วัดบัวโรย และพิพิธภัณฑ์วัดบัวโรย สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2430 โดยมีนายโชติ นางคล้อย โชติช่วง เป็นผู้ดำเนินการสร้างวัด ได้ขนานนามว่า “วัดโชติบัว” เพื่อเป็นเกียรติอนุสรณ์และศักดิ์ศรีแก่ผู้สร้าง และสถานที่สร้างมีบัวหลวงขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ต่อมาได้เรียกเพี้ยนไปเป็น “วัดชวดบัว” เพราะตั้งอยู๋ริมคลองชวดบัว และได้ใช้นามว่า “วัดบัวโรย” ในคราวได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2457 และผูกพัทธสีมาในปีเดียวกัน ในด้านการศึกษา ทางวัดได้เปิดสอนพระปริยัติธรรม โรงเรียนสอนเด็กก่อนเกณฑ์เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2517 นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนการศึกษาของชาติ โดยให้ทางราชการสร้างโรงเรียนประชาบาล สอนระดับประถมศึกษาขึ้นในที่วัด ภายในวัดบัวโรย มีอาคารเสนาสนะต่างๆ ดังนี้ อุโบสถ สร้างมาเมื่อปี พ.ศ. 2477 ที่ฝาผนังมีภาพจิตกรรม กุฏิสงฆ์ จำนวน 26 หลัง ส่วนมากเป็นอาคารไม้ หอสวดมนต์เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ สร้างเมื่อปีพ.ศ. 2500 ศาลาการเปรียญเป็นอาคารไม้ สำหรับปูชียวัตถุมี พระประธานในอุโบสถ หล่อด้วยโลหะทองเหลือ หน้าตักกว้าง 1.20 เมตร แม่โมด ฟักอุดม สร้างไว้ก่อน พ.ศ. 2457 พระจงกรมนามว่า “หลวงพ่อเพชร” นายชุน บ้านบางประกอกฝั่งธนบุรี เป็นผู้สร้างไว้เมื่อปี พ.ศ. 2456 นอกจากนี้ ยังมีพิพิธภัณฑ์วัดบัวโรย ซึ่งแสดงโบราณวัตถุ ทั้งทางด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่ เป็นการจัดตั้งเพื่อให้เกิดประโยชน์ด้านศิลปวัฒนธรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมประจำถิ่นให้คนภายนอกรับรู้ และยังเป็นการเสริมสร้างให้ชุมชนเข้มแข็ง ภายในจัดแสดงวิถีชีวิตในอดีตของชุมชนในตำบลบางเสาธง จัดแสดงอุปกรณ์เครื่องใช้ในการดำรงชีวิต ฯลฯ ทั้งนี้ยังเป็นการตอบสนองโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลบางเสาธงอีกด้วย โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ – เพื่อเสริมสร้างแหล่งการเรียนรู้และถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นทางด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อการนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ครอบครัว ชุมชน และสังคม – เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนด้วยมิติวัฒนธรรม โดยนำระบบคุณค่าทางวัฒนธรรมการมีคุณธรรม จริยธรรมตามหลักธรรมของศาสนา การมีจิตสำนึกรักษ์และภาคภูมิใจในถิ่นกำเนิด มาพัฒนาและแก้ไขปัญหาภายในชุมชน สังคมอย่างเป็นองค์รวม – เพื่อพัฒนาศักยภาพทุนทางสังคมที่มีรากฐานมาจากวัฒนธรรมท้องถิ่น ให้มีความเข้มแข็งและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน – เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคม ในการขับเคลื่อนโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนไปสู่ประชาชน