ภาษาอีสานว่าด้วยเรื่องของ “สี”

สี ภาษาอีสาน

ภาษาอีสานนับว่าเป็นภาษาที่มีความละเอียดมากๆในเรื่องของการอธิบายขนาด ปรีมาณ ความรู้สึก ลักษณะของนาม กริยาที่กำลังพูดถึง หรือว่าง่ายๆก็คือ “คำวิเศษ” ในภาษาอีสานนั้นถูกสร้างสรรให้มีความหมายที่หลากหลาย ลึกซึ้ง ฟังดูแล้วมีความน่ารัก คนอีสานแท้ๆจะเข้าใจเป็นอย่างดี

วันนี้เราจะมาพูดถึง “คำวิเศษ” ในภาษาอีสานที่ว่าด้วยเรื่องของสี มาดูกันว่าภาษาอีสานจะอธิบายคำนามที่เกี่ยวกับ “สี” ได้ดีขนาดไหน ตัวอย่างต่อไปนี้คือคำที่แอดมินเคยได้ยินได้ฟัง และ รวบรวมมาจากผู้เฒ่าผู้แก่ หากมีข้อมูลเพิ่มเติมสามารถแสดงความคิดเห็น เพื่อให้เราอัพเดทข้อมูล จะเป็นพระคุณอย่างสูง

สีแดง

  • “แดงจืงคืง” , แดงจื่งขื่ง หรือ แดงจื่งคื่ง ถึง แดงระเรื่อ เช่น สีแดงของเลือด จะมีความแดงและเข้มด้วย
  • “แดงจายวาย” หมายถึง แดงสด เช่น สีแดงของแตงโม ผ่าแตงโมออกมา ถ้าแดงมากๆ ภาษาอีสานเรียก “แดงจายวาย”
  • “แดงอ่องต่อง” หมายถึง แดงอมชมพู เช่น แก้มของเด็กสาว มักเคยได้ยินแซวกันว่า แก้มเจ้าคือแดงอ่องต่องแท้
  • “แดงเป๊ดเล๊ด” หมายถึง แดงแป๊ด แดงแบบบาดตาดใจ แดงสะดุดตา เช่น เสื้อสีแดงเป๊ดเล๊ด หมายถึง เสื้อสีแดงแป๊ด
  • “แดงฮูนฮูน” หมายถึง ลักษณะของแสงไฟสี่แดงๆ ดวงเล็กๆ ที่อยู่ในที่มืด มองไปมันจะเป็นสีแดงฮูนๆ

สีเหลือง

  • “เหลืองอุ่ยหุ่ย” หมายถึงเหลืองงอม สีเหลืองทั่วๆไป หลืองสุก เหลืองอร่ามตา ให้ความรู้สึกแบบเต็มที่ เหลืองพอแล้ว เช่น กล้วยสุก สีเหลืองอุ่ยหุ่ย หมายถึง กล้วยสุกสีเหลืองน่ากิน
  • “เหลืองอ่อยห่อย” หมายถึง เหลืองอ่อนๆ หรือ เหลืองอ๋อย ให้ความรู้สึกแบบยังไม่เต็มที่ เช่นนกขมิ้น สีเหลืองอ่อยห่อย หมายถึง นกขมิ้น สีเหลืองอ๋อย (หากคนพูดรู้สึกว่าเหลืองเต็มที่พอแล้ว ก็อาจบอกว่า นกขมิ้นเหลืองอุ่ยหุ่ย )
  • “เหลืออ่ายห่าย” หมายถึง เหลืองอร่าม ที่ให้ความรู้สึกแบบสุดๆ ยิ่งกว่าเหลืองอุ่ยหุ่ย เช่น ดอกคูนบานเต็มต้น เหลืองอ่ายห่าย หมายถึงดอกคูนบานเต็มต้น เหลืองอร่าม ทองคำเต็มหีบ เหลืองอ่ายห่าย หมายถึง ทองคำเต็มหีบ เหลืองอร่าม

สีขาว

  • “ขาวจูนพูน” หมายถึง ขาวเนียน ขาวสบายตา เช่น ผิวขาวจูนพูน
  • “ขาวจากพาก” หมายถึง ขาวไปหมด กระจายไปทั่วบริเวณ เช่น ถ้ามีอะไรขาวๆทั่วทั้งบริเวณ คนอีสานก็จะทักด้วยภาษาอีสานว่า ขาวจากพาก
  • “ขาวจ่านผ่าน” หมายถึง ขาวละลานตา
  • “ขาวออกลอก” หมายถึง  ขาววอกแบบมีขลุยๆ
  • “ขาวโอกโลก” หมายถึง ขาววอก
  • “ขาวโจนโพน” หมายถึง ขาววอก , ขาวโพลน

สีดำ

  • “ดำปื้อปื้อ” หมายถึง ดำเมี่ยม
  • “ดำปี้ปี้” หมายถึง ดำเมี่ยม ระดับความดำน้อยกว่าดำปื้อๆ
  • “ดำปึ๊ด” หมายถึง ดำมาก ดำไปหมดเลย
  • “ดำปิ๊ด” หมายถึง ดำมากเหมือนกัน แต่ก็ยังน้อยกว่าดำปิ๊ด
  • “ดำขี่หมี่” หมายถึง ดำจริงๆ ดำแบบแห้งๆ

สีเขียว

  • “เขียวลึนทือ” หมายถึง เขียวขจี เช่น ผักเขียวขจี ถ้าเขียวมากๆ ภาษาอีสานจะพูดว่า เขียวลึนทื่อ

นอกจากนี้ คำว่า “สี” ในภาษาอีสานสามารถนำไปวางก่อนคำกริยา เพื่อแบ่งระดับของคำกริยานั้นได้ด้วย เช่น “เมื่อย” แปลว่า “เหนื่อย”  ลองเอาคำว่า “สี” มาวางด้านหน้า กลายเป็น “สีเมื่อยๆ” หมายถึง อาการเมื่อย แต่ก็ยังเมื่อยไม่มาก

  • สีหิวๆ (หิว แต่ก็ยังไม่หิวมาก)
  • สีเมื่อยๆ (เหนื่อย แต่ก็ยังไม่เหนื่อยมาก ยังพอไหว)
  • สีคร้านๆ (ขี้เกียจ แต่ก็ยังไม่มาก)
  • สีครึ้มๆ (ฟ้าครึ้ม ฟ้ากำลังจะครึ้ม)
  • สีฮ้อนๆ (กำลังเริ่มร้อน)
  • สีหนาวๆ (อาการหนาวในระดับเริ่มต้น)

เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าในแต่ละบริบท ภาษาอีสานจะมีความละเอียดมากๆ จากความรู้สึกของผู้เขียนเอง ที่ฟังภาษาอีสาน และ พูดภาษาอีสาน มีความงึด(อัศจรรย์ใจ)ที่ภาษามีความสวยงาม และ ละเอียดขนาดนี้ ท่านผู้รู้ที่มีความลึกซึ้งในภาษาที่อ่านบทความนี้ หากมีคำแนะนำในภาษาอีสานตรงไหน สามารถแสดงความคิดเห็น แนะนำเข้ามาจักเป็นพระคุณอย่างสูง
ถ้ามีข้อมูลใหม่ๆ ทีมงานอีสานร้อยแปดจะมาอัพเดทให้อ่านกันอีกเช่นเคย


1 ความเห็นที่มีต่อภาษาอีสานว่าด้วยเรื่องของ “สี”

กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*