หลังจากที่ได้สักการะกราบไหว้ศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้องแห่งเมืองมุกดาหารแล้ว อีกหนึ่งสถานที่ที่ยังเป็นที่ศรัทธาของเมืองมุกดาหารก็คือ “ศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมือง” จังหวัดมุกดาหาร ที่เมื่อกราบศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้องแล้วต่างก็มาที่นี่เป็นอันดับต่อไป มีการพัฒนาการสร้างมาอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงตอนนี้รูปแบบที่เห็นชัดและหาง่ายที่สุด ก็เป็นศาลแบบจีน มองไปก็รู้ได้ หาได้ง่าย ถามใครก็รู้จัก แบบนี้นักท่องเที่ยวคนไหนที่ไปไม่ถูก สามารถถามทางจากชาวมุกดาหารได้เลย สังเกตง่าย ไปถูกได้อย่างแน่นอน
สำหรับประวัติความเป็นมา ก่อนที่จะกลายเป็นศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมืองนั้น กลับเป็นเรื่องที่ไม่อาจมีใครทราบได้อย่างแน่ชัดนัก เพราะไม่มีเอกสารใด หรือเรื่องเล่าใด ที่พอจะบอกได้เลยว่า ศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมืองนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
“ในยุคที่เจ้ากินรีเป็นผู้ก่อตั้งเมืองมุกดาหาร เชื่อว่าในตอนนั้นก็คงมีการสร้างศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมืองขึ้นมาพร้อมๆกับการสร้างเมือง และการสร้างวัด ทำให้บุคคลส่วนใหญ่ที่เกิดหลังจากตอนนั้นก็ได้พบเจอกับศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมืองแล้ว จึงสันนิษฐานว่ามีการสร้างขึ้นมาในสมัยนั้น และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คอยเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวเมืองมุกดาหารจนวันนี้”
ชาวเมืองมุกดาหาร กราบไหว้ศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมือง เพราะศรัทธาในเรื่องของการปกปักรักษาชาวเมืองให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ชาวเมืองมุกดาหารทุกคนอยู่เย็นเป็นสุขเพราะมีเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมืองคอยคุ้มครองอยู่ ใครที่ได้มากราบไหว้แล้วก็จะอยู่เย็นเป็นสุขโดยตลอด ไม่พบเจอกับความเดือดร้อนใจในบ้านในครอบครัว ส่วนใหญ่แล้วก็มาขอพรเพื่อให้ครอบครัวนั้นเป็นสุข ด้วยแรงศรัทธาของชาวเมือง ทำให้ศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมืองที่เป็นศาลไม้แบบธรรมดาๆ กลายเป็นศาลแบบจีนที่ก่อสร้างขึ้นมาอย่างวิจิตรงดงาม ต้นเสาในศาลทำมาจากไม้ชัยพฤกษ์ มีการก่อสร้างวาดลวดลายสวยงามยิ่งนัก ความเชื่อเรื่องการปกปักรักษาบ้านเมืองของเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมืองนั้นยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน
ถ้าเดินทางไปยังจังหวัดมุกดาหารแนะนำว่าให้เดินทางไปไหว้ศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้อง และศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมืองด้วย เพื่อขอพรให้ครอบครัวร่มเย็นเป็นสุข แต่ถ้าจะไปช่วงที่มีการจัดการบวงสรวง แนะนำว่าเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือตรงกับวันวิสาขบูชา เพราะในวันนั้นจะเป็นวันบวงสรวงทั้งศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้องและศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมืองพร้อมกัน หนึ่งปีมีหนึ่งครั้งเท่านั้น และท่านก็จะได้สัมผัสวัฒนธรรมต่างๆของชาวอีสานจังหวัดทุกดาหารอย่างใกล้ชิดอีกด้วย