หลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม วัดป่าสีห์พนม

ทีมงานอีสานร้อยแปดขออนุญาตินำเสนอข้อมูลของหลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม วัดป่าสีห์พนม ไม่กล่าวถึงก็คงจะไม่ได้ เพราะท่านเป็นพระผู้ใหญ่ที่อยู่บ้านเกิด ณ วัดใกล้บ้านเกิดของแอดมินแท้ๆ

ประวัติและปฏิปทาหลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม

“หลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม” ท่านถือกำเนิดตรงกับวันจันทร์ที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๑ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะโรง ณ บ้านขาม ต.ค้อใต้ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร บิดาท่านชื่อ นายเข่ง ธิอัมพร มารดาท่านชื่อ นางชาดา ธิอัมพร สำหรับบิดาของหลวงปู่บุญมาภายหลังได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบรูปหนึ่ง มีชื่อและฉายาตามพระพุทธศาสนาว่า “หลวงปู่เข่ง โฆษธัมโม” ขณะนั้นหลวงปู่บุญมาได้พรรษาที่ ๑๐ แล้ว จากนั้นจึงได้ออกธุดงค์ไปในที่ต่างๆ และบั้นปลายชีวิตหลวงปู่เข่ง ท่านได้มาอยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่บุญมา ที่วัดป่าสีห์พนมประชาคม จ.สกลนคร และได้มรณภาพลงเมื่อประมาณต้นปี พ.ศ.๒๕๓๗ ขณะมีอายุได้ ๙๐ ปี พรรษา ๓๓

หลวงปู่เข่ง โฆษธัมโม
วัดป่าสีห์พนม จ.สกลนคร

ชีวิตในวัยเด็กของหลวงปู่บุญมา ท่านได้เรียนจนจบชั้นประถมบริบูรณ์ แล้วได้ออกจากโรงเรียนมาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพทำนา เมื่ออายุได้ ๑๗-๑๘ ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรศึกษาธรรมอยู่ได้ ๑ พรรษา ช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ (ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๔-๒๔๘๘) หลังจากสึกออกมาช่วยบิดามารดาทำนานั้น ในใจท่านก็คิดเสมอว่า “ถ้ามีโอกาสเมื่อไร ก็จะรักษาศีลอุโบสถเมื่อนั้น” ท่านปฏิบัติอยู่อย่างนี้ จนเป็นที่เลื่องลือของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านว่า ทำไมเด็กหนุ่มนี้จึงมีอุปนิสัยแตกต่างจากคนรุ่นราวคราวเดียวกัน ที่หันเหมาทางพระพุทธศาสนา เข้าวัดเข้าวารักษาศีลอุโบสถเหมือนคนเฒ่าคนแก่

หลวงปู่บุญมาท่านได้เล่าถึงชีวิตเมื่อวัยหนุ่มว่า “เมื่อเข้าหาครูบาอาจารย์ท่านก็เทศน์ให้ฟัง ในเรื่องอานิสงส์ในการรักษาศีล ๕ และทุกข์โทษของการละเมิดผิดศีลผิดธรรมเป็นอย่างไร ก็นำมาพิจารณา และครั้นเวลาครูบาอาจารย์ชวนไปวิเวก ฝึกสมาธิ ศึกษาธรรมะ ก็สนใจปฏิบัติตาม ทำให้จิตเกิดความสงบเยือกเย็น” นับว่าท่านเป็นผู้มีวาสนาบารมีที่ส่อแววให้เห็นมาตั้งแต่เด็กๆ

หลวงปู่บุญมาเล่าถึงสมัยชีวิตฆราวาส ได้พิจารณาความตายถึง ๓ วาระ สมัยท่านเป็นฆราวาสได้แต่งงานมีเหย้ามีเรือน ใช้ชีวิตตามวิถีชาวโลก จนมีบุตรด้วยกันหนึ่งคน เหตุการณ์หลังจากนั้นวาสนาบารมีทางธรรมท่านได้ใกล้เข้ามา จึงดลบันดาลให้เหตุการณ์กระทบอารมณ์ เป็นทุกข์อย่างหนักทางโลก ปีแรก น้องสาวท่านตาย ปีที่สองมารดาก็มาตายอีก หลวงปู่บุญมาท่านเล่าว่าตอนนั้น จิตของท่านเกิดธรรมะ ได้คิดว่า “ความตายมันได้ใกล้เข้ามาหาเรา…ถ้าเราอยู่ต่อไป ไม่กี่วันก็คงตาย ถ้าจะตาย ขอให้ไปส่งความดีก่อนตาย เพื่อจะได้เป็นที่พึ่งในอนาคต” เป็นทางออกที่ดีที่สุด ก่อนความตายจะมาถึง แต่ไม่ทันที่ท่านจะได้ออกบำเพ็ญความดีตามที่ท่านตั้งใจไว้ พายุโลกโหมกระหน่ำซ้ำเติมซ้ำสามในระยะเวลาไม่นาน ภรรยาท่านก็มาเสียชีวิตลง “ทุกข์เกิดขึ้น” เป็นทุกข์ที่ทำให้ท่านต้องตั้งคำถาม และพิจารณาปัญหาต่อไปว่า “ลูกที่่เกิดมา จะทำอย่างไร ใครจะเลี้ยงลูก”

แล้วท่านก็พิจารณาเรื่องลูกว่า “ถึงแม้ว่าแม่จะตาย พ่อก็ยังอยู่ เด็กบางรายเกิดมาไม่กี่วันก็ตาย บางคนเดินได้ วิ่งได้ แล้วก็มาตาย แล้วแต่บุญวาสนาของแต่ละคน ไม่ถึงวันตายก็ไม่ตาย ถ้าจะให้ทานลูกแก่ผู้ต้องการ ลูกก็คงเติบใหญ่ขึ้นได้ด้วยบุญวาสนาบารมีของตนเองที่สร้างสมมาแต่ปางก่อน” ท่านคิดได้อย่างนี้ จึงยกลูกให้แก่พ่อตา แม่ยาย เป็นผู้เลี้ยงดู และตัดสินใจออกบวช ช่วงนั้นประมาณเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๔ ใกล้เข้าพรรษาแล้ว ระหว่างช่วงจัดงานศพให้ภรรยาท่านนั้น ได้นิมนต์ หลวงปู่สิงห์ สหธัมโม ไปสวดบังสุกุล หลวงปู่สิงห์ พระอาจารย์ผู้ที่ให้ธรรมะแนะนำการปฏิบัติแก่ท่านอยู่ก่อนแล้ว ได้ถามท่านว่า “จะบวชไหม” ซึ่งท่านก็ตอบหลวงปู่สิงห์ไปว่า “บวชแน่นอนครับ” หลังจากจัดการงานศพของภรรยาเสร็จ ท่านก็ลาบิดา พ่อตา แม่ยาย เข้าไปวัดพระธาตุฝุ่น ต.ค้อใต้ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร เพื่อรอบวชในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๔

ท่านอุปสมบทเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๔ เวลา ๑๔.๑๕ น. ขณะอายุได้ ๒๔ ปี ณ วัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยมี พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระครูสมุห์สวัสดิ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “คัมภีรธัมโม” ซึ่งแปลว่า ผู้มีธรรมอันลึกซึ้ง

เมื่ออุปสมบทแล้วเสร็จ ท่านได้ไปอยู่จำพรรษาศึกษาข้อวัตรปฏิปทากับหลวงปู่สิงห์ สหธัมโม วัดพระธาตุฝุ่น จ.สกลนคร ในพรรษาแรก หลวงปู่สิงห์ได้ให้ท่านฝึกปฏิบัติสมาธิภาวนาขนานใหญ่ ขนาดยอมอดนอน ไม่ยอมหลับในตอนกลางคืน ช่วงเข้าพรรษาตลอด ๓ เดือน พระเณรที่อยู่ด้วยต้องยืน เดิน นั่ง ๓ อิริยาบถตลอดทั้งคืน ห้ามนอนเวลากลางคืน จึงทำให้ได้รับผลจากการภาวนามากตลอดพรรษา

พอพรรษาที่ ๒ พระบุญมา จิตท่านเกิดฟุ้งซ่านอยากจะสึก ครั้นเมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงปู่สิงห์ สหธัมโม จึงได้ให้ท่านไปหาหลวงปู่ขาว อนาลโย ซึ่งขณะนั้นท่านอยู่ที่ถ้ำค้อ อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี ห่างจากวัดถ้ำฝุ่นไป ๒๐-๓๐ กิโลเมตร เมื่อไปถึงถ้ำค้อ ที่หลวงปู่ขาว อนาลโย ท่านพำนักจำพรรษาอยู่ พระบุญมาได้เข้าไปกราบคารวะ หลวงปู่ขาวจึงได้พูดขึ้นว่า “ทำไมถึงอยากสึก แยกจิตออกนอกทำไม” พระบุญมาท่านยังไม่ทันตอบ หลวงปู่ขาวก็พูดต่อไปอีกว่า “ออกก็ออกมาจากที่นั่น จะเข้าไปที่เดิม มันถูกรึ” หลวงปู่ขาวท่านรู้วาระจิต จากนั้นก็อบรมสั่งสอนให้ท่านอยู่ป่าเป็นวัตร อยู่กับช้าง กับเสือ กับผีสาง เป็นการให้มีสติอยู่กับตนไป ไม่ให้ฟุ้งซ่านส่งจิตออกไปไหน” หลวงปู่บุญมา ท่านเล่าว่า “ช่วงนี้กลัวมาก ถึงสวดมนต์อย่างไรก็กลัว กลัวตาย ช่วงที่อยู่กับหลวงปู่ขาว อนาลโย จึงตั้งใจบำเพ็ญเพียรภาวนาตามคำสอนขององค์ท่าน ปรากฏผลดีมาก จิตใจสบาย วิเวกดี จิตไม่ปรุงแต่งอะไร ไม่ออกไปสร้างบ้านสร้างเรือน สร้างครอบครัวอีก เพราะกลัวตาย คนกลัวตายต้องหาที่พึ่ง ถ้าได้ที่พึ่งทางจิตแล้วสบาย ไม่กลัวตายต่อไปอีกแล้ว”

ครั้นออกพรรษาได้จาริกธุดงค์เข้ากราบรับข้ออรรถข้อธรรมจากพระเถระผู้ใหญ่ ศิษย์ในองค์หลวงปู่ใหญ่มั่น ภูริทัตโต หลายองค์ อาทิ หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู, หลวงปู่หลุย จันทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง จ.เลย และหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม จ.อุดรธานี เป็นต้น และได้จาริกธุดงค์ร่วมกันกับ หลวงปู่คำบุ ธัมมธโร ซึ่งเป็นพระอาจารย์รูปสำคัญของท่าน ออกวิเวกตามสถานที่ต่างๆ ไปยังป่าช้าง ป่าเสือ ฝึกจิตตามป่าตามเขาโถงถ้ำ ไปในที่ๆ ขึ้นชื่อว่าอาถรรพณ์ผีดุ เปลี่ยนที่จำพรรษาไปเรื่อยๆ ไม่ติดถิ่น ทั้งที่กันดารห่างไกลจากบ้านจากเรือนสลับกับการไปฝึกอบรมยังสำนักของพ่อแม่ครูอาจารย์ ซึ่งเป็นระยะเวลายาวนานถึง ๒๙ พรรษา

เริ่มจำพรรษาที่ วัดป่าสีห์พนมประชาคม บ้านหนองกุง ต.บงใต้ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ในพรรษาที่ ๒๐ เป็นพรรษาแรก ตรงกับปี พ.ศ.๒๕๑๔ จากนั้นจึงออกจาริกธุดงค์ไปจำพรรษาในที่ต่างๆ แล้วเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ หลวงปู่บุญมาท่านก็กลับมาจำพรรษาอยู่ที่ วัดป่าสีห์พนมประชาคม มาโดยตลอดจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

ขอบคุณข้อมูลจากเพจ “หลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม วัดป่าสีห์พนม”

แชร์
ไทสกล คนสว่าง

แอดมินอีสานร้อยแปด ไทสกล คนสว่าง ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บอีสานร้อยแปด นำเสนอข้อมูลรอบด้าน ทุกเรื่องราวของพี่น้องชาวอีสาน เป็นคนกรุงเทพฯโดยกำเนิดแต่เกิดอยู่สกลนคร ออนซอนประเพณีวัฒนธรรมที่ราบสูงที่เรียกว่าภาคอีสาน จึงได้รวบรวมข้อมูลเรื่องราวเหล่านั้นรังสรรค์ผลงานนำเสนอผ่านเว็บไซต์ "อีสานร้อยแปดดอทคอม"

ดูความคิดเห็น