วัดใหญ่อินทาราม

วัดใหญ่อินทาราม เป็นอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เป็นวัดเก่าแก่โบราณคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดชลบุรี สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่ที่ถนนเจตน์จำนงค์ ตำบลบางปลาสร้อย อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี เป็นวัดเก่าแก่ ตามประวัติแต่เดิมชื่อ “วัดอินทาราม” แต่ชาวบ้านเรียกกันจนติดปากว่า “วัดใหญ่” ปัจจุบันจึงเรียกว่าวัดใหญ่อินทาราม มีอายุเก่าแก่นานร่วม 600 ปี ทั้งยังเป็นโบราณสถานสำคัญของพระพุทธศาสนาคู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งที่พระนครอินทร์ หรือพระนครอินทราธิราช (สมเด็จพระนครินทราธิราช) พระมหากษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งกรุงศรีอยุธยา เสด็จประพาสเมืองชลบุรี โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เมื่อเสด็จฯ มาถึงแล้ว ได้ทอดพระเนตรเห็นทิวทัศน์อันน่ารื่นรมย์ไปด้วยแมกไม้ชายทะเล ได้ยินเสียงคลื่นลมในยามราตรีกาล เหมาะสำหรับการประพฤติพรหมจรรย์ของพระภิกษุสงฆ์ ผู้มุ่งหวังต่อการปฏิบัติธรรม จึงมีพระราชศรัทธาได้สร้างวัดขึ้นมา พระราชทานนามพระอารามนี้ ว่า “วัดอินทาราม” เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชนามเดิมของพระองค์ว่า “พระนครอินทร์” ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดใหญ่อินทาราม” ทั้งนี้ วัดใหญ่อินทารามแห่งนี้ มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้าน เป็นที่เลื่อมใสของชาวเมืองชล คือ หลวงพ่อเฉย หลวงพ่อเฉยเป็นพระพุทธปฏิมาสำริดทรงเครื่องศิลปะสมัยอยุธยา เดิมทีหลวงพ่อเฉยเป็นพระพุทธรูปประจำอยู่วัดสมรโกฏ เป็นวัดที่สร้างในยุคเดียวกับวัดใหญ่อินทาราม (พระอารามหลวง) แต่ต่อมาภายหลังวัดสมรโกฏไม่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษาและขาดผู้อุปถัมภ์บำรุง จึงกลายเป็นวัดร้าง และวิหารที่ประทับของหลวงพ่อเฉยก็ชำรุดทรุดโทรม ขาดผู้บูรณะซ่อมแซม จึงผุพังไปตามกาลเวลา ทำให้หลวงพ่อเฉย ต้องประดิษฐานประทับนั่งอยู่กลางแจ้ง ท่ามกลางแสงแดดและลมฝนอยู่นานหลายปี เป็นที่สังเวชต่อสายตาของผู้พบเห็นยิ่ง ชาวบ้านจึงได้ขนานนามท่านว่า หลวงพ่อเฉย เพราะท่านประทับนั่งเฉยอยู่กลางแจ้ง ฝนตก แดดออก ถูกต้องท่าน ท่านก็ไม่ได้บ่นได้ว่าอะไร ต่อมา ชาวบ้านทนดูไม่ได้อีก จึงได้ประกอบพิธีอัญเชิญย้ายท่านจากวัดร้างสมรโกฏมาอยู่ ณ วัดใหญ่อินทาราม (พระอารามหลวง) ตั้งอยู่เลขที่ 858 ถนนเจตน์จำนงค์ ต.บางปลาสร้อย อ.เมือง จ.ชลบุรี อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ประชาชนได้สักการะหลวงพ่อเฉย ในช่วงเทศกาลงานประจำปีของจังหวัดชลบุรี วัดใหญ่อินทาราม จึงได้สร้างหลวงพ่อเฉยองค์จำลองขึ้น เพื่อนำแห่รอบเมืองชลบุรี แต่ด้วยเป็นพระพุทธรูปจำลององค์ใหญ่ ที่มีลักษณะเหมือนและมีขนาดเท่าองค์จริง มีน้ำหนักมาก จึงนำขึ้นแห่ได้เพียงปีเดียว และได้อัญเชิญมาประดิษฐานให้ประชาชนได้กราบไหว้ที่บริเวณด้านล่างภายในวัดอีกองค์หนึ่งด้วย หลวงพ่อเฉย เป็นพระพุทธรูปที่มีบารมีอิทธิฤทธิ์ สามารถบันดาลให้เด็กเล็กๆ ที่เจ็บป่วยออดแอด สามวันดีสี่วันไข้ กลับกลายเป็นเด็กที่เลี้ยงง่ายอย่างน่าพิศวง ชาวบ้านที่มีลูกเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นประจำ มักจุดธูปเทียน ถวายเป็นลูกหลวงพ่อเฉย โดยจะฉีกชายจีวรที่ห่มคลุมองค์หลวงพ่อไปผูกข้อมือเด็ก เด็กก็จะหายโรค หายภัย เลี้ยงง่าย เมื่อเห็นว่าผ้าเหลืองที่คลุมองค์หลวงพ่อถูกฉีกไปมากเข้า ชาวบ้านก็จะมีศรัทธานำจีวรมาห่มให้ใหม่อย่างไม่รู้จักจบสิ้น หรือหากผู้ใดของหาย เมื่อเข้ามาบนบานต่อหลวงพ่อเฉยแล้ว ก็จะได้ของคืนเกือบทุกราย จึงเป็นที่เคารพสักการบูชาอยู่เสมอมา วัดใหญ่อินทาราม ตั้งอยู่ใจกลางเมืองชลบุรี เคยเป็นวัดที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งเป็นพระยาวชิรปราการ ได้เคยเสด็จฯ มาพักรวบรวมไพร่พล เพื่อกอบกู้เอกราช และปราบนายทองอยู่น้อย หรือนายทองอยู่นกเล็ก ที่ประพฤติตนเป็นมิจฉาชีพ คิดมิชอบต่อบ้านเมือง วัดใหญ่อินทาราม ได้รับการประกาศจากทางราชการ ตั้งเป็นวัดเมื่อ พ.ศ. 2325 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2335 ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2518 ปัจจุบัน พระราชสิทธิวิมล (เอนก ฐานิสสโร) เป็นเจ้าอาวาส ที่นี่ยังมีสิ่งที่น่าสนใจให้คุณได้ดูได้ชมกันอีก ได้แก่ โบสถ์ มีฐานแอ่นโค้งเป็นท้องสำเภาและมีการต่อพาไลเป็นหลังคายื่นออกมา มีเสารองรับทางด้านหน้า ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบนี้เป็นที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลายถึงต้นรัตนโกสินทร์ เครื่องบนหรือหลังคาทำซ้อนกันสองชั้น มีใบระกาหางหงส์เช่นวัดทั่วไป ส่วนช่อฟ้าทำเป็นรูปเทพนมหันหน้าออกทั้งสองด้าน มีความงามโดดเด่นสะดุดตามาก หน้าบันทั้งด้านหน้าและหลังของโบสถ์ปั้นลายปูนปั้นเป็นชั้นช่อดอกไม้ ใช้ถ้วยกระเบื้องเคลือบอย่างจีนมาประดับ กรอบประตูหน้าต่างก็ทำเช่นเดียวกัน ลักษณะเช่นนี้เป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 จิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ เป็นภาพจิตรกรรมสีฝุ่น บนผนังระหว่างช่องหน้าต่างทั้งสองข้าง เขียนเรื่องทศชาติชาดก ตอนบนเป็นภาพเทพชุมนุมเรียงกันสามชั้น ผนังด้านหน้าตรงข้ามพระประธานเป็นภาพมารผจญ มีภาพทหารชาติต่างๆ เช่น ยุโรป จีนจาม ถืออาวุธต่างชนิดกัน ผนังด้านหลังพระประธานเป็นเรื่องไตรภูมิมีแผนภูมิจักรวาล ป่าหิมพานต์ นรกภูมิ และพุทธประวัติ ใครสนใจอยากรู้จักต้นนารีผลก็สามารถชมที่ผนังหลังพระประธานนี้ อยู่ทางตอนล่างของภาพ เป็นภาพต้นไม้ที่ออกผลคล้ายร่างกายมนุษย์ บนเพดานเขียนเป็นลายดาวเพดานบนพื้นสีแดง ส่วนขื่อเขียนเป็นลายไทยคล้ายลายผ้าโบราณ เสาหกคู่ที่รองรับขื่อเขียนลายทองทุกต้น ทางวัดได้ร่วมกับกรมศิลปากรดูแลรักษาจิตรกรรมในโบสถ์ไว้ในสภาพที่สมบูรณ์ และทำคำบรรยายประกอบจิตรกรรมแต่ละด้านไว้ด้วย วิหารเล็กทิศเหนือของโบสถ์ ฐานวิหารมีลักษณะท้องช้างเช่นเดียวกับโบสถ์ บานประตูทางเข้าวิหารตกแต่งด้วยลายรดน้ำปิดทองภาพต้นนารีผล ส่วนภาพเขียนภายในวิหารเลือนจนแทบมองไม่เห็นแล้ว มณฑปพระพุทธบาท อยู่หลังโบสถ์ มีการปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ. 2492 ภายในมีพระพุทธบาทเบื้องซ้ายขนาด 62×149 ซม. เปิดให้เข้านมัสการในช่วงตรุษจีนประมาณเดือน ก.พ. เท่านั้น ผนังภายในมณฑปมีภาพเขียนที่เขียนขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลปัจจุบัน เกี่ยวกับการกอบกู้อิสรภาพและการตั้งทัพที่วัดใหญ่อินทารามของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และมีภาพวิถีชีวิตประเพณีของชาวเมืองชล รวมถึงประเพณีวิ่งควาย แต่ละภาพมีคำโคลงบรรยายประกอบ หลวงพ่อเฉย ประดิษฐานในศาลามหาราชใกล้กับโบสถ์ เป็นพระพุทธรูปสำริดทรงเครื่องที่มีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพนับถือของชาวชลบุรี กล่าวกันว่าหากนำเศษผ้าจีวรที่คลุมองค์หลวงพ่อไปผูกข้อมือเด็กที่เจ็บออดแอด เด็กคนนั้นจะกลายเป็นเด็กเลี้ยงง่ายอย่างน่าอัศจรรย์

แชร์
สถานที่ อีสานร้อยแปด