ตำนาน”โค้งร้อยศพ” ณ วัดป่าคำหัวช้าง จ.ขอนแก่น

ช้างแก้บน ณ วัดป่าคำหัวช้าง

หากเพื่อนๆท่านใดที่เคยนั่งรถผ่านถนนมิตรภาพ เส้นทางระหว่างจังหวัดขอนแก่นไปยังจังหวัดอุดรธานี คงจะสังเกตุเห็นสถานที่แห่งนี้ เป็นจุดที่โค้งน่ากลัวที่สุดของเส้นทางนี้เลยก็ว่าได้
ออกจากตัวเมืองขอนแก่น 24 กิโลเมตร ถ้าเราขับมาจากขอนแก่น จะสังเกตเก็นมีช้างแก้บน วางเรียงต่อกันยาวเกือบ 400 เมตร จนสุดโค้งอยู่ทางขวามือของเรา ถ้าจะนับจำนวณ ผมคำนวณด้วยสายตาคร่าวๆแล้วน่าจะไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นตัว และหลายๆคนคงจะสงสัยเหมือนกัน ว่าทำไมถึงมีช้างมาแก้บนมากมายถึงขนาดนั้น และถ้าสังเกตุและ นอกจากจุดเด่นที่มีพระพุทธยืนปางประทานพรและข้างหน้ามีช้างหมอบแล้ว ยังสังเกตุว่ามีศาลปู่อยู่ใกล้ๆกันอีกด้วย ผมเองผ่านเส้นทางนี้ก็บ่อยอยู่เหมือนกัน ครั้งนี้มีโอกาสได้แวะกราบพระขอพร และหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเล่าที่นี่มาฝากครับ

“ช้างแก้บน” เป็นภาพหนึ่งที่คุ้นตาสำหรับผู้เดินทางไปกราบไหว้ขอพรพระ และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ แต่ช้างแก้บนที่วัดป่าคำหัวช้าง ต.ม่วงหวาน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ซึ่งตั้งอยู่ถนนสายมิตรภาพ ช่วงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๒๘ ก่อนถึงเขื่อนอุบลรัตน์จะสะดุดตากับรูปปั้นช้างหลากสีสัน รูปทรง ขนาดต่างๆ วางเรียงยาวกว่า ๘๐๐ เมตร โดยประมาณน่าจะไม่ต่ำกว่า ๔-๕ หมื่นตัว
ช้างแก้บน

พระศิริวัฒน์ ถาวรธมฺโม (อายุ๖๐ ปี พรรษาที่ ๒๖) เจ้าอาวาสวัดป่าคำหัวช้าง เล่าให้ฟังว่า ที่มาของช้างแก้บนนั้น มาจากความศรัทธาของคนที่มาขอพร บนบานศาลกล่าวกับปู่คำหัวช้างซึ่งเป็นช้างศึกในอดีต แล้วให้ได้ในสิ่งที่มุ่งหวัง และใครที่สมความปรารถนาก็จะนำช้างรูปปั้นขนาดต่างๆ มาแก้บน
20150519_165159
ตามตำนานเล่าว่า ในอดีตที่ตั้งของวัดเป็นเส้นทางเดินของกองทัพไปรบที่ประเทศลาว ทุกครั้งที่ออกหรือกลับจากรบกองทัพจะมาพักที่บริเวณวัด เพื่อให้ไพร่พล ช้างศึก ม้าศึก ได้แวะพักกินน้ำยังหนองน้ำที่อยู่ใกล้ๆ วัด ซึ่งปัจจุบันตื้นเขินไม่เหลือสภาพเป็นหนองน้ำลึกเหมือนในอดีต มีอยู่ครั้งหนึ่งช้างศึกเชือกหนึ่งได้พลัดตกลงไปในหนองน้ำซึ่งลึกมาก พยายามเท่าไรก็ไม่สามารถดึงช้างเชือกดังกล่าวขึ้นจากหนองน้ำได้ในที่สุดจึงต้องปล่อยให้ช้างจมน้ำตาย
20150519_165208
ภายหลังได้มีการพบโครงกระดูก จึงมีการปั้นรูปช้างขึ้นเพื่อระลึกถึงช้างเชือกดังกล่าว แต่ด้วยเหตุที่เป็นวัดจึงสร้างพระพุทธยืนปางประทานพรไว้หน้าช้างที่หมอบอยู่ ไม่ใช่พระปางป่าเลไลย์ที่มีช้างหมอบอยู่คู่กับลิง และเมื่อครั้งที่ปั้นรูปช้างขนาดเท่าตัวจริงหน้าวัด ปรากฏว่ามีเจ้าที่มาเข้าร่างผู้ที่มาทำบุญที่วัด โดยบอกว่าเมื่อปั้นรูปช้างเสร็จให้ตั้งชื่อช้างด้วย ทั้งนี้เจ้าที่ที่มาเข้าร่างทรงนั้นให้ตั้งชื่อว่า “แก้วกระดิ่งทอง” พร้อมกับบอกด้วยว่า “แก้วกระดิ่งทองเป็นชื่อช้างศึกของน้องสาวย่าโมแห่งเมืองโคราช และเป็นช้างเชือกเดียวกับที่พลัดตกลงไปตายในหนองน้ำ”
20150519_165704
ส่วนรูปปั้นชายแก่ในศาลปู่คำหัวช้างนั้น เป็นเจ้าที่ทางโค้ง ซึ่งในอดีตที่ถนนยังเป็น ๒ เลนนั้น ได้เกิดอุบัติเหตุรถชนคนตายจำนวนมาก ถึงกับมีการเรียกว่า “โค้งร้อยศพ” จึงมีการแก้เคล็ดด้วยการสร้างรูปปั้นชายแก่ พร้อมกับย้ายที่ตั้งศาลเดิมมาอยู่รวมกับศาลปู่คำหัวช้าง และเมื่อมีการขยายถนนเป็น ๔ เลน จึงปิดตำนานโค้งร้อยศพมาจนถึงทุกวันนี้
20150519_165217
ประวัติอย่างหนึ่งที่น่าสนใจของวัดแห่งนี้ คือ เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว หรือก่อน พ.ศ.๒๕๓๕ วัดแห่งนี้เคยรุ่งเรืองชนิดที่เรียกว่า มีพระเณรมาบวชเรียนทุกปีประมาณ ๑๐๐ รูป แต่เมื่อมีการยกธรณีสงฆ์ให้สร้างโรงเรียนจำนวนพระเณรก็ลดลงตามลำดับ ในที่สุดวัดแห่งนี้เกือบจะกลายสภาพเป็นวัดร้าง มีพระมาเป็นเจ้าอาวาสได้ไม่นานก็ย้ายเป็นเจ้าอาวาสวัดอื่น ปัจจุบันนี้มีพระศิริวัฒน์จำวัตรอยู่เพียงรูปเดียวเท่านั้น พระศิริวัฒน์ บอกว่า การยกธรณีสงฆ์ให้สร้างโรงเรียนถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ปรากฏว่าเมื่อยกธรณีสงฆ์ให้สร้างโรงเรียนวัดกลับอยู่หลังโรงเรียนชนิดที่เรียกว่าโรงเรียนปิดประตูทางเข้าวัด หน้าวัดอยู่หลังโรงเรียน ถ้าหากอยู่ในแนวเดียวกัน คือ ทั้งวัดทั้งโรงเรียนก็ติดถนนป่านี้วัดคงเจริญกว่าที่เป็นอยู่ เมื่อมีการขยายถนนมิตรภาพเป็น ๔ ช่องทาง ทำให้วัดได้กลับมาอยู่ติดถนนอีกครั้ง ปัญหาไม่ได้อยู่แค่นั้น สิ่งหนึ่งที่ตามมา คือ หลังวัดกลับไปติดถนน ต้องกลับทิศวัดใหม่โดยเปลี่ยนหลังวัดให้เป็นหน้าวัด ทั้งนี้ ต้องมีการรื้อสิ่งปลูกสร้างบางส่วน ตัดต้นไม้บางต้นเพื่อสร้างซุ้มประตู และถนนเข้าวัด ทั้งๆ ที่มีความพยายามที่พัฒนาวัดแต่ก็มิวายถูกนักการเมืองท้องถิ่นรายหนึ่งร้องเรียนขับไล่ให้ย้ายวัด แต่พระผู้ใหญ่ให้ความเมตตา และชาวบ้านให้ความร่วมมือการสร้างวัดจึงดำเนินไปด้วยดี
20150519_170325
อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่มีคนเห็นและอยากได้ประโยชน์จากการขายช้างและเครื่องแก้บน รวมทั้งตั้งร้านขายของ หลายต่อหลายครั้งที่พระศิริวัฒน์ถูกข่มขู่ต่างๆ นานา แม้ว่าท่านจะมีลูกศิษย์ที่เป็นนายทหาร และตำรวจใหญ่หลายคน แต่ท่านไม่เคยปริปากเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวท่าน และขอให้มาช่วยเลยสักครั้ง ทุกวันนี้ท่านยึดหลักที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” โดยได้ติดกล้องวงจรปิด สัญญาณกันขโมย ไฟฟ้าส่องสว่าง รวมทั้งหวอที่มีเสียงดังไว้เปิดกรณีมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน แต่ท่านไม่เคยเปิดเลยสักครั้งเดียว
20150519_165930

คติธรรมจากพระบ้านนอก

“ตั้งทำไมราคาค่าเผาศพ ลองทวนทบเงินสร้างนี้มีจากไหน
ล้วนเงินญาติเงินโยมถมลงไป พูดเสียใหม่ตามศรัทธายังน่าฟัง“

นี่คือข้อคิดของของพระศิริวัฒน์เรื่องการเก็บเงินค่าเผาศพของวัดต่างๆ ซึ่งครั้งหนึ่งนโยบายเผาฟรีถึงกับทำให้ท่านถูกกรรมการวัดแห่งหนึ่งขับไล่จากวัดเดิม เพราะไปขวางทางเรื่องเก็บเงินค่าศาลา และค่าเมรุเผาศพ

พร้อมกันนี้ พระศิริวัฒน์ ยังบอกว่า ศาลา เมรุเผาศพ และถาวรวัตถุภายในวัดล้วนมาจากเงินของญาติโยมทั้งสิ้น ที่เป็นเงินของพระหรือวัดลงทุนสร้างเองโดยไม่ต้องบอกบุญญาติโยมนั้นในประเทศนี้ไม่มี เมื่อเขาตายกลับมาเก็บเงินญาติโยม ส่วนพระตายเผาฟรีทั้งๆ ที่ไม่ได้ออกปัจจัยเลยสักบาท ที่สำคัญและที่ถูกต้อง คือ งานศพเมื่อเขานิมนต์พระไปสวดศพต้องไม่รับซองปัจจัยที่ญาติโยมถวาย เพราะเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของพระ ทุกๆ วันข้าวที่พระฉันก็มาจากญาติโยมวันละ ๒ มื้อ อยากจะถามพระบ้างว่า เคยทำอะไรให้ญาติโยมตามหน้าที่ของพระบ้างหรือไม่ เป็นสิ่งที่พระต้องคิด

“คนมาวัดไม่ได้เห็นพระสงฆ์ไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะวัดแห่งนี้มีพระเพียงรูปเดียว แต่เมื่อญาติโยมได้เห็นความสะอาด ความเรียบร้อย ภาพที่เจริญหู เจริญตา ได้อ่านคติธรรมเล็กๆ น้อย ที่เขียนและติดไว้ตามต้นไม้ เท่านี้ก็เป็นมงคลแล้ว อย่าคาดหวังว่าญาติโยมที่แวะไหว้พระระหว่างเดินทางจะได้ธรรมะอะไรมากกว่าการเข้าวัดปฏิบัติธรรมตรงๆ” พระศิริวัฒน์ พูดไว้อย่างน่าคิด

เรื่องเล่าโดย : ไตรเทพ ไกรงู
ที่มา : คมชัดลึกออนไลน์ /ศาสนา-พระเครื่อง : คอลัมน์เด็ด /วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน 2555
URL : www.komchadluek.net/detail/20120601/131722/ช้างแก้บนช้างวัดป่าคำหัวช้างขอนแก่น.html

นอกจากนี้ผมก็ได้ทำการเก็บภาพบรรยากาศมาฝากอีกด้วยครับ เพื่อนๆคนไหนที่เดินทางแวะผ่านมาผ่านไป ก็อย่าลืมแวะไหว้พระขอพร หรือถ้ารีบจริงๆ และผมก็ทำเป็นประจำคือ บีบแตรสั้นๆ เพื่อเป็นการบอกสิ่งศักดิ์ให้ปกปักษ์รักษา เป็นความเชื่อที่ทำให้เราสบายใจ เวลาเดินทางไปไหนมาไหนครับ


4 ความเห็นที่มีต่อตำนาน”โค้งร้อยศพ” ณ วัดป่าคำหัวช้าง จ.ขอนแก่น

กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*