พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ

พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ตั้งอยู่ในบริเวณวัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา อาคารพิพิธภัณฑ์เดิมเคยเป็นที่ตั้งศาลาการเปรียญสร้างด้วยไม้ (หลังเดิม) ก่อสร้างโดยมูลนิธิพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ และศิษยานุศิษย์ กรรมการวัด และประชาชนผู้เลื่อมใสศรัทธา เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2528 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2532 ศาลาการเปรียญหลังเดิมเป็นอาคารไม้หลังไม่ใหญ่นัก เป็นสถานที่ซึ่งหลวงพ่อคูณใช้จำวัด และสนทนาธรรมกับลูกศิษย์ลูกหาและผู้นับถือศรัทธา ต่อมาหลวงพ่อคูณได้ย้ายไปจำวัดที่ศาลาการเปรียญหลังใหม่ ที่สร้างคล้ายอุโบสถตกแต่งสวยงามและสะดวกแก่ญาติโยมที่มากราบไหว้ มีห้องโถงกว้างขวาง จึงได้ปรับปรุงบริเวณศาลาการเปรียญเดิมโดยรอบ และจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ขึ้นแทน เพื่อนำเสนอเรื่องราวชีวประวัติของหลวงพ่อคูณตั้งแต่เยาว์วัย จนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ให้ญาติโยมจากทั่วสารทิศที่มากราบไหว้หลวงพ่อคูณ ได้เข้าชมเรื่องราวอัตชีวประวัติ พระเทพวิทยาคม หรือ หลวงพ่อคูณ พระเถระที่ได้รับขนานนามว่า “เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด” ชื่นชมวัตรปฏิบัติในสมณเพศที่ถือสันโดษและเป็นพระนักพัฒนา ทราบถึงแรงศรัทธามหาชนที่มีต่อหลวงพ่อคูณ รวมทั้งการบริจาคทานจำนวนมหาศาล ในโอกาสเดียวกัน อาคารพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ออกแบบอาคารโดยมหาวิทยาลัยศิลปากร และปรับปรุงโดยวิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ อำเภอด่านขุนทด ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดบ้านไร่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานเปิดพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ณ วัดบ้านไร่ เมื่อวันพุธที่ 14 ตุลาคม 2552 เวลา 14.45 น. เท่ากับว่าพิพิธภัณฑ์ หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ได้เริ่มเปิดอย่างเป็นทางการ พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ แบ่งเป็น 2 ชั้น 10 โซน
– ชั้นที่ 1 – โซน 1 ศรัทธามหาชน, โซน 2 ภิกษุสมถะแห่งดินแดนอีสาน, โซน 9 เครื่องยึดเหนี่ยวใจใฝ่ทำดี, โซน 10 ให้แล้วรวย
– ชั้นที่ 2 – โซน 3 กำเนิดผู้มีบุญ, โซน 4 ธุดงค์ 3 ประเทศ 3 พรรษา, โซน 5 พัฒนาวัดบ้านไร่, โซน 6 ทำบุญกับพระเจ้าอยู่หัว, โซน 7 มรดกทาน มรดกธรรม, โซน 8 มหาทานบารมีทวีคูณ

ขอนำพาทุกท่านเข้าสู่พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์ข่าวสด ดังนี้ เริ่มจากด้านหน้าทางเข้าประตูพิพิธภัณฑ์ ทันทีที่เราเปิดประตูเข้าไป จะพบเห็นข้อความ “ยิ่งเอามันยิ่งอด ยิ่งให้หมดมันยิ่งได้” บนบอร์ดกราฟิกใสตั้งอยู่ตรงหน้าอย่างเป็นสง่า และชวนให้ขบคิด ในแต่ละโซนจะมีนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ทำหน้าที่มัคคุเทศก์นำชมพิพิธภัณฑ์ “สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ เชิญทุกท่านเข้าไปกราบนมัสการหลวงพ่อคูณด้านในค่ะ” เสียงมัคคุเทศก์กล่าวต้อนรับผู้มาเยือนดังขึ้นเป็นระยะ ๆ
– โซน 1 ศรัทธามหาชน จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อคูณท่านั่งยอง ๆ ขนาดเท่าจริงที่มีผู้สร้างนำมาถวาย ริมฝาผนังมีภาพจิตรกรรมแสดงภาพประชาชนจากภาคต่าง ๆ มากราบนมัสการหลวงพ่อ มีบอร์ดกราฟิกเรื่อง เอกลักษณ์หลวงพ่อคูณ อาทิ การนั่งยอง รับปัจจัยใบเดียว เหยียบโฉนด เคาะหัว วัตถุมงคล เป็นต้น ตู้จัดแสดงสิ่งของที่มีผู้มีจิตศรัทธานำมาถวายหลวงพ่อ ภายใต้หัวข้อ “กูทำดี เขาจึงให้ของดีแก่กู” สิ่งของทั้งหมดที่อยู่ในตู้ประกอบด้วย เครื่องเบญจรงค์ เครื่องมุก ตู้พระธรรม และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ของส่วนใหญ่หลวงพ่อคูณยกให้คนอื่นไปหมดแล้ว
– โซน 2 ภิกษุสมถะแห่งดินแดนอีสาน ด้านฝาผนังตั้งบอร์ดรูปหลวงพ่อคูณ สมัยยังเป็นพระหนุ่ม เวลาออกบิณฑบาตจะมีสัตว์ต่าง ๆ เช่น สุนัข ไก่ นก เดินตาม ท่านก็จะโยนอาหารให้เป็นทานตลอดทาง
ส่วนบริเวณข้างบันไดขึ้นไปที่ชั้น 2 จัดแสดงสิ่งของจำลองบรรยากาศเหมือนห้องจำวัด มีบอร์ดเล่าเรื่อง “ธรรมะข้างบันได” และภาพถ่ายขาวดำใส่กรอบเป็นรูปถ่ายสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทับนั่งคู่กับหลวงพ่อคูณ จากตรงนี้ จะมีมัคคุเทศก์นำชมขึ้นไปที่ชั้น 2
– บนชั้น 2 เริ่มจากโซน 3 กำเนิดผู้มีบุญ จัดแสดงหุ่นจำลอง ประกอบเทคนิคแสงเสียง ตอนโยมแม่ฝันเห็นดวงแก้ว อันเป็นนิมิตหมายอันดีของผู้มีบุญที่กำลังจะถือกำเนิด และภาพจิตรกรรม กำเนิดผู้มีบุญ พร้อมด้วยเสียงบรรยายเรื่องราวชีวประวัติของหลวงพ่อคูณ ตั้งแต่เด็กจนถึงเมื่อท่านตัดสินใจออกบวชและตั้งจิตปณิธานช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์
– โซน 4 ธุดงค์ 3 ประเทศ 3 พรรษา จัดแสดงหุ่นจำลองย่อส่วนประกอบเทคนิคภาพเคลื่อนไหวแสงเสียง และบอร์ดกราฟิก “จาริกบุญ จาริกธรรม” นำเสนอเรื่องเส้นทางธุดงค์ 3 ประเทศ ไทย-ลาว-เขมร ยังมีการจำลองเหตุการณ์เทศนาโปรดสัมภเวสี เมื่อครั้งออกธุดงค์ ในช่วงปี พ.ศ. 2492-2495 โดยมีรูปหล่อจำลองหลวงพ่อคูณปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานกลางป่า ในสถานที่อันสงบวิเวกเพียงลำพัง จากนั้นจะใช้เทคนิคภาพจำลองมัลติมีเดียเสมือนจริง เป็นรูปเสือโคร่งและภาพวิญญาณสัมภเวสีออกมาหลอกหลอน แต่ด้วยจิตใจอันแน่วแน่ของหลวงพ่อคูณ ทำให้ภัยอันตรายไม่สามารถเข้ามากล้ำกรายได้
– โซน 5 ถ้ากูไม่ทำแล้วใครจะทำ เป็นเรื่องราวของหลวงพ่อคูณหลังจากกลับธุดงค์ ท่านได้พัฒนาวัดบ้านไร่ จัดแสดงหุ่นจำลองย่อส่วน 4 เหตุการณ์ ได้แก่ หลวงพ่อคูณสร้างโบสถ์ไม้เพื่อใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจของพระลูกวัด หลวงพ่อคูณนำชาวบ้านขุดสระน้ำเพื่อเป็นที่เก็บน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง หลวงพ่อคูณปีนขึ้นเจิมป้ายโรงเรียนวัดบ้านไร่เพื่อความเป็นสิริมงคล และหลวงพ่อคูณใช้ยอดสากตำมวลสารศักดิ์สิทธิ์ นำมาสร้างพระเครื่องให้ศิษยานุศิษย์ได้บูชา มีบอร์ดแสดงภาพของการพัฒนาวัดบ้านไร่

ข้อมูลเพิ่มเติม

พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ

แชร์
สถานที่ อีสานร้อยแปด