เที่ยวอีสาน

วนอุทยานเขากระโดง บุรีรัมย์

วนอุทยานเขากระโดง ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ศาสนาและทางธรณีวิทยาที่สำคัญของประเทศไทย จึงมักเป็นเป้าหมายของใครหลายคนในวันหยุดยาว วันนี้ esan108.com จะพาทุกท่านมาดูกันว่า ในแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อแห่งนี้ มีสถานที่ท่องเที่ยวอะไรแอบแฝงอยู่บ้าง เผื่อวันหยุดยาวคราวหน้า จะได้แวะเวียนไปเที่ยวกัน มาเริ่มกันที่

กู่โบราณ เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง ถูกสร้างขึ้นในสมัยพุทธกาล ซึ่งอยู่ในช่วงที่พระพุทธเจ้ายังไม่เป็นที่ยอมรับ จึงต้องมีการสร้างรอยพระพุทธบาทขึ้น เพราะเชื่อว่าพระพุทธเจ้าจะประทับรอยพระพุทธบาทเอาไว้ในพื้นที่ที่เสด็จเดินทางไปเทศนาธรรม จากความเชื่อนี้ จึงมีการสร้างรอยพระพุทธบาทจำลองขึ้นมากมายทั่วประเทศ

พระสุภัทรบพิตร ในพระเศียรของพระสุภัทรบพิตรมีพระธาตุบรรจุอยู่ เป็นที่สักการบูชาของพุทธศาสนิกชนและมักเดินทางมาค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะในช่วงวันเข้าพรรษาและวันพระใหญ่จะมีชาวบุรีรัมย์มาทำบุญเป็นจำนวนมาก และจากจุดนี้ก็ถือเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาเยือนเช่นกัน เพราะมีทัศนียภาพที่สวยงาม เนื่องจากอยู่บนยอดเขา เมื่อมองออกไปจะเห็นทัศนียภาพของตัวเมืองบุรีรัมย์

ปล่องภูเขาไฟ มีอายุประมาณ 30,000 – 900,000 ปี เป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทมาหลายพันปีแล้ว และเป็น 1 ใน 6 ของภูเขาไฟบุรีรัมย์ที่ยังคงมีสภาพปากปล่องที่สมบูรณ์ ซากปากปล่องเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว ด้านทิศใต้จะเป็นเขาใหญ่ มองเห็นอย่างชัดเจน ส่วนยอดเนินของปล่องด้านทิศเหนือเป็นขอบปล่องปะทุ ซึ่งปัจจุบันกลายสภาพเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ เป็นสถานที่ที่นิสิต นักเรียน นักศึกษาเข้ามาศึกษาเกี่ยวกับธรณีวิทยา การเกิดขึ้นและดับของภูเขาไฟเป็นประจำ

สะพานแขวนเขากระโดง ถูกสร้างขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เป็นสะพานแขวนที่ให้นักท่องเที่ยวได้เดิน ด้านล่างเป็นแอ่งภูเขาไฟเก่า ใกล้ๆกันจะมีร้านกาแฟสดและพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ใครที่เดินมาถึงตรงนี้ ก็สามารถแวะพักตรงบริเวณนี้ได้ เป็นอีกจุดหนึ่งที่มีวิวค่อนข้างสวยมากทีเดียว

สะพานพิสูจน์ศรัทธา หรือที่นักท่องเที่ยวเรียกกันว่า บันไดนาคราช สร้างขึ้นเมื่อปี 2512 เพื่อเป็นทางเดินขึ้นไปสักการะพระสุภัทรบพิตร ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขากระโดง และในช่วงก่อนวันออกพรรษาและวันออกพรรษาของทุกปี จะมีการละเล่น พื้นบ้านในงานประเพณีขึ้นเขากระโดงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งนักท่องเที่ยวและชาวบุรีรัมย์จะร่วมกันทำบุญและประกวดกวน ข้าวทิพย์– ตักบาตรเทโวโรหณะด้วย

การเดินทาง

– เส้นทางจากบุรีรัมย์ ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 219 (บุรีรัมย์-ประโคนชัย) ประมาณ 6 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้าย เข้าวนอุทยานฯ

– เส้นทางจากนครราชสีมา ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 226 (นครราชสีมา-สุรินทร์) ประมาณ 130 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าวนอุทยานฯ

– เส้นทางจากสุรินทร์ ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 226 ระยะทาง 50 กิโลเมตร พบสี่แยกแล้วเลี้ยวซ้ายไปอำเภอประโคนชัย ประมาณ 1 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าวนอุทยานฯ

วันหยุดนี้ ใครอยากไปสัมผัสธรรมชาติพร้อมชมแหล่งธรณีวิทยา วนอุทยานเขากระโดง จังหวัด บุรีรัมย์ เป็นอีกที่หนึ่งที่เราแนะนำ

แผนที่

ภาพ 360 องศา



ขอขอบคุณรูปภาพจาก  burirambta.wordpress.com, noappointmentmdaz.com, phanomrungpuri.co.th

แชร์
Fern Esan108

สาวอีสานหลานย่าโม แต่ไปเรียนไกลถึงเชียงใหม่ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ สปป.ลาว เป็นผู้ชื่นชอบการเขียนบทความทั้งไทยและเทศ และเน้นสาระประโยชน์แก่ผู้อ่านเป็นสำคัญ