เป็นชุดการแสดงที่ได้ต้นแบบมาจากชุดการแสดงจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คือ “เซิ้งเสียงแคน” เป็นการฟ้อนประกอบการเป่าแคน แสดงถึงการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาวชาวอีสานโดยใช้แคนเป็นสื่อกลาง เซิ้งแคนเป็นการแสดงฟ้อนรำที่มีความสนุกสนานด้วยท่วงทำนองและจังหวะลีลาของผู้ฟ้อนและการเป่าแคน
ทางมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรจน์มหาสารคาม (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) โดย อ.ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ เห็นควรว่าน่าจะมีการนำเอาท่าฟ้อนต่างๆรวมทั้งท่าเซิ้งมาผสมเข้าอยู่ในชุดเดียวกัน โดยเน้นถึงความสัมพันธ์ของชาวอีสานกับอาณาจักรล้านช้าง(ลาว)และอาณาจักรล้านนา จึงเกิดเป็นชุดการแสดงชื่อ “เซิ้งแคน” โดยใช้ลายดนตรีที่นิยมเล่นกันแพร่หลายทั้งสามแหล่งวัฒนธรรม คือลายเซิ้งบั้งไฟ ลายลาวดวงเดือน และลายออกซุ้มลาวแพน
ในปัจจุบันชมรมนาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมือง(วงแคน) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้สืบทอดชุดการแสดงเซิ้งแคน และยกเอาชุดการแสดงนี้เป็นชุดการแสดงหลักของชมรม ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจหลักของการออกไปแสดงเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอีสาน
– ชาย สวมเสื้อแพรแขนสั้นสีขาว นุ่งโจงกระเบน ใช้ผ้าสไบขิดมัดเอว สวมสร้อยคอและกำไลเงิน
– หญิง สวมเสื้อแขนกระบอกสีขาว ห่มสไบขิด นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ลายสร้อยดอกหมากยาวคลุมเข่า ผมเกล้ามวยประดับดอกไม้ สวมเครื่องประดับเงิน