หมวดหมู่ : ศิลปวัฒนธรรม

ฟ้อนจุฬาสรภัญ

ภูมิภาคอีสาน นอกจากมีการเล่านิทาน เล่าเรื่องราวผ่านการเทศน์ และหมอลำต่างๆ แล้ว ยังมีศิลปะการเล่าเรื่องอีกแขนงหนึ่ง คือ สรภัญญะ

สรภัญญะ

คือการขับร้องด้วยทำนองเฉพาะ เรียกว่าทำนองสรภัญญะ ซึ่งสมัยก่อนนี้ จะมีคณะสรภัญญะ ไปแสดงงานบุญต่างๆ คล้ายๆ หมอลำหมู่ ซึ่งเรื่องที่นิยมขับร้อง คือเรื่องพระเวสสันดร และเรื่อง ลีลาวดี เป็นต้น ต่อมาสรภัญญะ ได้รับความนิยมน้อยลง จึงเปลี่ยนจากขับร้องเป็นเรื่องยาว เหลือเป็นตอนสั้นๆ และต่อมา เหลือเพียง ร้องเป็นบทๆ พอเป็นตัวอย่างของสรภัญญะ และกลายเป็นทำเนียมบทร้องสรภัญญะ ในงานประชันสรภัญญะยุคต่อมา

ฟ้อนจุฬาสรภัญ

สรภัญญะอีสาน

ในยุคหลัง อาจเหลือเพียง ขับร้องพอเป็นทำเนียมของสรภัญญะ ซึ่งจะพบเห็นได้ในช่วงบุญประเพณีออกพรรษา โดยทางตำบล หรืออำเภอ หรือหมู่บ้านที่มีศักยภาพเพียงพอ จะเป็นผู้จัดงานประกวดประชันสรภัญญะ และแจ้งไปยังหมู่บ้านใกล้เคียง ขอให้ส่งสรภัญญะเข้าประกวด ตั้งแต่ต้นพรรษาหรือก่อนเข้าพรรษา   ซึ่งพร้อมกันนั้น ก็จะแจ้งระเบียบการด้วย เช่น ให้ใช้หญิง 4 คน ขึ้น หรือห้ามใช้เครื่องดนตรีบรรเลงประกอบ เป็นต้น ซึ่งระเบียบก็จะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการจัดงานแต่ละปี

หมู่บ้านที่จะส่งสรภัญญะเข้าประกวด จะอาศัยระยะเวลาช่วงเข้าพรรษา ลงวัดไปฝึกร้องสรภัญญะ การร้องสรภัญญะ ไม่ใช่การร้องเดี่ยวเหมือนหมอลำ แต่เป็นการร้องแบบประสานเสียง การร้องให้พร้อมเพรียงกันโดยไม่มีเครื่องดนตรีให้จังหวะ เป็นสิ่งที่ค่อนข้างยากพอสมควร จึงจำเป็นต้องรวมกลุ่มฝึกซ้อมเป็นประจำ เพื่อให้ร้องได้พร้อมเพรียงกัน ไม่ผิดเพี้ยนทั้งทำนองและจังหวะ

การประกวดร้องสรภัญญะนั้น แต่ละคณะจะมีเวลาไม่นาน โดยมาก ประมาณ 10-20 นาที ดังนั้น แต่ละคณะ จะคัดเอาเฉพาะบทร้องที่มีทำนองไพเราะมาแข่งขัน แต่อย่างไรก็ตาม ทำเนียมปฏิบัติ ทุกคณะจะต้องมีบทไหว้ครู และบทลา ส่วนบทร้องอื่นๆ ก็แล้วแต่ทางคณะจะเลือกมา

ปัจจุบัน แม้การจัดงานประชันสรภัญญะก็ค่อยๆ เลือนหายไป ทำนองสรภัญญะ ก็ค่อยๆ เลือนหายไปด้วย

เมื่อปี พ.ศ. 2550 เนื่องในโอกาสที่ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสานจุฬาฯ ครบรอบ 30 ปี ทางชมรมฯ ได้คิดการแสดง “ฟ้อนจุฬาสรภัญ” ขึ้น โดยคุณกิตติศักดิ์ แก้งทอง เป็นผู้ออกแบบท่ารำและเครื่องแต่งกาย มังกรเดียวดาย แต่งบทร้องสรภัญ เรียบเรียงดนตรี และแสดงครั้งแรกในงาน “ไอดินถิ่นอีสาน อลังการวัฒนธรรม 30ปีอีสานจุฬาฯ” เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2550

ในบทร้องจุฬาสรภัญ นี้ ได้นำเสนอทำนองสรภัญญะทั้งหมด 7 ทำนอง ประกอบด้วยบท 7 บท ดังนี้

1. บทไหว้คร
บทนี้ใช้สำหรับไหว้ บูชาพระรัตนตรัย ซึ่งสรภัญจริงๆ จะเริ่มตั้งแต่ นโม คือร้องนโม เป็นทำนองสรภัญญะ 3 จบ แล้วค่อยร้อง มาลาดวงดอกไม้ (แต่ในการแสดงจุฬาสรภัญ เป็นการแสดงบนเวทีและยืนร้อง ซึ่งไม่เหมาะที่จะร้องบท นโม จึงได้ตัดออกไป)

2. บทบูชา
บทนี้ ได้เพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งเหมือนกับบทไหว้ครูนั่นเอง เพียงแต่เพิ่มไหว้เทวดาและครูอาจารย์เข้ามาด้วย

3. บทนำ
เป็นเหมือนบทเกริ่น หรืออารัมภบท ก่อนที่จะเข้าสู่การดำเนินเรื่อง โดยมากมักจะบอกเล่าถึงความเป็นมาของคณะสรภัญญะ คณะนั้นๆ

4. บทเดินเรื่อง
เป็นบทที่เริ่มเข้าสู่การเล่าเรื่องนิทาน โดยในกลุ่มบทเดินเรื่องนี้ อาจจะตัดตอนเอาเนื้อเรื่องบางตอนมาเล่า

5. บทพรรณนา
เป็นบทร้องที่อยู่ในระหว่างดำเนินเรื่อง โดยมากมักกล่าวบรรยายหรือพรรณนาถึงตัวละคร ธรรมชาติ หรือเรื่องราว ให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ซึ่งก็อาจจะตัดตอนมาจากเนื้อเรื่องบางตอน เช่นกัน

6. บทออนซอน
เป็นบทที่เน้นอารมณ์ตัวละครเป็นหลัก ถ้าเทียบกับหมอลำ ก็เหมือนกับบทโศกของหมอลำนั่นเอง บทออนซอน ถือว่า เป็นไฮไลท์ของการร้องสรภัญญะ และนิยมร้องเดี่ยว บางคณะ อาจจะนำกลอนลำบทโศกของหมอลำมาใช้เลยก็มี บทออนซอน นิยมเลือกใช้ทำนองที่ไพเราะอ่อนหวาน ลึกซึ้ง กินใจ ซึ่งคนฟัง ฟังแล้วเกิดความรู้สึกออนซอน ผู้หญิงที่ได้ร้องเดี่ยวบทออนซอน ถือว่าเป็นนางเอกของคณะ

7. บทลา
เป็นบทส่งท้ายก่อนจบการแสดงนั่นเอง ซึ่งเนื้อหาในบทลา โดยมากจะกล่าวขออภัย ขอขมา กล่าวถ่อมตน และกล่าวอวยพรผู้ชมผู้ฟัง

คณะสรภัญญะทั่วไป มักจะมีบทร้อง 5 บท คือ
1. บทบูชา (หรือบทไหว้ครู)
2. บทนำ
3. บทเดินเรื่อง
4. บทออนซอน
5. บทลา

ฟ้อนจุฬาสรภัญ

ฟ้อนจุฬาสรภัญ ใช้ผู้หญิงล้วน โดยจำนวนช่างฟ้อนเป็นคู่ ซึ่งในงาน30ปีอีสานจุฬาฯ ใช้ช่างฟ้อน 12 คน

บทร้องจุฬาสรภัญ ร้องโดยผู้หญิงล้วน จำนวนคนร้องอย่างน้อย 2 คน

เครื่องแต่งกายช่างฟ้อนจุฬาสรภัญ  นุ่งผ้าซิ่น เสื้อแขนกระบอกสีขาว พาดสไบจกหรือแพรวาสีแดง ประดับอกด้วยดอกไม้สีขาว  เกล้าผม รัดเกล้าด้วยฝ้ายสีขาว ทัดดอกไม้สีขาว เครื่องประดับ ต่างหู สร้อยคอ กำไล

บทร้องจุฬาสรภัญ

บทไหว้ครู
ทำนองที่๑(ร้องไม่มีดนตรี)
มาลาดวงดอกไม้     มาลาดวงดอกไม้ มาตั้งไว้เพื่อบูชา ฯ บูชาแด่พระพุทธ  บูชาแด่พระพุทธ ผู้ได้ตรัสรู้มาฯ
บูชาแด่พระธรรม    บูชาแด่พระธรรม ที่แนะนำพร่ำสั่งสอน ฯ บูชาแด่พระสงฆ์  บูชาแด่พระสงฆ์ ผู้ดำรงพระวินัย ฯ

บทบูชา
ทำนองที่๒
มาลาดวงดอกไม้ มาตั้งไว้เพื่อบูชา มาลาดวงดอกไม้ มาตั้งไว้เพื่อบูชา บูชาแด่พระพุทธ ผู้ได้ตรัสรู้มา ฯ
บูชาแด่พระธรรม ที่แนะนำพร่ำสั่งสอน บูชาแด่พระธรรม ที่แนะนำพร่ำสั่งสอน บูชาแด่พระสงฆ์   ผู้ดำรงพระวินัยฯ
บูชาแด่เทพไท้ ผู้คุ้มภัยบริบาล บูชาแด่เทพไท้ ผู้คุ้มภัยบริบาล   บูชาแด่อาจารย์    ผู้สืบสานสอนสั่งเรา ฯ

บทนำ
ทำนองที่๓
สรภัญ อีสานจุฬาฯ                 มื้อนี้มา ร้องขับขาน
สืบศิลป์ ถิ่นอีสาน                  สารภัญอีสานจุฬาฯ สารภัญอีสานจุฬาฯ
สิบนิ้ว นบพนม                     ขอกราบก้ม บูรพา
สืบศิลป์ อีสานมา                  น้อมวันทา อัญชุลี น้อมวันทา อัญชุลีฯ
โปงลาง อีสานจุฬาฯ              มื้อนี้มา เล่นดนตรี
สืบสาน ประเพณี                   อีสานมี แต่ก่อนมา   อีสานมี แต่ก่อนมา ฯ
ขอเชิญท่านทั้งหลาย             ทั้งหญิงชาย ม่วนหรรษา
โปงลางอีสานจุฬา                 วันนี้หนา มากล่อมแฟน วันนี้หนา มากล่อมแฟน ฯ

บทเดินเรื่อง
ทำนองที่๔
เสียงแคนต๋อยแล่นแตน           สุดสะแนน อ้ายเป่ามา
เสียงแคนแทนสัญญา             น้องนี้หนา ไม่เคยลืม น้องนี้หนา ไม่เคยลืม ฯ
วันใดฟ้ามืดครึ้ม                    น้องนั่งซึม เศร้าอาลัย
เสียงแคนแทนหัวใจ              แคนพี่ชาย เคยกล่อมนอน แคนพี่ชาย เคยกล่อมนอน ฯ
พิณอ้าย โต๊ดติต่ง                 น้องยังคง เฝ้าอาวรณ์
เสียงพิณอ้ายออดอ้อน            คิดอาวรณ์ถึงบ้านนา คิดอาวรณ์ถึงบ้านนา ฯ
โหวดอ้ายพลิ้วแผ่วดัง             น้องได้ฟัง ชื่นอุรา
โหวดหวานปานเสียงกา          เหว่าร้องมา ฮำฮอน กาเหว่าร้องมา ฮำฮอน ฯ
โปงลางอ้ายบรรเลง              ร้องเป็นเพลง น่าออนซอน
โปงลางซึ้งสะออน                น้องออนซอนอีสานบ้านนา น้องออนซอนอีสานบ้านนา ฯ
ดนตรีร้องขับขาน                  สร้างตำนาน ม่วนหรรษา
โปงลางอีสานจุฬาฯ              ร่วมรักษาศิลป์อีสาน ร่วมรักษาศิลป์อีสาน

บทพรรณนา
ทำนองที่๕
บัดนี้ จะได้กล่าว                บัดนี้ จะได้กล่าว
เป็นเรื่องราว สารภัญ           เป็นเรื่องราว สารภัญ ฯ
ทำนอง ร้องขับขาน            เป็นเพลง คนอีสาน
มีมานานแต่โบราณ์             มีมานาน แต่โบราณ์ ฯ
ถึงวันออกพรรษา               ร่วมกันเข้าวัดวา
สืบสานมา แต่เก่าก่อน         สืบสานมา แต่เก่าก่อน ฯ

บทออนซอน
ทำนองที่๖(ร้องเดี่ยว)
กาเอ๋ย กาเหว่าวอน             กาเอ๋ย กาเหว่าวอน
ฟังเสียงวอน ออนซอนหลาย   คิดถึงชาย  ที่จรจาก ฯ
อ้ายเอ๋ย อ้ายคนฮัก             อ้ายเอ๋ย อ้ายคนฮัก
อ้ายหนีจาก น้องไปไส         วอนพี่ชาย ให้คืนคอน ฯ
กาเอ๋ย กาเหว่าวอน             กาเอ๋ย กาเหว่าวอน
วอนพี่ชาย ให้คืนมา            วอนพี่ชาย ให้คืนมา ฯ

บทลา
ทำนองที่๗
สรภัญ งานวันนี้                      ร้อง ไม่ดี ขออภัย
พวกฉัน อาจผิดพลั้ง                ตอนนี้ยัง  เป็นน้องใหม่ ฯ
ขอบคุณ ท่านทั้งหลาย            ทั้งหญิงชาย ถ้วนทุกคน
อวยพร ให้สุขล้น                    ขอทุกคน จงสุขี ฯ
บัดนี้ ได้เวลา                       ขอ อำลา ลงเวที
จบไว้ เพียงเท่านี้                   อัญชลี น้อมวันทา สารภัญ อีสานจุฬาฯ ขออำลา ไปก่อนเด้อ ฯ

แชร์
Alitta Boonrueang