วิหารเซียน (เอนกกุศลศาลา)

ไทยและจีน เป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์กันมาเป็นเวลายาวนานในทางประวัติศาสตร์ โดยที่กระแสธารแห่งวัฒนธรรมของชนชาติทั้งสองได้เชื่อมโยงต่อเนื่องกัน เป็นสายสัมพันธ์อันแนบแน่น ตั้งแต่ระดับรัฐสู่ระดับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวจีนที่ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร แห่งพระมหากษัตราธิราชเจ้า ซึ่งได้อาศัยอยู่ภายใต้ร่มแห่งพระบวรพุทธศาสนาในผืนแผ่นดินไทย ก็ได้นำเอารากฐานศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน มาสู่สังคมสยาม จนหลอมรวมเป็นรูปแบบใหม่แห่งศิลปวัฒนธรรมไทย-จีนอย่างน่าสนใจ อเนกกุศลศาลาเป็นสถานที่ที่ก่อกำเนิดจากแรงบันดาลใจของอาจารย์สง่า กุลกอบเกียรติ ในการที่จะแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี และความกตัญญูกตเวที ของชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยในประเทศไทย ที่มีต่อประเทศชาติ พระราชวงศ์ และองคืพระมหากษัตราธิราชเจ้า โดยอาจารย์สง่าเป็นผู้ริเริ่มในการก่อสร้างออกแบบ และดูแลการก่อสร้างทั้งหมด ซึ่งได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ให้ก่อสร้างบนที่ดินในบริเวณโครงการพัฒนาพื้นที่วัดญาณสังวรารามอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 7 ไร่ ที่ได้รับพระราชทานเมื่อปีพ.ศ. 2530 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานฤกษ์ในการก่อสร้งเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2531 เวลา 9.19 น. และพระราชทานนามอาคารนี้ว่า อเนกกุศลศาลา การก่อสร้างใช้เวลาทั้งสิ้น 4 ปี 6 เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด อเนกกุศลศาล เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ 2536 โดยอาจารย์สง่า พร้อมด้วยคณะชาวไทยเชื้อสายจีน ได้พร้อมใจน้อมเกล้าฯ ถวายอาคารอเนกกุศลศาลา พร้อมด้วยโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ แด่พระบาทสมเด็พระเจ้าอยู่หัว ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมอบหมายให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริรับไปดูแลต่อ โดยให้มูลนิธิอเนกกุศศาลา ในพระสังฆราชูปถัมภ์เป็นผู้รับผิดชอบการดูแลบริหารงานของอเนกกุศลศาลาต่อไป ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างประเทศให้ความสนใจเข้ามาเยี่ยมชมอเนกกุศลศาลาเป็นจำนวนมาก

แชร์
สถานที่ อีสานร้อยแปด