ภาคอีสานในสมัยโบราณก่อนที่จะมีมวยคาดเชือก มวยเวที มีมวยแบบหนึ่งเรียกกันหลายชื่อ เช่น มวยลาว บ้าง เสือลากหาง บ้าง มวยดังกล่าวนี้นิยมฝึกหัดตามคุ้มวัดตามหมู่บ้าน เพื่อให้มีกำลังวังชา สามารถต่อสู้ป้องกันตัวได้ และในขณะเดียวกันก็คำนึงถึงความสวยงามของลีลาท่ารำท่าฟ้อน มีการร่ำเรียนเวทมนต์คาถา เสกเป่าหมัดเข่าให้มีพละกำลังแข็งแกร่งจนคู่ต่อสู้ทำอันตรายไม่ได้
ในปัจจุบันจังหวัดสกลนครเป็นแหล่งเดียวที่ยังมีมวยโบราณในงานเทศกาลงานบุญประเพณี เช่น เทศกาลแห่เทียนเข้าพรรษาในเทศกาลออกพรรษา ในเทศกาลงานบุญเหล่านี้ ชาวบ้านจะจัดขบวนแห่ของคุ้มวัดเข้าร่วมขบวนอย่างสนุกสนาน โดยเฉพาะชาวสกลนครในเขตรอบๆตัวเมือง ถือกันมาแต่โบราณว่าเมื่อถึงเทศกาลบุญพระเวสเทศน์มหาชาติแล้ว ชาวคุ้มจะจัดเป็นขบวนแห่ฟ้อนรำไปตามถนน ผ่านหน้าบ้านผู้คนเพื่อบอกบุญ ทำบุญร่วมกันถวายแด่องค์พระธาตุเชิงชุม ขบวนแห่ของชาวคุ้ม นอกจากจะประกอบด้วยผู้คนทั้งหนุ่มสาว เฒ่าชราแต่งกายสวยงามตามแบบพื้นเมือง ฟ้อนรำไปตามถนนหนทางแล้ว ยังมีนักมวยของแต่ละคุ้มนำหน้าขบวนเป็นที่สะดุดตาแก่ผู้พบเห็น นักมวยแต่ละคนจะนุ่งโจงกระเบนหยักรั้งปล่อยชายกระเบนห้อยลงมาพองาม ด้วยเหตุนี้เอง ชาวบ้านจึงมักเรียกนักมวยว่า “พวกเสือลากหาง”
ผู้รำมวยโบราณนอกจากจะแต่งด้วยผ้าหยักรั้งปล่อยห้อยชายกระเบนแล้ว ตามเนื้อตัวตามขายังนิยมสักลายท่อนบนมักจะเป็นรูปสัตว์ที่แผงอก เช่น รูปครุฑ รูปงู รูปเสือ หนุมาน ส่วนตามโคนขาก็จะสักลายเป็นรูปพืชผัก เช่น ลายต้นข้าว ผักกูด คติความเชื่อในเรื่องสักลายนี้แต่โบราณถือว่าเป็นสัญลักษณ์ความเข้มแข็งเป็นที่พึงพอใจของสตรีเพศ
บางรายอาจมีคติเรื่องความคงกะพันผสมกับความสวยงามด้วย นักมวยโบราณจะมีตะกรุดรัดแขน ภายในตะกรุดมีเครื่องรางของขลังที่ตนนับถือ สวมมงคลที่ศีรษะในขณะที่ไหว้ครู เช่นเดียวกับมวยเวทีในปัจจุบัน และจะถอดมงคลออกเมื่อถึงเวลาที่จะร่ายรำหรือต่อสู้
ความงดงามของมวยโบราณอยู่ที่ท่าทางการไหว้ครู ซึ่งใช้ลีลาจากอากัปกิริยาของสัตว์ เช่น เสือ ช้าง ม้า วัว ควาย มาดัดแปลงด้วยลีลาของนักมวย แล้วเคลื่อนไหวเหยาะย่างให้เข้ากับเสียงกลองเสียงแคน นักมวยบางคน ยังนำเอาท่าทางของลิงของยักษ์ในเรื่องรามเกียรติ์ มาประดิษฐ์เป็นท่าทางร่ายรำอย่างสวยงาม อันเนื่องมาจากความงดงามของนักมวยโบราณ ซึ่งเป็นศิลปะผสมผสานระหว่าง นาฏศิลป์พื้นบ้านอีสานและชั้นเชิงของการต่อสู้ แบบมวยโบราณ
นายจำลอง นวลมณี ซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญ เป็นผู้รักและสนใจการแสดงมวยโบราณ เป็นครูสอนรำมวยโบราณ ได้ทุ่มเทเวลาให้กับการฝึกมวยโบราณให้กับนักเรียนประถมมัธยม และพนักงานดับเพลิงของเทศบาลเมืองสกลนคร
“มวย เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว เป็นการต่อสู้ด้วยพละกำลัง ใช้อวัยวะเกือบทุกส่วนของร่างกาย ทั้งมือ เท้า เข่า ศอก รวมทั้งหัวด้วย มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มาแล้ว ในสมัยก่อนนิยมฝึกหัดกันในหมู่นักรบโบราณ เป็นที่นิยมชมชอบของชนทุกชั้น แม้แต่พระเจ้าแผ่นดินก็มีปรากฏในพงศาวดาร ครั้งกรุงศรีอยุธยา ขุนหลวงสรศักดิ์ หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันในนาม พระเจ้าเสือ ทรงนิยมชมชอบมวยมาก ถึงกับปลอมพระองค์ไปชกมวยตามหัวเมืองบ่อยครั้ง”
(จากหนังสือเชิดชูเกียรติ อาจารย์จำลอง นวลมณี ครูมวยโบราณของสกลนคร ผู้ที่สืบสานศิลปะการร่ายรำมวยโบราณ)
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่อาจารย์จำลอง นวลมณีได้เล่าไว้อย่างน่าสนใจมาก คือ….
” เมื่อปี พ.ศ.2331 เป็นปีที่ 7 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีนักมวยฝรั่งสองพี่น้อง ล่องเรือกำปั่นท้าพนันชกมวยมาหลายหัวเมือง และชกชนะมาทั้งสิ้น ครั้นมาถึงกรุงเทพฯ ก็มาท้าพนันชกมวยกับคนไทย พระยาพระคลัง กราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงทราบ จึงรับสั่งให้รับท้าพนัน วางเดิมพันเป็นเงิน 50 ชั่ง หรือ 4,000 บาท (สมัยนั้นก็มากแล้ว) สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทราชอนุชา จึงจัดหานักมวย ชื่อ หมื่นผลาญ ซึ่งมีความรู้ทั้งมวยต่อยและมวยปล้ำ และดำรัสให้ปลูกพลับพลาใกล้โรงละครด้านทิศตะวันตกของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อประทับทอดพระเนตร ผลการชกปรากฏว่า นักมวยฝรั่งแพ้ไม้เป็นท่า เป็นที่น่าอับอายมาก”
นางศาสตร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร ได้เขียนไว้ในหนังสือเชิดชูเกียรติ อาจารย์จำลอง นวลมณี ว่า
“ในสมัย 50 ปีมาแล้ว จะมีงานแห่ต่างๆ โดยเฉพาะงานประเพณีที่เรียกว่า งานบุญพระเวส ชาวสกลนคร 10 คุ้ม ก็มีการแห่กัณฑ์เทศน์ และแห่บั้งไฟไปตามถนนสายต่างๆ เพื่อทอดถวายองค์พระธาตุเชิงชุม โดยมีคณะนักมวยรำมวยออกหน้า มีปี่ ฆ้อง กลองประโคม เป็นเครื่องประกอบ เมื่อขบวนไปพบกันจะไม่มีใครหลีกทางให้กัน จึงมีการต่อสู้กันขึ้น”
ดังนั้น มวยโบราณจึงเป็นการต่อสู้ด้วยมือ เท้า เข่า ศอก มีมาก่อนมวยคาดเชือก (มวยคาดเชือกใช้ผ้าดิบ หรือบางครั้งใช้เชือกพันมือ สันนิษฐานว่า มีขึ้นในสมัยอยุธยา)
พ.ศ.2472 เป็นปีที่เกิดเหตุการณ์เศร้าสลดใจเกิดขึ้น เมื่อนายเจีย แขกเขมร ขอขึ้นทาบรัศมีกับ นายแพ เสียงประเสริฐ และผลการต่อสู้ในครั้งนั้น นายเจีย ถูกนายแพ ต่อยถึงแก่ความตายที่สนามมวย หลักเมือง ของพลโท พระยาเทพหัสดิน ตั้งแต่นั้นมวยคาดเชือกจึงต้องเลิกไป
แบ่งเป็น 3 ตอน คือ
– ขบวนแห่มวยโบราณ
– ท่าไหว้ครูหรือรำเดี่ยว
– การต่อสู้
เป็นที่น่าสังเกตว่า มวยโบราณไม่ใช้การต่อสู้แบบเข้าคลุกวงใน ทั้งนี้เพราะจะทำให้เห็นลีลาท่าฟ้อนรำน้อยไป แต่นักมวยจะเข้าไปเล่นงานคู่ต่อสู้พร้อมกับถอยมาฟ้อนรำเป็นระยะๆ แล้วจึงบุกเข้าไปหรือเตรียมตั้งรับหรือตอบโต้คู่ต่อสู้ กล่าวได้ว่าความสนุกสนานของมวยโบราณ อยู่ที่ชั้นเชิงและกลเม็ดของนักมวยผู้ที่เจนจัด มักมีลูกเล่นกลเม็ดแพรวพรายทั้งท่ารุก ท่ารับ ซึ่งหมายถึงการฝึก หัดมาอย่างดีในท่ารุกเข้าพิชิตคู่ต่อสู้หลายแบบ นักมวยโบราณที่มีความคล่องตัวนิยมเล่นงานคู่ต่อสู้ด้วยเท้า ในขณะที่เสียเปรียบคู่ต่อสู้จนเสียหลัก นักมวยจะแก้ปัญหา เช่น การหลบ โดยหลบลอดได้อย่างเร็ว พร้อมใช้เท้าถีบคู่ต่อสู้ให้ล้มหรือใช้ศอกถอง แต่ก็ต้องระวังท่าจระเข้ฟาดหางจากฝ่ายตรงข้ามตอบโต้ด้วย มวยโบราณจึงมิใช่มวยที่ชกกันเอาแพ้ชนะเช่นมวยในปัจจุบัน แต่หากเป็นการต่อสู้ที่เน้นศิลปะของท่ารำ จึงควรให้เรียกว่าการรำมวยโบราณ มิใช่การชกมวยต่อยมวยเช่นในปัจจุบัน
ท่าฟ้อนของมวยโบราณ อ่อนช้อยแต่เข้มแข็งทะมัดทะแมงอยู่ในการฟ้อนมวยโบราณ ท่าฟ้อนมวยโบราณนั้นทั้งหมดมี 14 ท่า คือ..
1. ท่าเสือออกจากเหล่า
2. ท่าย่างสามขุม
3. ท่ากุมภัณฑ์ถอยทัพ
4. ท่าลับหอกโมกขศักดิ์
5. ท่าตบผาบปราบมาร
6. ท่าทะยานเหยื่อเสือลากหาง
7. ท่าไก่เลียบเล้า
8. ท่าน้าวคันศร
9. ท่ากินนรเข้าถ้ำ
10. ท่าเตี้ยต่ำเสือหมอบ
11. ท่าทรพีชนพ่อ
12. ท่าล่อแก้วเมขลา
13. ท่าม้ากระทืบโรง
14. ท่าช้างโขลงทะลายป่า
นอกจากนั้นยังมีท่ารำมวยโบราณแบบที่รำเป็นขบวนแห่อีก 9 ท่า คือ
1. ท่ากาเต้นก้อนขี้ไถ
2. ท่าหวะพราย
3. ท่าย่างสามขุม
4. ท่าน้าวเฮียวไผ่
5. ท่าไล่ลูกแตก-ตบผาบปราบมาร
6. ท่าช้างม้วนงวง
7. ท่าทวงฮัก กวักชู้
8. ท่าแหลวถลา กาตากปีก
9. ท่าเลาะเลียบตูบ
มวยโบราณนิยมนุ่งผ้าโจงกระเบนแบบหยักรั้ง คือ ดึงชายกระเบนให้สูงขึ้น เพื่อให้เห็นลายสักที่ขา สีของผ้าโจงกระเบนนิยมสีแดงหรือสีน้ำเงิน ปล่อยชายหางกระเบน ห้อยลงมาพองาม มีผ้าคาดเอวสีแดงหรือ น้ำเงิน (ใส่สลับกับผ้านุ่ง คือ ถ้าผ้านุ่งสีแดง ผ้าคาดเอวก็สีน้ำเงิน) ผ้าคาดเอวนี้จะช่วยรัดให้ผ้าโจงกระเบนแน่นกระชับ ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ มีผ้าประเจียดโพกศีรษะ (ผ้าประเจียดคือ ผ้าลงยันต์ บรรจุมนต์ขลังของเกจิอาจารย์) นอกจากนั้นก็มีผ้ารัดต้นแขนทั้งสองข้าง เป็นผ้าสีแดง มีตะกรุดหรือเครื่องรางของขลังอยู่ข้างใน
จุดเด่นของมวยโบราณนิยมสักลวดลายตามตัวทั่วร่างกาย ทั้งแขน ขา สมัยก่อนสักด้วยน้ำว่าน น้ำยาศักดิ์สิทธิ์สักเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ที่เลื่อมใสว่ามีกำลังอำนาจ นอกจากนั้นยังสักเป็นลวดลายและลงอักษรโบราณที่เป็นคาถาอาคม เล่ากันว่า ในสมัยโบราณผู้ชายที่ไม่สักลายผู้หญิงจะไม่รัก และไม่แต่งงานด้วย ถึงกับมีคำพังเพยว่า “ขาบ่ลายบ่ให้ก่าย” ก่ายก็หมายถึง กอดก่าย การสักนี้มีจุดมุ่งหมายเหมือนกับมีเครื่องรางของขลังติดตัวไปด้วย ทำให้อยู่ยงคงกะพันแคล้วคลาดและเป็นมหาเสน่ห์ สมัยก่อนการสักลงยันต์ทำกันเป็นเรื่องใหญ่เพราะต้องสักลงไปบนผิวหนัง ฝังลงไปในเนื้อโดยให้เหล็กแหลมเหมือนปากกา สักด้วยหมึกดำ หมึกแดง ผสมกับรงและว่าน รอยสักนี้จะติดไปบนผิวหนังตลอดชีวิต
ในปัจจุบันนี้ ไม่มีผู้นิยมสักลาย นักมวยโบราณจึงได้พัฒนาการสักลายมาเป็นการเขียนลายแทน และเขียนด้วยปากกาเมจิก หรือสีเคมีแห้งเร็ว เมื่อเขียนเสร็จแล้วก็ใช้แป้งผงที่ทาตัวเด็ก โรยลงไปให้ทั่วเพื่อไม่ให้สีที่เขียนเลอะเทอะเมื่อเหงื่อออก
เป็นสิ่งจำเป็นมากในการแสดงมวยโบราณ เพราะจะช่วยสร้างอารมณ์ให้เกิดความคึกคักให้กับนักมวย และผู้ชมยิ่งเป็นดนตรีพื้นเมืองของอีสานด้วยแล้วยิ่งสนุก คึกคัก เร้าใจ นักมวยโบราณได้ฟังเสียงแล้วก็ฮึกเหิม ร่ายรำได้โดยไม่เหน็ดเหนื่อย คนดูก็สนุกไปด้วย
เครื่องดนตรีของมวยโบราณ เป็นดนตรีพื้นบ้านทั้งสิ้น แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ
1. เครื่องดีด ได้แก่ พิณ เป็นเครื่องดนตรีหลัก
2. เครื่องสี ได้แก่ ซอกระบอกไม้ไผ่
3. เครื่องตี ได้แก่ กลองตุ้ม(กลองสองหน้า)โปงลาง ฆ้อง ฯลฯ
4. เครื่องเป่า ได้แก่ แคน โหวด
ส่วนเพลงที่ใช้ตีประกอบนั้น มวยโบราณจะอาศัยจังหวะจากเสียงกลองและเครื่องตีประกอบ จังหวะอื่นๆ เป็นตัวทำจังหวะให้นักมวยเต้นเหยาะย่างตามลีลาท่าฟ้อน สำหรับบทเพลงที่เหมาะที่สุด คือ บรรเลงลายภูไทเลาะตูบ