ถ้ำเจ็ดคตหรือ “ถ้ำสัตคูหา” ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 10 ตำบลน้ำผุด อำเภอละงู ด้านทิศเหนือของน้ำตก วังสายทองห่างไปราว 2 กิโลเมตร ระยะห่างจากเขตเทศบาลตำบลกำแพง 38 กิโลเมตร เส้นทางไปมาสะดวก ลาดยางถึงบริเวณถ้ำ จึงเดินทางไปท่องเที่ยวได้ตลอดปี ถ้ำเจ็ดคตมีความกว้าง 70 – 80 เมตร ยาวประมาณ 600 เมตร แบ่งออกเป็น 7 ช่วงหรือคูหา บางช่วงมีความสูงของเพดานถ้ำ 100 – 200 เมตร มีลำคลองไหลผ่านในถ้ำ คือ คลองมะนัง ต้นน้ำเกิดจากถ้ำโตน อยู่ทางเหนือของถ้ำป่าพน อำเภอมะนัง คลองมะนังไหลออกปากถ้ำไปบรรจบกับคลองละงู ซึ่งมีต้นน้ำเกิดจากภูเขาในจังหวัดตรัง ภายในถ้ำซึ่งแบ่งเป็น 7 ช่วง มีบรรยากาศแตกต่างกัน ลำคลองไหลไปตามความคดเคี้ยวของตัวถ้ำ สายน้ำจึงมีความตื้นลึกไม่เท่ากัน ในช่วงหน้าแล้ง น้ำลึกแค่ท่วมข้อเท้า เดินลุยไปได้อย่างสบาย บางตอนอาจลึกเกิน 5 เมตร ช่วงหน้าฝน น้ำหลาก จะเดินทางเข้าไปได้ค่อนข้างยาก นักท่องเที่ยวต้องเดินลัดเลาะไปตามริมผนังถ้ำ เดินลุยน้ำ บางตอนเป็นหาดทรายผสมกรวดบ้าง บางคูหามีพื้นที่เป็นโคลนเลน ต้องระมัดระวังในการเดินเป็นพิเศษควรมีไฟฉายติดตัวไปด้วย บรรยากาศในถ้ำเงียบสงัด แทรกด้วยเสียงน้ำไหลสลับกับเสียงลุยน้ำและเสียงสนทนาจากผู้มาเยือนเป็นระยะ ๆ สิ่งที่เรียกเสียงอุทานด้วยความพึงพอใจจากนักท่องเที่ยวทั่วหน้าก็คือ ดวงตาวาววับล้อแสงไฟที่ส่องไปกระทบของกลุ่มค้างคาวที่เกาะตัวอยู่บนเพดานถ้ำ ดูราวกับกลุ่มดาวเคราะห์บนฟากฟ้าอันไกลโพ้น มีหินงอกหินย้อยอยู่ทั่วไป ก่อเกิดจินตนาการที่กว้างไกลแก่ผู้พบเห็น เมื่อเดินทางถึงคดสุดท้ายหรือคดที่เจ็ด มีลำแสงส่องจากปากถ้ำ เหมือนแสงแห่งชัยชนะมอบให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางถึงคูหาสุดท้ายใช้เวลาในการลัดเลาะไปตามผนังถ้ำลุยน้ำ ชมธรรมชาติประมาณ 30 นาที ถ้ำเจ็ดคตมีลักษณะพิเศษ แตกต่างจากถ้ำอื่น ๆ มีลำคลองลอดถ้ำ คดเคี้ยวไปตามลักษณะธรรมชาติของตัวถ้ำมีถึง 7 คูหา เป็นที่มาของชื่อถ้ำแห่งนี้ มีผู้ตั้งชื่อใหม่ว่า “ถ้ำสัตคูหา” พร้อมตั้งชื่อของแต่ละคูหา ดังนี้ คูหาที่ 1 เรียกว่า “สาวยิ้ม” ผนังถ้ำมีสีเขียวมรกตมีหินงอกหินย้อยอยู่หน้าถ้ำ คูหาที่ 2 เรียกว่า “นางคอย” มีหินงอก หินย้อย สวยงาม และฝูงค้างคาวจำนวนมาก คูหาที่ 3 เรียกว่า “เพชรร่วง” ส่วนบนของผนังถ้ำมีช่อง ให้แสงอาทิตย์ส่องลอดลงมาได้ เมื่อแสงอาทิตย์กระทบกับผนังถ้ำจึงเกิดประกายแวววาวเหมือนเพชร คูหาที่ 4 เรียกว่า “เจดีย์สามยอด” พื้นทางเดินเป็นหิน ลักษณะคล้ายดอกกุหลาบ คูหาที่ 5 เรียกว่า “ น้ำทิพย์” ตามผนังถ้ำเป็นหินย้อยสีขาว และน้ำตาล เป็นหลืบซ้อนกันมองดูคล้ายผ้าม่าน คูหาที่ 6 เรียกว่า “ ฉัตรทอง” มีหินงอก หินย้อยซ้อนเหลื่อมกันเป็นชั้นเสมือนฉัตร คูหาที่ 7 เรียกว่า “ ส่องนภา” ภายในมีหินงอก หินย้อย รูปทรงคล้ายดอกบัวคว่ำ