เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2536 ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงรับโครงการสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าของจังหวัดศรีสะเกษเข้าร่วมโครงการทับทิมสยาม 06 และพระราชทานชื่อเป็น “สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจุฬาภรณ์” เพื่อทำการปรับปรุงสภาพพื้นที่ให้เหมาะสมและดำเนินการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์สัตว์ป่าปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เป็นการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศของพื้นที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรพื้นที่จังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา มีพระราชดำริสรุปความว่า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่อดีตศูนย์อพยพชาวกัมพูชาและหมู่บ้านในจังหวัดตามแนวชายแดน โดยให้จัดตั้งหมู่บ้านที่พระราชทานนามว่า “โครงการทับทิมสยาม” ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2543 ทรงได้รับทราบปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรสมาชิกโครงการทับทิมสยามที่ยังไม่มีที่พักอาศัย จึงทรงเห็นชอบให้พิจารณาก่อสร้างบ้านพักในส่วนที่เหลืออยู่เพื่อช่วยเหลือราษฎร และต่อมาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2551 มีพระดำริเพิ่มเติมให้เตรียมความพร้อมรองรับการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์สัตว์ป่า และทำการฝึกสัตว์ป่าให้มีความพร้อมก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ปรับปรุงเพิ่มเติมแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และสร้างแหล่งอาหารเสริมให้สัตว์ป่า ตลอดจนพัฒนาปรับปรุงระบบประปาให้สามารถใช้ในการบำรุงแปลงพืชอาหารสัตว์