ว่ากันตามฮีตคลองประเพณีอีสานอีกข้อหนึ่งเมื่อถึงคราวเดือนสิบ (15 ค่ำ เดือน 10) นั่นก็คือประเพณีบุญข้าวสาก หรือ ข้าวฉลาก หมายถึงบุญที่ให้พระเณรทั้งวัด จับสลากเพื่อจะรับปัจจัยไทยทาน ตลอดจนสำรับกับข้าว ที่ญาติโยมนำมาถวาย (ภาคกลางเรียกข้าวสารทหรือข้าวกระยาสารท)
มูลเหตุที่ทำให้เกิดบุญข้าวสาก มีว่า บุตรกุฏมณีผู้หนึ่งเมื่อพ่อสิ้นชีวิตแล้ว แม่ก็หาภรรยาให้ แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน แม่จึงหาหญิงอื่นให้เป็นภรรยาอีก ต่อมาเมียน้อยมีลูก เมียหลวงอิจฉาจึงคิดฆ่าเมียน้อยและลูก ก่อนตายเมียน้อยคิดอาฆาตเมียหลวง ชาติต่อมาทั้งสองเกิดเป็นสัตว์ชนิดต่าง ๆ และอาฆาตเข่นฆ่ากันเรื่อยมา จนชาติสุดท้าย ฝ่ายหนึ่งเกิดเป็นคน อีกฝ่ายหนึ่งเกิดเป็นยักษิณี ยักษิณีจองเวรได้มากินลูกของผู้เป็นคนถึงสองครั้ง พอเกิดลูกคนที่สามยักษิณีจะตามมากินอีก หญิงคนนั้นพร้อมลูกและสามี จึงหนีไปพึ่งพระพุทธเจ้า ณ เชตวันมหาวิหาร พระพุทธเจ้าได้เทศนาให้ทั้งสองเลิกจองเวรกัน และโปรดให้ทางยักษิณีไปอยู่ตามหัวไร่ปลายนา นางยักษิณีมีความรู้เกณฑ์เกี่ยวกับฝนและน้ำดี ชาวเมืองนับถือมาก จึงได้นำอาหารไปส่งอย่างบริบูรณ์ นางยักษิณีจึงนำอาหารเหล่านั้นไปถวายเป็นสลากภัตแด่พระสงฆ์วันละแปดที่เป็นประจำ ชาวอีสานจึงถือเป็นประเพณีถวายสลากภัต หรือบุญข้าวสากสืบต่อมาและมีการเปลี่ยนเรียกนางยักษิณีว่า “ตาแฮก” [อ่านต่อเรื่อง ตำนานผีตาแฮก]
พิธีทำบุญข้าวสาก ชาวบ้านจะเตรียมอาหารชนิดต่าง ๆ ใส่ภาชนะหรือห่อด้วยใบตองหรือใส่ชะลอมไว้แต่เช้ามืด วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ตอนเช้าจะนำภัตตาหารไปถวายพระภิกษุสามเณรครั้งหนึ่งก่อน พอตอนสายจวนเพลจึงนำอาหารซึ่งเตรียมไว้แล้วไปวัดอีกครั้ง เพื่อนำไปถวายแด่พระภิกษุสามเณร โดยการถวายจะใช้วิธีจับสลาก นอกจากนี้ชาวบ้านยังนำเอาห่อหรือชะลอมหรือข้าวสากไปวางไว้ตามบริเวณวัด พร้อมจุดเทียนและบอกกล่าวให้ญาติมิตรผู้ล่วงลับไปแล้วมารับเอาอาหารและผลบุญที่อุทิศให้ มีการฟังเทศน์ฉลองข้าวสากและกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ล่วงลับ นอกจากนี้ชาวบ้านจะนำอาหารไปเลี้ยง “ตาแฮก” ณ ที่นาของตนด้วย เป็นเสร็จพิธีทำบุญข้าวสาก
เอตานิมะนังภันเต สะจากะภัตตานิ สะปะริวารานิ อะสุภัฏฐานน ฐะปิตานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเตอภิกขุสังโฆ เอตานิ สะลากะภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
คำแปล
ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ภัตตาหารกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านั้น ซึ่งตั้งไว้ ณ ที่โน้น ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับซึ่งภัตตาหารพร้อมทั้งของที่เป็นบริวารเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลายเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ.
พิธีกรรม
เมื่อถึงวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 ญาติโยมจะเตรียมอาหาร คาวหวาน และหมากพลู บุหรี่ พอเข้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ญาติโยมจะพากันทำบุญใส่บาตร พอถึงเวลาประมาณ 9 – 10 โมงเช้า พระสงฆ์จะตีกลองโฮม(รวม) ญาติโยมจะนำอาหารที่เตรียมถวายพระสงฆ์และห่อข้าวน้อยซึ่งมีอาหารคาวหวาน อย่างละเล็กอย่างละน้อยแต่ละห่อประกอบด้วย
1. ข้าวเหนียว เนื้อปลา เนื้อไก่ หมู และใส่ลงไปอย่างละเล็กอย่างละน้อยถือเป็นอาหารคาว
2. กล้วย น้อยหน่า ฝรั่ง แตงโม สับปะรด ฟักทอง (แล้วแต่จะเลือกใส่)เป็นอาหารหวาน
หลังจากนำอาหารที่เตรียมห่อเป็นคู่ๆ นำมาผูกกันเป็นพวงแล้วแต่จะใส่กี่ห่อก็ได้ส่วนใหญ่จะใช้ 10 คู่ เมื่อนำไปเลี้ยง “ผีตาแฮก” ที่นาของตนเองด้วย โดยมีความเชื่อว่าจะทำให้ผีตาแฮกพอใจ และช่วยดูแลข้าวกล้าในนาให้งอกงามสมบูรณ์ ตลอดจนช่วยขับไล่ศัตรูข้าวได้แก่ นก หนู ปูนา ไม่ให้มาทำลายต้นข้าวในนาอีกส่วนหนึ่ง เมื่อนำอาหารมาถึงศาลาวัดที่จะทำบุญแล้ว เขียนชื่อของตนลงในกระดาษ ม้วนลงใส่ในบาตร เมื่อทุกคนมาพร้อมกันแล้ว ผู้ที่จะเป็นหัวหน้ากล่าวนำคำถวายสลากภัต ญาติโยมว่าตามจบแล้วนำไปให้พระเณร จับสลากที่อยู่ในบาตร พระเณรจับได้สลากของใคร ผู้เป็นเจ้าของพาข้าว(สำรับกับข้าว)และเครื่องปัจจัยไทยทานก็นำไปประเคนให้พระรูปนั้นๆ จากนั้นพระเณรจะฉันเพล ให้พรญาติโยมจะพากันรับพรแล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว