วัดหัวข่วง

วัดหัวข่วง ตั้งอยู่บนถนนมหาพรหม ใจกลางเมืองน่าน สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2061 โดยเจ้าผู้ครองนครน่าน ไม่ปรากฏว่าเป็นพระองค์ใด โดยคำว่าหัวข่วงนั้นหมายถึง ทิศเหนือของลานกว้างหรือสนามหลวงของเมือง ดังนั้นวัดนี้จึงตั้งอยู่ทางทิศเหนือใกล้กับหอคำหรือสถานที่ว่าราชการของเจ้าเมืองน่านในอดีต ซึ่งในปัจจุบันคือที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน วัดนี้มีหลักฐานการบูรณปฏิสังขรณ์อยู่หลายครั้งตั้งแต่ในสมัยของเจ้าอนันตวรฤทธิเดช ใน พ.ศ. 2454 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 4 จนในปี พ.ศ. 2523 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ สิ่งสำคัญของวัดหัวข่วงนี้ ได้แก่ พระวิหาร เจดีย์ และหอไตรที่มีเอกลักษณ์ โดยพระวิหารมีหน้าบันอ่อนช้อยลายพรรณพฤกษา ส่วนซุ้มประตูหน้าต่างเป็นลายปูนปั้นรูปใบผักกาด ซึ่งเป็นศิลปะของทางตะวันตกที่ถ่ายทอดด้วยฝีมือช่างน่าน นอกจากนี้เจดีย์ของวัดยังเป็นศิลปกรรมล้านนา คือ เจดีย์มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงปราสาท เรือนธาตุมีซุ้มจระนำ สี่ด้านประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยสำริด องค์ระฆังมีรูปทรงคล้ายกับของวัดโลกโมฬี อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนหอไตรตั้งอยู่ใกล้กับพระเจดีย์มีหลังคาทรงจั่วลดชั้นแบบปั้นหยา ฝาผนังทำด้วยไม้ประดับลวดลายกระจก เป็นศิลปะล้านนาผสมผสานกับศิลปะพม่าได้อย่างงดงามลงตัว

ข้อมูลเพิ่มเติม

วัดที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ, พระวิหารหน้าบันลายพรรณพฤกษา, เจดีย์ทรงปราสาท, หอไตรศิลปะล้านนาผสมผสานกับศิลปะพม่า

แชร์
สถานที่ อีสานร้อยแปด