อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ มุกดาหาร

ถ้าพูดถึงจังหวัดมุกดาหาร สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่เป็นที่รู้จักกันดีต้องยกให้ อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ หรือนักท่องเที่ยวส่วนมากจะเรียกสั้น ๆ ว่า ภูผาเทิบ

อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ ชื่อเดิมคือ อุทยานแห่งชาติมุกดาหาร ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองและอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร เป็นภูเขาหินทราย ที่ถูกกัดกร่อนโดยธรรมชาติจากน้ำ ลมและแดดเป็นเวลาหลายล้านปี จนเกิดเป็นก้อนหินทรายรูปต่างแปลกตา อุทยานแห่งชาติมีสภาพป่าที่สมบูรณ์ มีป่าเต็งรังบริเวณลานหินหรือภูเขาหิน และในฤดูฝนต่อฤดูหนาวจะเต็มไปด้วยไม้ดอกงดงามนานาชนิด ป่าเบญจพรรณบริเวณหุบเขา

คำว่า เทิบ เป็นภาษาอีสาน แปลว่า การซ้อนกันเป็นชั้น ๆ (ดูเพิ่มเติม พจนานุกรมภาษาอีสาน)

มีปรากฏการณ์และธรรมชาติที่สวยงาม หินมีลักษณะหรือรูปทรงแปลกๆ ถ้ำที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ น้ำตกและน้ำซับตลอดปี ตลอดจนมีสัตว์ป่านานาชนิด มีเนื้อที่ประมาณ 30,312.5 ไร่ หรือ 48.5 ตารางกิโลเมตร

ในปี พ.ศ. 2527 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายให้มีการอนุรักษ์ป่าใกล้จังหวัดและอำเภอต่าง ๆ โดยให้ตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน หรือสวนรุกขชาติ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

จากการสำรวจพบว่าบริเวณภูนางหงษ์ ภูถ้ำพระ ภูหลังเส ภูหินเทิบ และภูมโน อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงบังอี้ เนื้อที่ประมาณ 49.26 ตารางกิโลเมตร มีสภาพเป็นภูเขาสูงชันเป็นเทือกเขาติดต่อกัน มีป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง มีหน้าผาสูง และลานหินกว้างและยาว ประกอบด้วยหินรูปร่างต่างๆ วางซ้อนทับกันอยู่ มีถ้ำที่สวยงาม  และจึงได้เสนอให้จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2527

ในระหว่างการดำเนินการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติแห่งนี้ ได้มีราษฎรคัดค้านและต่อต้านการจัดตั้ง เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับการเก็บหาของป่าและการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องฝ่ายต่าง ๆ ได้แก้ปัญหาดังกล่าวจนเป็นที่เข้าใจ และทางสภาตำบลบ้านแก้งได้มีมติยืนยันและสนับสนุนให้ทางราชการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ

และในปี พ.ศ. 2530 จึงได้กำหนดบริเวณป่าดงบังอี้ ตั้งอยู่ตำบลศรีบุญเมือง ตำบลคำอาฮวน ตำบลดงเย็น ตำบลนาสีนวน อำเภอเมือง และตำบลบ้านแก้ง อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร เป็นอุทยานแห่งชาติมุกดาหาร นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 59 ของประเทศไทย

ต่อมาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้เปลี่ยนชื่ออุทยานแห่งชาติให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับจุดเด่น และศักยภาพที่สำคัญของพื้นที่ที่จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ จึงเปลี่ยนชื่ออุทยานแห่งชาติมุกดาหาร เป็นอุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ

ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศประกอบด้วยภูเขาสูงชันหลายเทือกเขาติดต่อกัน คือ ภูนางหงษ์ ภูถ้ำพระ ภูหลังเส ภูหินเทิบ ภูหมากยาง ภูโป่ง ภูมโน มียอดเขาภูจอมศรีเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด ประมาณ 420 เมตรจากระดับน้ำทะเล

มีสภาพเป็นภูเขาหินตลอดทั้งมีหินกว้างยาวและหินทับซ้อนกันในรูปต่างๆ หน้าผาสูงชัน และดินส่วนใหญ่เป็นดินปนทราย เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย เช่น ห้วยตาเหลือก ห้วยสิง ห้วยสะพาย ห้วยเรือ ห้วยบอน ห้วยช้างชน ห้วยไค้ และห้วยมะเล เป็นต้น

นักท่องเที่ยวสามารถเดินไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ที่ลัดเลาะไปตามลานหินที่มีชื่อว่า ลานมุจลินท์ โดยในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม บริเวณลานหินจะดอกหญ้าหลากสี ทั้ง ดุสิตา สร้อยสุวรรณา สรัสจันทร ทิพเกสร เป็นต้น

และที่ขาดไม่ได้เเหมือนกับเป็นจุดเด่นที่นักท่องเที่ยวต้องมาถ่ายรูปนั่นคือ ผาอูฐ หน้าผาที่มีหินรูปร่างคล้ายอูฐทะเลทรายตั้งอยู่กลางลาน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากฝีมือของธรรมชาติที่สวยงาม และจุดนี้ก็ยังสามารถชมวิวหุบเขาด้านล่างได้อีกด้วย

ลักษณะภูมิอากาศ
อุทยานแห่งชาติมีสภาพภูมิอากาศแบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน – เดือนพฤศจิกายน ฤดูหนาว ระหว่างเดือนธันวาคม – เดือนมกราคม ฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนพฤษภาคม

พืชพรรณและสัตว์ป่า
สภาพป่าประกอบด้วยป่าเต็งรังประมาณ ร้อยละ 60 ของพื้นที่ ได้แก่ เต็ง รัง เหียง พยอม กระบก เป็นต้น ร้อยละ 30 ของพื้นที่เป็นป่าเบญจพรรณ ได้แก่ แดง พะยูง ประดู่ มะค่าโมง และตะแบก เป็นต้น  และอีกร้อยละ 10 ของพื้นที่เป็นป่าดิบแล้ง ได้แก่ เขลง ตะเคียนหิน โมกขาว ติ้วขาว ติ้วขน และลำดวนดง เป็นต้น

สัตว์ป่าที่พบเห็นโดยส่วนใหญ่เป็นสัตว์ขนาดเล็ก ได้แก่ หมูป่า กระต่าย กระรอก กระแต เก้ง หมาจิ้งจอก อีเห็น ลิง ไก่ป่า และนกนานาชนิด

การเดินทางที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ ตั้งอยู่บริเวณภูผาเทิบ อยู่ห่างจากอำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร ประมาณ 17 กิโลเมตร โดยเดินทางไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 2034 สายมุกดาหาร-อำเภอดอนตาล ประมาณ 14 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยาง แล้วเลี้ยวขวาอีก 2 กิโลเมตร จะถึงอุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ

ข้อมูลติดต่อเพิ่มเติม
25 หมู่ 5 บ้านคอนสาย ต.นาสีนวน อ.เมือง จ.มุกดาหาร 49000
โทร. 0 4267 6474 , 0 4260 1753

แผนที่เดินทางมาอุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ

ภาพจากคุณ yaipearn

แชร์
เซียงเหมี่ยง

เด็กผู้ชายบ้านนอก ที่เกิดและโตท่ามกลางความเป็นอีสาน จนซึมซับกลายเป็นความชื่นชอบและสนใจในประเพณี วัฒนธรรม ภาษา และอีกหลาย ๆ อย่าง จนได้นำสิ่งเหล่านี้มาบอกเล่าในเว็บไซต์ อีสานร้อยแปด นั่นเอง