หมวดหมู่ : ศิลปวัฒนธรรม

ฟ้อนบายศรีสู่ขวัญ

ประเพณีการสู่ขวัญ เป็นประเพณีตามศาสนาพราหมณ์ที่นิยมกระทำสืบต่อกันมาอย่างช้านาน ถือว่าเมื่อได้มีการทำพิธีนี้แล้วจะก่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต การทำพิธีีสู่ขวัญนี้จะกระทำเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ดีเป็นมงคล เช่นพิธีแต่งงาน การหายจากป่วยไข้ การมาหรือกลับจากสถานที่ใดๆ การไปค้าขายได้เงินทองมามาก การมีแขกมาเยี่ยมยามจากต่างถิ่น ฯลฯ แม้แต่เหตุการณ์ที่ไม่ดี เช่น การได้รับความเจ็บป่วย คนในครอบครัวประสบอุบัติเหตุหรือต้องเสียชีวิต (เหตุการณ์นี้จะทำพิธีให้แก่ผู้ที่รอดจากเหตุดังกล่าว) การสู่ขวัญ คือการเรียกขวัญ หรือเอิ้นขวัญ
ชาวอีสานมีความเชื่อว่า “ขวัญ” เป็นสิ่งที่แฝงอยู่กับตัวของมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งจะจับต้องหรือไม่สามารถมองเห็นได้ หากว่ามีเหตุให้ขวัญหนีออกจากตัว เช่น เกิดอุบัติเหตุ เสียใจ ป่วยไข้ ตกใจรุนแรง อาจทำให้ตัวบุคคลนั้นถึงแก่ความตายได้ ฉะนั้นต้องเรียกขวัญกลับมาสู่ตัวจะทำให้สุขสบายขึ้น

ฟ้อนบายศรีสู่ขวัญ

บายศรี เป็นคำเรียกพราหมณ์ด้วยความเคารพ พราหมณ์เป็นผู้ทำพิธีสู่ขวัญ จึงเรียกว่า บายศรีสู่ขวัญ ซึ่งหมายถึงพราหมณ์ทำพิธีสู่ขวัญ

บายศรี มาจากคำว่าบาย+ศรี บาย แปลว่า สัมผัส จับ ต้อง ศรี แปลว่า สิริ มงคล สิ่งที่ดี บายศรี หมายความถึง การรวบรวมเรียกเอาสิริมงคลต่างๆ ด้วยกิริยาวิธีทางกาย ทางวาจา และทางใจ แม้ว่าศรี หรือ สิริ จะไม่สามารถบายหรือสัมผัสจริงๆได้ด้วยมือ แต่ที่ใช้คำว่าบาย เนื่องจากต้องการสื่อในความหมายเชิงรูปนัยเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย มิใช่นามนัย พราหมณ์จึงใช้วิธีเชิญสิริเข้ามาอยู่ในข้าว ไข่ต้ม หรือฝ้ายผูกข้อมือ เป็นต้น แล้วบายเอาข้าวหรือไข่ต้มส่งให้ผู้เข้ารับบายศรีกิน นำฝ้ายไปผูกข้อมือ ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีเชิงรูปธรรม ในส่วนที่เป็นนามธรรมนั้น จะรับสิริทางใจหรือความรู้สึกโดยตรง

บายศรีสู่ขวัญ จึงหมายถึงการรวบรวมเรียกเอาหรือเชิญสิริมงคลต่างๆ ด้วยกิริยาวิธีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ให้มาสถิตที่ขวัญ เพื่อความเจริญรุ่งเรือง เพื่อความสุข สวัสดี

พานบายศรี

เครื่องกิริยาในการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญที่สำคัญ คือ พานบายศรี หรือ “พาขวัญ” ทำจากใบตองและดอกไม้สด รวมไปถึงเครื่องสังเวยต่างๆ เช่น ข้าวปลาอาหาร แป้ง กระจก หวี ผ้าแพรไหม น้ำอบ-น้ำหอม ที่ขาดไม่ได้คือ เส้นฝ้ายสีขาว เพื่อใช้ในการผูกข้อต่อแขนแก่ผู้เข้าร่วมทำพิธี

การฟ้อนบายศรีสู่ขวัญ เกิดจากการคิดค้นร่วมกัน โดย อ. ดำเกิง ไกรสรกุล  และ อ.พนอกำเนิดกาญจน์  แห่งวิทยาลัยครูอุดรธานี(ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี) ซึ่ง อ.พนอกำเนิดกาญจน์  เป็นผู้ประดิษฐ์ท่าฟ้อน อ. ดำเกิง ไกรสรกุล  เป็นผู้แต่งเนื้อร้องและทำนองเพลง

เนื้อร้องประกอบการฟ้อนบายศรีสู่ขวัญ

มาเถิดเย้อ มาเยอขวัญเอย มาเย้อขวัญเอย……

หมู่ชาวเมืองมา เบื้องขวานั่งส่ายล่าย เบื้องซ้ายนั่งเป็นแถว

ยอพาขวัญไม้จันทน์เพริดแพร้ว ขวัญมาแล้ว มาสู่คีงกลม

เกศแก้วหอมลอยลม ทัดเอื้องชวนชม เก็บเอาไว้บูชา

ยามฝนพรำเจ้าอย่าแข่ง แดดร้อนแรงเจ้าอย่าคลา

อยู่ที่ไหนจงมา รัดด้ายไชยยา มาคล้องผ้าแพรกระเจา

อย่าเพลินเผลอ มาเยอขวัญเอย มาเย้อขวัญเอย……

อยู่แดนดินใด หรือฟ้าฟากไกล ขอให้มาเฮือนเฮา

เทื่อยังคิดอาลัยซู้เก่า ขออย่าเว้า ขวัญเจ้าจะตรม

หมอกน้ำค้างพร่างพรม ขวัญอย่าเพลินชม ป่าเขาลำเนาไพร

เชิญไล้ทาประทินกลิ่นหอม ดมพะยอมให้ชื่นใจ

เหล่าข้าน้อยแต่งไว้ ร้อยพวงมาลัยมาคล้องให้สวยรวย

แชร์
Alitta Boonrueang