หมวดหมู่ : ศิลปวัฒนธรรม

การฟ้อนไทพวน

ฟ้อนไทพวน ประดิษฐ์และออกแบบโดยชมรมนาฏศิลป์หนองคาย จากนั้น วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬศิลป์ ได้นำไปเผยแพร่ต่อ การแต่งกาย เป็นแบบประยุกต์ด้วยชุดที่ได้รับอิทธิพลแบบไทลื้อ โดยมีเสื้อที่ดัดแปลงมาจากชุดไทลื้อ นุ่งซิ่นมุกต่อตีนจกแบบไทพวนแท้ๆ ใช้ผ้าขิดลายขาว-ดำ พันศี…

ชาวพวน เดิมมีถิ่นฐานอยู่ที่เมืองพวน แขวงเมืองเชียงขวาง ประเทศลาว

ทางภาคอีสานเรียกว่า ไทพวน แต่ภาคกลางเรียกชนเผ่านี้ว่า ลาวพวน ชาวพวนได้กระจายตัวอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำงึมของลาว สมัยกรุงธนบุรี เมื่อลาวได้รวมเป็นอาณาจักรพลเมืองฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงได้ถูกกวาดต้อน มาอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ชาวพวนได้ถูกกวาดต้อนมาด้วย และมาอยู่ในจังหวัดอุดรธานี หนองคาย เลย พิจิตร แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย สิงห์บุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และสระบุรี

ชาวไทพวน ที่อพยพมาตั้งหลักแหล่งที่บ้านบุฮม และบ้านกลาง อำเภอเชียงคาน จ.เลย ถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองเตาไห หลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อครั้งที่พวกจีนฮ่อ กุลา เงี้ยว รุกรานเมืองเตาไห ๔ พ่อเฒ่า คือ พ่อเฒ่าก่อม พ่อเฒ่าห่าน พ่อเฒ่าเพียไซ พ่อเฒ่าปู่ตาหลวง เป็นผู้นำชาวพวนกลุ่มหนึ่ง อพยพออกจากหลวงพระบาง ล่องตามแม่น้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านบุฮม ต่อมาผู้คนส่วนหนึ่งได้มาอยู่ที่บ้านกลาง อีกแห่งหนึ่งแล้วเรียกตัวเองว่า “ไทพวน” ชาวไทพวนนั้นมีความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายแบบสังคม ชนบททั่วไป มีอาชีพเกษตรกรรม การทอผ้า การตีเหล็ก ทำเครื่องเงิน เครื่องทอง

ฟ้อนไทพวน

ภาษา ชาวพวนใช้ ภาษาตระกูลไทลาว คล้ายกับไทอีสานทั่วไป แต่มีสำเนียงใกล้เคียงไทยภาคกลางกว่าเผ่าอื่นๆ

การแต่งกายของชาวไทพวน ในอดีตผู้หญิง ใช้ผ้าคาดอกแทนการสวมเสื้อ นุ่งซิ่นตีนจก หรือ สีพื้นแทรกลายขวาง บางท้องถิ่นนิยมนุ่งซิ่นมัดหมี่ ผู้ชายนุ่งกางเกงขาก๊วยสีดำใส่เสื้อสีดำ และผ้านุ่งจูงกระเบน ผ้าขาวม้าพาดบ่า หรือคาดเอว ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่น ผ้าขาวม้ารัดนม เรียกว่า แห้งตู้ ทั้งชายหญิงไม่สวมเสื้อ แต่เวลาไปไร่นาต้องสวมเสื้อสีดำ หรือสีคราม หญิงสวมเสื้อรัดตัวแขนยาวถึงข้อมือกระดุมเสื้อใช้เงินกลมติดเรียงลงมาตั้งแต่คอถึงเอว เด็กผู้ชายก็จะใส่กำไลเท้า เด็กผู้หญิงใส่ทั้งกำไลมือกำไลเท้า

ปัจจุบันผู้หญิงนิยมสวมเสื้อตามสมัยนิยม ส่วนคนสูงอายุมักสวมเสื้อคอกระเช้า ผู้ชายยังแต่งเหมือนเดิม ยังมีบางท้องถิ่นแต่งแบบไทย-ลาว  เช่น จังหวัดลพบุรี ชัยนาท หนองคาย อุดรธานี

ฟ้อนไทพวน ประดิษฐ์และออกแบบโดยชมรมนาฏศิลป์หนองคาย จากนั้น วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬศิลป์ ได้นำไปเผยแพร่ต่อ

การแต่งกาย เป็นแบบประยุกต์ด้วยชุดที่ได้รับอิทธิพลแบบไทลื้อ โดยมีเสื้อที่ดัดแปลงมาจากชุดไทลื้อ นุ่งซิ่นมุกต่อตีนจกแบบไทพวนแท้ๆ ใช้ผ้าขิดลายขาว-ดำ พันศีรษะ

ฟ้อนไทพวน

เพลงไทพวน
โอ้น้อ..มื้อนี้แม้ เลิศล้ำ มื้อประเสริฐ ดีงาม เฮาจึงมีเวลาพบกัน คราวนี้ โอกาสดีนางได้ เดินทางมาต้านกล่าว ถามข่าวคราวพี่น้องทางพี้ผู้สู่คน พี่น้องเอย

โอ้น้อ..ยามเมื่อมาพบพ้อ แสนชื่นสมใจ พี่น้องเอย พอสร้างไขวาจาสิ่งใดมาเว้า เฮียมขอเอามือน้อมประนมกรละต้านต่อ ขอขอบใจพี่น้องทางพี้ผู้สู่คน พี่น้องเอย

โอ้นอ..เฮานี่แม่นชาติเชื้อซาวเผ่าไทพวน พี่น้องเอย เนาอยู่เมืองเชียงขวางประเทศลาว ทางพุ้น กับทางพงศ์พันธุ์เซื้อ วงศ์วานคณาญาติ พากันเนาสืบสร้างทางพู้นคู่สู่คน พี่น้องเอย

โอ้น้อ..เฮานี่แม่นชาติเชื้อสายเลือดเดียวกัน พี่น้องเอย มีหลายอันคือกันบ่ต่างกันพอน้อย คอยหล่ำแล สีหน้าอาภรณ์ ทุกสิ่งอย่าง ทุกท่าทาง ปากเว้าเสมอด้ามดั้งเดียว กันนั่นแหล่ว

โอ้น้อ..ที่มีกาลฮับต้อน อย่างสมเกียรติจบงาม การอยู่กินไปมาสะดวกดี ทันด้าน สมว่าเป็นเมืองบ้าน เฮือนเคียงของน้องพี่ เฮียมได้เนาที่นี่เสมอบ้านแคมตน พี่น้องเอย

โอ้น้อ..มาถึงตอนท้ายนี้ เฮียมขอกล่าวอวยพร ขอวิงวอนคุณพุทธ พระธรรมองค์เจ้า ขอให้มานำเข้า บันดาลและหยู้ส่ง ขอให้พงศ์พี่น้อง อายุมั่นหมื่นปี เว้ามาฮอดบ่อนนี้เฮียมขอกล่าวลาลง ขอขอบใจพงศ์สาย โง้ ลุง อาว ป้า ที่ได้อดสาเยี้ยนฟังเฮา น้อต้านกล่าว หวังว่าคราวหน้าพุ้นคงสิได้พบกัน พี่น้องเอย ลา..ลงท้อนี้..แหล่ว ๆ

แชร์
Alitta Boonrueang