้าวจี่มีอานิสงฆ์มาก

งานประเพณีบุญเดือนสาม

งานประเพณีบุญเดือนสาม

คำบูชาพระวันมาฆบูชา

อชฺชยํ มาฆปุณฺณมี สมฺปตฺตา มาฆนกฺขนฺเตน ปุณฺณจนฺโท ยุตฺโต ตถาคโต อรหฺ สมฺมาสมฺพุทฺโธ จาตุรงฺคิเก สาวกสนฺนิปาเต โอวาทปาติโมกฺขํ อุทฺทิสิ ตทาหิ อฑฺฒเตรสานิ ภิกฺขุสตานิ สพฺเพสํเยว ขีณาสวานํ สพฺเพเต เอหิภิกฺขุกา สพฺเพปิ เต อนามนฺติตาว ภควโต สนฺติกํ อาคตา เวฬุวเน กลนฺทกนิวาเป
มาฆปุณฺณมิยํ วฑฺฒมานกฉายาย ตสฺมิญฺจิ สนฺนิปาเต ภควา วิสุทฺธุโปสถํ อกาสิ อยํ อมฺหากํ ภควโต เอโกเยว สาวกสันฺนิปาโต อโหสิ จาตุรงฺคิโก อฑฺฒเตรสานิ ภิกฺขุสตานิ สพฺเพสํเยว ขีณาสวานํ มยนฺทานิ อิมํ มาฆปุณฺณมี นกฺขตฺตสมยํ ตกฺกาลสทิสํ สมฺปตุตา จิรปรินิพฺพุฒมฺปิ ตํ ภควนฺตํ อนุสฺสรมานา อิมสฺมึ ตสฺส ภควโต สกฺขิภูเต เจติเย อิเมหิ ทีปธูปปุปฺผาทิสกฺกาเรหิ ตํ ภควนฺตํ ตานิ จ อฑฺฒเตรสานิ ภิกฺขุสตานิ อภิปูชยาม สาธุ โน ภนฺเต ภควา สาวกสงฺโฆ สุจิรปรินิพฺพฺโตปิ คุเณหิ ธรมาโน อิเม สกฺกาเร ทุคฺคตปณฺณาการภูเต ปฏิคฺคณฺหาตุ อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*