อัศจรรย์พระธาตุกลางแม่น้ำโขง “พระธาตุหล้าหนอง”

มื้อนี้อีสานร้อยแปดขอพาพี่น้องไปสักการะและชมความน่าอัศจรรย์ของ”พระธาตุหล้าหนอง” หรือหลายๆคนอาจจะรู้จักในชื่อ “พระธาตุกลางน้ำ” หรือ “พระธาตุหนองคาย” โดยชื่อเดิมเลยนั้นคือ “พระธาตุหล้าหนอง” เป็นพระธาตุเก่าแก่ที่พักพัง เนื่องจากถูกน้ำเซาะบริเวณตลิ่ง จนพระธาตุล้มลง และอยู่กลางแม่น้ำห่างจากฝั่งเกือบสองร้อยเมตร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุฝ่าพระบาทเก้าพระองค์ตามตำนานอุรังคธาตุ (พระพนม) จากการสำรวจใต้น้ำของหน่วยโบราณคดีภาค 7 พบว่าองค์พระธาตุมีฐานกว้างด้านละ 17.2 เมตร ย่อมุมที่ฐาน และมีความสูงประมาณ 28.5 เมตร หักออกเป็น 3 ท่อน สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 20–22 เนื่องจากมีรูปร่างคล้ายพระธาตุบังพวน ตามบันทึกของหนังสือประชุมพงศาวดารภาค 70 บันทึกไว้ว่า “พระธาตุเมืองหนองคายได้เพ (พัง) เมื่อวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ปีพุทธศักราช 2390” และตลิ่งได้ถูกน้ำเซาะจนมองเห็นพระธาตุอยู่เกือบกึ่งกลางลำน้ำโขงในปัจจุบัน

พระธาตุเมืองหนองคายได้เพ (พัง) เมื่อวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ปีพุทธศักราช 2390

องค์พระธาตุที่เรามองลงไปเห็นกลางน้ำนั้นเป็นเพียงฐานขององค์พระธาตุ หลายๆคนเข้าใจว่าเป็นยอดพระธาตุ ซึ่งไม่ใช่ ทั้งนี้เนื่องจากพระธาตุล้มลงนั่นเอง มุมที่พระธาตุล้มลงนั้น หัวพระธาตุอยู่ทางฝั่งทิศตะวันออกเฉียงเหนือห่างจากส่วนฐานออกไปอีกประมาณ 33 เมตร ในช่วงที่น้ำลดเราถึงจะมองเห็นฐานขององค์พระธาตุได้อย่างชัดเจน หากมาช่วงน้ำขึ้น อาจจะไม่เห็น

ถ้าใครมีโอกาสได้เดินทางมาถึงแล้ว จะให้ถึงใกล้ที่สุด ก็อย่าลืมล่องเรือไปชมแบบใกล้ๆ นะครับ ค่าเรือเที่ยวละ 100 บาท เท่านั้นเอง เราจะได้ไปสัมผัสองค์พระธาตุ สัมผัสถึงแรงศรัทธาของพุทธศาสชิกชน ที่มีให้ต่อศาสนาพุทธ หากนับตั้งแต่วันที่องค์พระธาตุล้มลงจนถึงวันนี้ องค์พระธาตุเจดีย์ก็จมอยู่กลางแม่น้ำโขงมานานกว่า 170 ปีแล้ว ในแต่ละปีก็จะมีการจัดงานสมโภชพระธาตุขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 งานประเพณีบุญบั้งไฟ และงานประเพณีบุญแข่งเรือยาว แห่ปราสาทผึ้งในวันออกพรรษา

พระธาตุหล้าหนอง

ปัจจุบันได้มีการสร้างองค์พระธาตุจำลองขึ้นมาบริเวณใกล้ๆริมตลิ่ง และมีการจัดทัศนียภาพรอบๆให้สวยงาม ภายในองค์พระธาตุองค์ใหม่ มีการบรรจุธาตุของพระธาตุองค์เก่า เอาไว้ด้วย ในช่วงที่ผมไปสักการะองค์พระธาตุ การก่อสร้างก็เริ่มจะเสร็จ ทำให้ได้ชมองค์ความสวยงามขององค์พระธาตุองค์ใหม่

องค์พระธาตุหล้าหนอง

บริเวณตลิ่งที่ตั้งองค์พระธาตุนี้มีการก่อสร้างเพื่อป้องกันน้ำเซาะตลิ่ง ไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ซึ่งรับประกันได้ว่า พระธาตุองค์ใหม่จะไม่พังลงอีกง่ายๆ แต่ถ้าพูดถึงเรื่องของแรงธรรมชาติโดยเฉพาะแม่น้ำโขง ซึ่งมีความเชี่ยว ไหลแรง ถ้ามีน้ำมาเยอะๆ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเอาอยู่หรือไม่ แต่ที่น่าอัศจรรย์ใจมากกว่านั้นก็คือ องค์พระธาตุองค์เก่าที่อยู่ในน้ำมานานร้อยกว่าปีแล้ว ยังคงอยู่ตรงนั้น นับว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อ ที่องค์พระธาตุยังอยู่ให้พี่น้องทั้งสองฝั่งกราบไหว้บูชามาจนถึงทุกวันนี้

สำหรับการเดินทาง สามารถดูจากแผนที่ ที่ทีมงานของเราปักหมุดเอาไว้ให้ได้เลยครับ รับรองมาถูกแน่นอน แต่บริเวณวัดอาจจะมีที่จอดรถไม่มากพอ เราอาจจะไปจอดบริเวณใกล้ๆจะสะดวกกว่า แล้วค่อยเดินเท้าเข้ามา

แชร์
ไทสกล คนสว่าง

แอดมินอีสานร้อยแปด ไทสกล คนสว่าง ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บอีสานร้อยแปด นำเสนอข้อมูลรอบด้าน ทุกเรื่องราวของพี่น้องชาวอีสาน เป็นคนกรุงเทพฯโดยกำเนิดแต่เกิดอยู่สกลนคร ออนซอนประเพณีวัฒนธรรมที่ราบสูงที่เรียกว่าภาคอีสาน จึงได้รวบรวมข้อมูลเรื่องราวเหล่านั้นรังสรรค์ผลงานนำเสนอผ่านเว็บไซต์ "อีสานร้อยแปดดอทคอม"

ดูความคิดเห็น