แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเหียน หรือพิพิธภัณฑ์บ้านเชียงเหียน เป็นสถานที่เก็บรวบรวมศิลปวัตถุ และโบราณวัตถุของอาจารย์บุญหมั่น คำสะอาด ซึ่งเป็นผู้สืบทอดคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทย เพื่อส่งมอบให้ลูกหลานได้เรียนรู้ เป็นเวลากว่า 50 ปีที่อาจารย์บุญหมั่น ได้แสวงหาและสะสมวัตถุทางประวัติศาสตร์และนำมารวบรวมเก็บไว้นับ 10,000 ชิ้น
ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ชั้นบนจะมีการจัดแสดงเครื่องมือ – เครื่องใช้ของชาวอีสาน เช่น จัดแสดงผ้าผะเหวดผืนเก่าแก่อายุกว่า 80-100 ปี รวมทั้งเครื่องมือ – เครื่องใช้ในอดีต และวัตถุอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น กะโหลก เขาควาย ส่วนชั้นล่างจะเป็นการจัดอสดงผลงานศิลปะของอาจารย์บุญหมั่น คำสะอาด และผลงานของศิลปิน นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่หมุนเวียนกันมาจัดแสดงตลอดทั้งปี และอาคาร “หอระกาเดือน” ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงแหล่งท่องเที่ยว แนะนำแหล่งที่น่าสนใจในเส้นทางสายไหมอีสาน รวมถึงประวัติศาสตร์ชุมชน ดินแดนอันรุ่มรวยด้วยวัฒนธรรมแห่งนี้
แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเหียน เป็นแหล่งโบราณคดีที่ค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ร่องรอยของเมืองโบราณ คาดการณ์ว่านี่อาจเป็นแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งที่ทำให้อาจารย์บุญหมั่น สนใจในประวัติศาสตร์และโบราณคดี มีการค้นพบว่าพื้นที่บริเวณบ้านเชียงเหียนเคยเป็นเมืองโบราณมาก่อน เพราะแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ ทำให้เห็นลักษณะเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ รูปกลมรี ซึ่งคล้ายกับผังเมืองโบราณในสมัยทวาราวดี มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ และด้านนอกตัวเมืองโบราณยังมีเนินดินโบราณคดีอีก 5 แห่ง ได้แก่ ดอนข้าวโอ ดอนปู่ตา ดอนย่าเฒ่า ดอนยาคู และหอนาง โดยจากการขุดค้นทางโบราณคดีครั้งแรก พบโครงกระดูกมนุษย์ และเครื่องใช้สำริดฝังร่วมอยู่ด้วยหลายโครง หลักฐานต่างๆ ที่ขุดค้นพบแสดงให้เห็นถึงการเริ่มต้นอยู่อาศัยในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุประมาณ 2,000 – 1,500 ปี อีกทั้งยังพบภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ ภาชนะดินเผาเคลือบ และภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งมากมายทั่วบริเวณ ซึ่งถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญต่อประเทศไทยอย่างยิ่ง
แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเหียน ตั้งอยู่ที่ตำบล เขวา อำเภอ เมืองมหาสารคาม ขับรถมาตามเส้นทางมหาสารคาม – ร้อยเอ็ด ห่างจากตัวจังหวัดราวๆ 7 กิโลเมตร
ดูความคิดเห็น