สารบัญ

ประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย


รายละเอียดเพิ่มเติม

ทั้งนี้ข้อมูลด้านประเพณีท้องถิ่นเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่จะทำให้เห็นแง่มุมหนึ่งของชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนในสังคมที่สัมพันธ์กับพิธีกรรม ศาสนา และความเชื่อที่ดำรงอยู่อย่างหลากหลายในสังคมไทย โดยขอบเขตการศึกษาและรวบรวมข้อมูล จะมุ่งเน้นประเพณีที่มีพิธีกรรมโดยเป็นประเพณีพิธีกรรมของชุมชน ที่มีลักษณะเฉพาะถิ่น เฉพาะพื้นที่ หรือเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งที่เป็นประเพณที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากิน การเกษตรกรรม ศาสนา การรักษาเยียวยา เป็นต้น

การให้บริการเป็นลักษณะคลังความรู้ในรูปแบบดิจิทัล ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทยตามขอบเขตข้างต้น โดยรูปแบบของข้อมูลมีทั้งที่เป็นบทอรรถาธิบาย ภาพถ่าย และสื่อมัลติมีเดียอื่นๆ เช่น อีบุ๊ก นิทรรศการออนไลน์ ทั้งนี้ข้อมูลทั้งหมดที่เผยแพร่ในฐานข้อมูลนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการวิจัยและการศึกษา มิได้เพื่อหาผลประโยชน์เชิงพาณิชย์

นิยามประเภทประเพณีในฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย

1. ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต (rites of passage หรือ rites of transition) หมายถึง ประเพณีพิธีกรรมในระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัว หรือเครือญาติที่จัดขึ้นในระยะเวลาเปลี่ยนผ่านในช่วงสำคัญๆ ในชีวิตของคนเรา เช่น ช่วงการเกิด ช่วงการเปลี่ยนจากวัยรุ่นไปสู่ผู้ใหญ่ ช่วงการเปลี่ยนจาก “คนดิบ” เป็น “คนสุก” ช่วงการเปลี่ยนจากคนโสดเป็นคนมีครอบครัว ช่วงการตาย จึงมีการประกอบพิธีกรรมเพื่อบ่งบอกสถานภาพที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงสำคัญๆ ดังกล่าวในชีวิต เช่น พิธีทำขวัญเดือน พิธีโกนจุก พิธีบวช พิธีแต่งงาน พิธีศพ นอกจากนั้น หากบุคคลนั้นๆ มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเดิมไปสู่สภาพแวดล้อมใหม่ เช่น เมื่อมีการย้ายที่อยู่ใหม่ ก็อาจมีการประกอบพิธีกรรมเพื่อสร้างความมั่นใจให้อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่อย่างมีความสุขสบายใจ

2. ประเพณีเกี่ยวกับการรักษาโรค (healing rites) หมายถึง ประเพณีพิธีกรรมพื้นบ้านที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งในสังคมประเพณีในระดับชุมชนหมู่บ้านในท้องถิ่นได้เล็งเห็นว่าความเจ็บป่วยไม่ใช่แค่การรักษาร่างกายแต่ต้องมีการเยียวยาจิตใจของผู้ป่วยให้มีกำลังใจด้วย พิธีรักษาโรคในท้องถิ่นมักมีลักษณะเป็นการสื่อสารและวิงวอนสิ่งเหนือธรรมชาติ โดยมี “หมอพื้นบ้าน” เช่น หมอขวัญ หมอพราหมณ์ คนทรง หรือหมอผีเป็นผู้ประกอบพิธีกรรม และในการประกอบพิธีกรรมมักมีสมาชิกในครอบครัว เครือญาติ และคนในชุมชนเข้าร่วมด้วยซึ่งมีส่วนช่วยสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย ตัวอย่างพิธีรักษาโรคแบบพื้นบ้าน เช่น การฟ้อนผีมดผีเม็งของภาคเหนือ พิธีลำผีฟ้าของทางอีสานเหนือ พิธีโจลมะม็วดของอีสานใต้ การรำมะโย่งของภาคใต้ เป็นต้น

3. ประเพณีเกี่ยวกับการทำมาหากิน (fertility rites) หมายถึง ประเพณีพิธีกรรมเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ของไร่นาในสังคมเกษตรกรรมที่ผูกพันกับธรรมชาติซึ่งเป็นวิถีการทำมาหากินและวิถีการผลิตที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติเป็นสำคัญ พิธีกรรมเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์มักมีลักษณะเป็นการเซ่นสรวง เจรจา วิงวอนต่ออำนาจเหนือธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลและเพื่อให้ได้ผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์ เช่น พิธีแรกนา พิธีขอฝน พิธีทำขวัญข้าว พิธีกรรมเหล่านี้จึงมีบทบาทในการสร้างขวัญและกำลังใจให้ผู้คนมั่นใจว่าผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติจะดลบันดาลให้ประสบความสำเร็จและเกิดความอุดมสมบูรณ์ในผลผลิต

4. ประเพณีตามเทศกาล หรือประเพณี 12 เดือน (calendrical rites) หมายถึง ประเพณีพิธีกรรมที่มีกำหนดเวลาที่จัดขึ้นในแต่ละเดือนในรอบ 1 ปีในวิถีชีวิตของชุมชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นการกำหนดเวลาตามจันทรคติ มีทั้งประเพณีที่ตั้งอยู่บนฐานความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา ความเชื่อทางพุทธศาสนา และประเพณีเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ เช่น บุญข้าวจี่ บุญบั้งไฟ สงกรานต์ บุญเข้าพรรษา สลากภัต สารทเดือนสิบ ชักพระ ไหลเรือไฟ เป็นต้น

5. ประเพณีเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองและเพื่อสิริมงคล (festive rites/rites for social auspiciousness) หมายถึง พิธีกรรมเกี่ยวกับความมั่นคงของสังคม มีบทบาทสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านต่างมีความรู้สึกร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พิธีกรรมเหล่านี้จะทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน สังคม หรือประเทศ และยังเป็นโอกาสที่ชาวบ้านจะได้ร่วมทำบุญ ทำทาน เฉลิมฉลอง กินเลี้ยงหรือรื่นเริงสนุกสนานด้วยกันในวาระที่สำคัญๆ เช่น งานบุญประจำปี งานทำบุญประเทศ งานสวดมนต์ข้ามปี งานแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ พิธีสืบชะตาเมือง เป็นต้น

หมายเหตุ ประเพณีพิธีกรรมหนึ่งๆ อาจมีลักษณะที่ตรงกับประเภทประเพณีพิธีกรรมได้หลายประเภท เช่น บุญบั้งไฟ อาจเป็นได้ทั้งประเภทประเพณีเกี่ยวกับการทำมาหากิน เพราะเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ และประเภทประเพณี 12 เดือน เพราะนิยมประกอบพิธีกรรมนี้ในช่วงเดือน 6 เพื่อขอฝนอันเป็นช่วงเวลาเริ่มทำนาปลูกข้าว เป็นต้น

ป้ายกำกับ