วัดก้ำก่อ

วัดก้ำก่อ (เป็นภาษาไต แปลว่า ดอกบุญนาค) เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองแม่ฮ่องสอน เดิมตั้งอยู่บริเวณเชิงพระธาตุดอยกองมูทางทิศใต้ ต่อมาได้ย้ายมาตั้งทางทิศตะวันออกเพื่อให้ใกล้แหล่งชุมชน และเพื่อความสะดวกสบายในการไปมาหาสู่มากกว่าเดิม เดิมบริเวณที่ตั้งวัดเป็นสวนกล้วยของเจ้าหลวงเฮินต๊ก ซึ่งเป็นผู้กำกับการตำรวจสมัยนั้น ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามวัดพระนอน วัดก้ำก่อถูกสร้างขึ้นเมื่อ วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2433 มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบไทใหญ่ (อธิวโรภิกขุ 2535 : 7, 10 ; สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน 2549 : 378 ; ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยว 2550 : 3) เจ้าอาวาสองค์แรกของวัดนี้ชื่อ ครูบาเฒ่า เป็นชาวไทใหญ่ที่บวชมาจากเมืองเชียงทอง (เจียงตอง) ชาวบ้านทั่วไปขนานนามว่า “ตุ๊เจ้าเจียงตอง” ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนเป็นอันมาก เนื่องจากท่านมี “วัตรปฏิบัติที่ดีงาม” จึงเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวไทใหญ่ ที่อพยพมาอยู่ในประเทศไทย ต่อมาเกิดความไม่สงบขึ้นในประเทศพม่า ท่านจึงอพยพเข้ามาอยู่ในเขตเมืองแม่ฮ่องสอน และท่านได้เป็นศูนย์รวม เมื่อท่านออกธุดงค์ท่านได้พบที่กว้างราบเรียบอยู่ท่ามกลางต้นไม้ต้นใหญ่ๆ และมีป่าล้อมรอบหนาทึบ เป็นพื้นที่ที่มีสภาพเหมาะสมสามารถที่สร้างวัดได้โดยไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่าหรือลำบากในการปรับพื้นที่ ท่านจึงชวนชาวบ้านเข้ามาสำรวจ และตัดสินใจสร้างวัดขึ้น ณ ที่นั้น โดยชาวบ้านผู้ศรัทธาเป็นผู้หาวัสดุก่อสร้างมา และระดมแรงงานมาสร้างวัด และครูบาเฒ่าได้มรณภาพลงในช่วง พ.ศ. 2451-2453 (อธิวโรภิกขุ 2535 : 7-10 ) ต่อมามีพระสงฆ์รูปหนึ่งชื่อพระอาจารย์หม่อง เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สองซึ่งเป็นพระที่บวชมาจากรัฐไทใหญ่ ได้เข้ามาอาศัยอยู่และเป็นเจ้าอาวาสวัด โดยทำการเผยแพร่หลักธรรมต่างๆ เจริญรอยตามครูบาเฒ่าทำให้การศึกษาเจริญเป็นลำดับ (อธิวโรภิกขุ 2535 : 10) สมัยครูบาแดง หรือ ครูบาอูแลง เจ้าอาวาสองค์ที่สาม นับเป็นช่วงที่วัดก้ำก่อมีการพัฒนาอย่างเจริญมากในทุกๆ ด้าน เพราะท่านจะเน้นหนักด้านธุดงค์วัตร แต่ยังให้การศึกษาและการพัฒนาควบคู่กันไปด้วย เมื่อรับการนิมนต์ไปที่ใด หรือธุดงค์ไปที่ใดท่านจะใส่ใจทำนุทั้งการศาสนาและการศึกษา และพัฒนาทุกๆ ด้านควบคู่กันไปด้วย (อธิวโรภิกขุ 2535 : 11) สมัยพระวิมล วิมโล เจ้าอาวาสองค์ที่สี่ ได้ให้การทำนุบำรุงศาสนา และการศึกษาเช่นกัน แต่ท่านเป็นผู้สนใจในด้านความอยู่ยงคงกะพัน คาถาอาคม (อธิวโรภิกขุ 2535 : 12) สมัยพระสุนทร สุนทโร เจ้าอาวาสองค์ที่ห้า สภาพการศึกษาและการพัฒนาในด้านต่างๆ ของวัดเริ่มตกต่ำลง ในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีการส่งเสริมการศึกษาจากรัฐบาลกลาง การเรียนการสอนเน้นภาษา “ไทยกลาง” ที่ได้เริ่มต้นทำเป็นครั้งแรก จึงทำให้เกิดการสับสนไม่เป็นที่ยอบรับของคนในท้องถิ่นที่เคยชินกับภาษาไทใหญ่ ที่มีการปลูกฝังกันมาแต่อดีต (อธิวโรภิกขุ 2535 : 12) สมัยครูบาอุตตะมะ เจ้าอาวาสองค์ที่หก เป็นช่วงที่การศึกษาและการพัฒนาวัดตกต่ำที่สุด แม้จะมีโรงเรียนในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา (อธิวโรภิกขุ 2535 : 12) จากสภาพปัญหาของวัดก้ำก่อข้างต้นพระราชวีรากรเจ้าคณะจังหวัดในขณะนั้น ท่านจึงได้แต่งตั้งให้พระมหาบุญรักษ์ สุปันโญมารักษาการเจ้าอาวาสวัดก้ำก่อและต่อมาได้เลื่อนเป็นเจ้าคณะจังหวัดซึ่งมีนามว่า พระสุมณฑ์ศาสนกิตติ์ ปัจจุบันมีนามว่า “พระราชวีราคม” ปัจจุบันพระราชวีราคมเป็นเจ้าคณะจังหวัดแม่ฮ่องสอนและเป็นเจ้าอาวาสวัดก้ำก่อ (อธิวโรภิกขุ 2535 : 14-20) ลักษณะทางสถาปัตยกรรม วัดก้ำก่อมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบไทใหญ่ คือมีการสร้างวัดโดยฝีมือของช่างชาวไทใหญ่ที่ได้เข้ามาอาศัยและได้ศรัทธาในวัดนี้ วัดก้ำก่อมีสิ่งปลูกสร้างที่โดดเด่น คือมีซุ้มประตูทางเข้าไปสู่ศาลาการเปรียญ หรือที่เรียกว่า “ส่างหว่าง” เป็นเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของอาคารทางพระพุทธศาสนาในจังหวัดแม่ฮ่องสอนตามแบบสถาปัตยกรรมไต (ไทใหญ่) จะมีเฉพาะอาคารวัดเท่านั้นไม่มีในอาคารบ้านเรือนของชาวบ้านทั่วๆ ไป ในสมัยก่อนเมื่อจะเข้าไปในวัดชาวบ้านจะนิยมถอดรองเท้าไว้แล้วเดินเข้าวัดทาง “ส่างหว่าง” เนื่องจากเชื่อกันว่าถ้าสวมรองเท้าเข้าไปในวัดนอกจากจะไม่เคารพสถานที่แล้ว เวลาเดินออกจากวัดนั้นยังจะมีดินมีทรายติดรองเท้าไปด้วยถือว่าเป็นบาปมาก และเพื่อไม่ให้นำสิ่งสกปรกสิ่งไม่ดีไม่งามทั้งหลายเข้าไปในวัด และในขณะเดียวกันก็จะไม่เอาอะไรออกจากวัดไป ดังนั้นเมื่อเรายืมสิ่งของจากวัด เช่น ถ้วย จาน ฯลฯ ของวัดไปใช้ในงานบุญต่างๆ แล้ว เวลาส่งคืนวัดหากสิ่งของใดขาดไปต้องรีบเอาสิ่งนั้นในบ้านมาใช้แทนหรือไม่ก็ซื้อใหม่มาใช้แทนทันที โดยจะถือว่าสิ่งของของตนไปอยู่ในวัดดีกว่าสิ่งของในวัดมาอยู่ในบ้านของตน ส่างหว่างเป็นสถาปัตยกรรมไต (ไทใหญ่) ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2484 โดยนายส่วยจิ่ง นางยุ้น ตรีทอง เป็นเจ้าศรัทธาสร้างถวาย (อธิวโรภิกขุ 2535 : 23 ; สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน 2549 : 337)

แชร์
สถานที่ อีสานร้อยแปด