พิธีกรรมในงานบุญผะเหวด

ครั้นถึงเวลาประมาณ 14-15 นาฬิกาของมื้อโฮมหรือวันรวม(วันที่สอง) ผู้เฒ่าผู้แก่จะพากันนำเครื่องสักการะบูชาประกอบด้วยขันห้า ขันแปด บาตรจีวร ร่ม กระโถนกาน้ำ และไม้เท้าเหล็กไปเชิญพระอุปคุตซึ่งสมมติว่าท่านอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำ อาจเป็นบึง หนอง แม่น้ำ อ่างเก็บน้ำ (ที่อยู่ใกล้วัด) เมื่อไปถึง ผู้เป็นประธานจะตั้งนะโมขึ้น 3 จบ กล่าว “สัคเค” เชิญเทวดามาเป็นพยานแล้วจึงกล่าวอาราธนาเชิญพระอุปคุต เมื่อกล่าวจบก็ตีฆ้องตีกลองนำเครื่องสักการะแห่มาที่วัด เวียนรอบศาลาโรงธรรม 3 รอบ แล้วจึงนำเครื่องสักการะทั้งหมดวางไว้บนหออุปคุต
หลังจากเชิญพระอุปคุตเสร็จแล้วก็ถึงพิธีแห่ผะเหวดเข้าเมืองซึ่งจะเป็นเวลาประมาณ 16.00-17.00 น. ของมื้อโฮม

พิธีกรรมก่อนแห่.. ผู้เป็นประธานจะนำญาติโยม (ที่มาพร้อมกันในบริเวณชายป่าที่ถูกสมมติให้เป็นป่าหิมพานต์) ไหว้พระรับศีลและฟังเทศน์ เมื่อเทศน์จบแล้วก็จะลั่นฆ้อง จัดขบวนแห่ผะเหวดเข้าเมือง เดินผ่านหมู่บ้านเข้าสู่วัด แล้วแห่เวียนขวา รอบศาลาโรงธรรมสามรอบ จากนั้นจึงนำพระพุทธรูปขึ้นตั้งไว้ในศาลาโรงธรรม ญาติโยมที่เก็บดอกไม้มาจากป่า เช่น ดอกพะยอม ดอกจิก (ดอกเต็ง) ดอกฮัง (ดอกรัง) ดอกจาน ฯลฯ ก็จะนำดอกไม้ไปวางไว้ข้าง ๆ ธรรมาสน์ แล้วขึงผ้าผะเหวดรอบศาลาโรงธรรม

พิธีกรรมบุญผะเหวด

หลังจากแห่ผะเหวดเข้าเมืองแล้วญาติโยมจะพากันกลับบ้านเรือนของตน รับประทานอาหารเย็น พร้อมทั้งเลี้ยงดูญาติพี่น้องที่เดินทางมาร่วมทำบุญ จากนั้น เวลาประมาณหนึ่งทุ่มเศษ ๆ ทางวัดจะตี “กลองโฮม” เป็นสัญญาณบอกให้ชาวบ้านรู้ว่าถึงเวลา “ลงวัด” ญาติโยมจะพากันมารวมกันที่ศาลาโรงธรรม พระภิกษุสงฆ์สวด พระปริตรมงคล หลังจากสวดมนต์จบก็จะ “เทศน์มาลัยหมื่นมาลัยแสน” หลังจากฟังเทศน์จบก็จัดให้มีมหรสพ เช่น หมอลำ ภาพยนตร์ให้ชมจนถึงสว่าง

เวลาประมาณ 04.00 น. ของวันบุญผะเหวด(วันที่สาม) ญาติโยมจะนำข้าวเหนียวก้อนเล็ก ๆ ขนาดเท่าหัวแม่มือจำนวนหนึ่งพันก้อน ซึ่งเท่ากับหนึ่งพันพระคาถาในเรื่องราวของพระเวสสันดรชาดก ใส่ถาดออกจากบ้านเรือน แห่จากหมู่บ้านมาที่ศาลาโรงธรรม เวียนรอบศาลาโรงธรรมสามรอบ แล้วจึงนำข้าวพันก้อนไปใส่ไว้ในกรวยไม้ไผ่ที่หลักธุงไซทั้งแปดทิศ และใส่ในตะกร้าที่วางอยู่บนศาลาตามจุดที่มีธุงไซและเสดถะสัด เมื่อแห่ข้าวพันก้อนเสร็จแล้วก็จะมีเทศน์สังกาศ คือ การเทศน์บอกปีศักราช เมื่อจบสังกาศจะหยุดพักให้ญาติโยมกลับไปบ้านเรือน นำอาหารมาใส่บาตรจังหัน หลังจากพระฉันจังหันแล้วก็จะเริ่มเทศน์ผะเหวด โดยเริ่มจากกัณฑ์ทศพรไปจนถึงนครกัณฑ์รวมสิบสามกัณฑ์ ใช้เวลาตลอดทั้งวันจนถึงค่ำ มีความเชื่อกันว่าหากใครฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรจบผู้นั้นจะได้รับอานิสงส์มาก

พิธีกรรมขณะฟังเทศน์

ในการฟังเทศน์ “บุญผะเหวด” นั้นต้องมีทายกหรือทายิกา คอยปฏิบัติพิธีกรรม ขณะฟังเทศน์แต่ละกัณฑ์ โดยจุดธูปเทียน เพื่อบูชากัณฑ์นั้น ๆ ตามจำนวนคาถาในแต่ละกัณฑ์ นอกจากนั้นต้องหว่านข้าวตอก ดอกไม้ ข้าวสาร และลั่นฆ้องชัย เมื่อเทศน์จบในแต่ละกัณฑ์ โดยผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวนี้ต้องนั่งอยู่ประจำที่ตลอดเวลาที่เทศน์

การฟังเทศน์

ส่วนเครื่องฮ้อยเครื่องพัน หรือเครื่องครุพันนั้นต้องตั้งบูชาไว้ตลอดงาน เมื่อเทศน์จบแล้วบางวัดก็นำเครื่องฮ้อย เครื่องพัน ใส่ไว้ในภาชนะที่สานด้วยตอกไม้ไผ่ มีลักษณะเหมือนกะออม ปากเป็นกรวยแหลมใช้ผ้าขาวหุ้ม แล้วใช้ด้ายถักหุ้มไว้อีกชั้นหนึ่ง เพื่อจะได้นำมาใช้เป็นเครื่องสักการะบูชาเวลามีบุญผะเหวดในปีต่อ ๆ ไป

แชร์
Alitta Boonrueang