คำว่า “ภูไท” ในภาษาภูไทและภาษาอีสาน หมายถึง กลุ่มชนผู้ที่อาศัยตามแนวภูเขา
แต่ภาคกลางมักเขียนว่า “ผู้ไทย” ซึ่งหมายถึง กลุ่มชนเชื้อชาติไทย
ถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวภูไทอยู่ในแคว้นสิบสองจุไทย หรือแคว้นสิบสองปันนา (ดินแดนส่วนเหนือของลาว และ เวียดนาม ซึ่งติดต่อกับดินแดนภาคใต้ของจีน) ในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 (เจ้าองค์หล่อ) แห่งราชอาณาจักรเวียงจันทน์ ได้มีหัวหน้าชาวภูไทซึ่งมีนามว่า พระศรีวรราช ได้มีความดีความชอบในการช่วยปราบกบฏในนครเวียงจันทน์จนสงบราบคาบ กษัตริย์เวียงจันทน์ จึงได้ปูนบำเหน็จ โดยพระราชทานพระราชธิดาชื่อนางช่อฟ้า ให้เป็นภรรยา ในกาลต่อมาจึงได้แต่งตั้งให้บุตรซึ่ง เกิดจากพระศรีวรราช หัวหน้าชาวภูไท และเจ้านางช่อฟ้ารวม 4 คน แยกย้ายกันไปปกครองหัวเมืองชาวภูไท คือ เมืองสบแอก เมืองเชียงค้อ พร้อมกับอพยพชาวภูไทลงไปทางใต้ของราชอาณาจักรเวียงจันทน์ เป็นเมืองวัง เมืองตะโปน(เซโปน) อันเป็นถิ่นกำเนิดของชาวภูไท (เรียบเรียงจากลายพระหัตถ์ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระเจ้าประดิษฐาสารี ในหนังสือชื่อพระราชธรรมเนียมลาว ซึ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2479) พระองค์เป็นพระราชธิดาของรัชกาลที่ 4 และเจ้าจอมมารดาดวงคำ (เจ้าจอมมารดาดวงคำ เป็นราชนัดดาของเจ้าอนุวงษ์เวียงจันทน์) ต่อมาชาวภูไทได้แยกย้ายออกไปตั้งเป็นเมืองพิน เมืองนอง เมืองพ้อง เมืองพลาน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในแขวงสะหวันนะเขต ของประเทศลาว
ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าอนุวงษ์เวียงจันทน์เป็นกบฏต่อกรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ.2369 เมื่อกองทัพไทยยกขึ้นไปปราบปรามจนสงบราบคาบแล้วทางพระนคร มีนโยบายจะอพยพชาวภูไท ข่า กะโซ่ กะเลิง ไทดำ ไทพวนฯลฯ จากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้มาตั้งบ้านตั้งเมืองอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง(ภาคอีสาน) เพื่อมิให้เป็นกำลังแก่เวียงจันทน์ และญวนอีก
ปัจจุบันชาวภูไทได้กระจัดกระจายอาศัยในจังหวัดต่างๆในภาคอีสานส่วนมากในจังหวัดมุกดาหาร กาฬสินธุ์ สกลนคร และนครพนม และบางส่วนในจังหวัด ร้อยเอ็ด อุดรธานี ยโสธร อำนาจเจริญ หนองคาย และอุบลราชธานี
เป็นการนำเอามรดกทางวัฒนธรรมของชาวภูไทที่อาศัยอยู่ในบริเวณเทือกเขาภูพานซึ่งได้ยกมา 3จังหวัดคือ กาฬสินธุ์ สกลนคร และนครพนม มาเปรียบเทียบในเชิงการจัดการแสดงทางด้านนาฏกรรม อันเนื่องมาจากชาวภูไททั้งสามกลุ่มนี้มีรูปแบบและ เอกลักษณ์ของตนเองที่แตกต่างกัน
ในปี พ.ศ. 2522 กรมศิลปากรมีนโยบายที่จะเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอีสาน จึงได้จัดส่งคณาจารย์พร้อมนักเรียนจากวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด ลงพื้นที่ภาคสนามในจังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร และนครพนม(ต่อมามีพื้นที่แยกตัวเป็นจังหวัดออกจากนครพนมคือ มุกดาหาร) โดยรวบรวมเอาท่าฟ้อน กลอนลำ ดนตรีและการแต่งกาย จนเป็นผลงาน “ฟ้อนภูไท 3 เผ่า” ขึ้นมาครั้งแรก
จะเริ่มจากการฟ้อนของชาวภูไทจังหวัดกาฬสินธุ์ ภูไทจังหวัดสกลนคร และภูไทจังหวัดนครพนม ในการฟ้อนภูไททั้ง 3 เผ่านี้ จะมีผู้ชายเข้ามาฟ้อนประกอบทั้งสามเผ่า มีการแสดงการฟ้อนมวยโบราณต่อสู้แสดงเชิงมวยกันระหว่างเผ่า และตลอดจนการฟ้อนเกี้ยวพาราสีของชายหญิงอีกด้วย
หลังจากนั้นไม่นานวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ ก็ได้ประดิษฐ์ ฟ้อนภูไท 3เผ่า ในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน คือ จะเริ่มการฟ้อนด้วยเผ่าสกลนครก่อน ตามมาด้วยภูไทจังหวัดกาฬสินธุ์ และภูไทจังหวัดนครพนม ซึ่งจะฟ้อนเฉพาะผู้หญิงล้วน
สำหรับ “ฟ้อนภูไท 3 เผ่า” ของ ชมรมนาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมือง (วงแคน) จะใช้วิธีการนำเสนอคล้ายกับฟ้อนภูไท 3 เผ่า ของวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด เพียงแต่มีท่าฟ้อนที่แตกต่างกันเล็กน้อย
– หญิง สวมเสื้อแขนกระบอกสีดำแนวปกคอเสื้อและแนวกระดุมตกแต่งด้วยผ้าแถบลายแพรวาสีแดง กุ๊นขอบลายผ้าด้วยผ้ากุ๊นสีเหลืองและขาว ประดับด้วยกระดุมเงิน ห่มผ้าสไบไหมแพรวาสีแดง นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่สีดำมีตีนซิ่น ผมเกล้ามวยมัดมวยผมด้วยฝ้ายภูไท หรือผ้าแพรฟอย และสวมเครื่องประดับเงิน
– ชาย สวมเสื้อสีดำมีการตกแต่งเสื้อด้วยแถบผ้าลายแพรวา นุ่งกางเกงขาก๊วย ใช้ผ้าแพรวาแดงมัดเอว
หญิง สวมเสื้อแขนกระบอกสีดำแต่งขอบเสื้อด้วยผ้าแดง มีแนวกระดุมเงินเรียงยาวตามแนวเสื้อ นุ่งผ้าซิ่นพื้นสีดำต่อตีนซิ่นขิดยาวกรอมเท้า ห่มผ้าสไบขิดทางไหล่ซ้ายแล้วไปมัดที่เอวด้านขวา สวมส่วยมือยาว(เล็บ)ทำมาจากกระดาษหรือโลหะพันด้วยด้ายและมีพู่ที่ปลายเล็บสีขาวหรือแดง ผมเกล้ามวยมัดมวยผมด้วยฝ้ายแดง และสวมเครื่องประดับเงิน
ชาย สวมเสื้อสีดำมีการตกแต่งเสื้อด้วยแถบผ้าแดง นุ่งกางเกงขาก๊วย ใช้ผ้าขิดแดงมัดเอว
หญิง สวมเสื้อแขนกระบอกสีครามแต่งของเสื้อด้วยผ้าแดง ที่กระดุมเงินมีสายคล้องเป็นคู่ๆ พันเอวด้วยผ้าแดง นุ่งซิ่นสีครามยาวกรอมเท้า ไหล่ซ้ายพาดสไบสีขาว ผมเกล้ามวยมัดมวยผมด้วยฝ้ายภูไทสีขาว และสวมเครื่องประดับเงิน
ชาย สวมเสื้อสีครามมีการตกแต่งเสื้อด้วยแถบผ้าแดง นุ่งกางเกงขาก๊วยสีคราม ใช้ผ้าแพรขาวม้ามัดเอว
โอ่เด้……โอ…นา
โอ่เด้ อ้ายบ่าวภูไทเอย น้องนี่แหล่ว น้องนี่แนวนามเซอ ดอกสะเดอบานเข อ้ายบ่าวภูไทเอ้ย
โอ่เด้ อ้ายมิเหลียวตาต้อง มองดายกะแล้วเปล่า บานมิมีผู้เก็บ บานมิมีผู้ฮ้อย สิคาต้นหล่นเหลิง น้อยลับเลอตาเบอแม่เจ้าแพง นอ……..
โอ่เด้ อ้ายบ่าวภูไทเอย น้องนี่แหล่ว น้องนี่มาคอยอ้ายคือนกเจ่าคอยหาปลา อ้ายบ่าวภูไทเอย น้องนี้แหล่ว น้องนี่มาคอยอ้ายคือนกทาคอยหาโค่
โอ๋เด๋ เพิ่นว่าโคกมิกว้าง คอยหาอ้ายกะมิเห็น เย็นทางเมอ …นอ……..
ในท่อนนี้ไม่มีเนื้อร้อง ซึ่งจะบรรเลงลายเพียงอย่างเดียว
โอ หนอ บ่าวภูไทเอย… บัดนี้ หันมาเว้า ลายภูไทกันสาก่อน สิลำติดกาพย์สร้อย ผญาน้อยตื่มใส่กัน อ้ายเอย………
ชายเอย เพิ่นว่าสิบปีล่ำ เพิ่นว่าซาวปีล่ำ จั่งเห็นโองมายามมั่ง เพิ่นว่าข้าวขึ้นเล้า จั่งเห็นเจ้าแม่นเทือเดียว อ้ายเอย………
โอ หนอ บ่าวภูไทเอย… ชายเอย ไปบ่เมือนำน้อง แดนภูไทบ้านน้องอยู่ คันสิเมือนำน้อง ค่ารถมิให้เสียเด้ละอ้าย คันสิเมือนำน้อง ค่าเฮือมิให้จ้าง นางสิไปดอกเอาซ้างเมืองสุรินทร์มาให้ขี่ ไปบ่เล่าอ้าย ม่วนอีหลีตั้วเล่าอ้าย ไปเล่นถิ่นภูไท อ้ายเอย…………..
โอ หนอ บ่าวภูไทเอย… ชายเอย ไผว่าเมืองภูไทฮ้าง อยากอันเชิญท่านไปเบิ่ง ฮ้างจั่งใด๋ ป่าไผ่ยังส่วยล่วย ป่ากล้วยยังส่ายหล่าย มันสิฮ้างบ่อนจั่งใด๋ อ้ายเอย อ้ายเอย………….
ไปเย้อไป ไปโห่เอาชัยเอาซอง(ซ้ำ) ไปโฮมพี่โฮมน้อง ไปร่วมแซ่ฮ้องอวยชัย
เชิงเขาแสนจน หนทางก็ลำบาก(ซ้ำ) ตัวข้อยสู้ทนยาก มาฟ้อนรำให้ท่านชม
โอ้ยนอ….ละบ่าวภูไทเอย
ชายเอ๋ย อ้ายได้ยินบ่เสียงน้อง คองน้ำตาเอิ้นมาใส่ สาวภูไทไห้สะอื้น มายืนเอิ้นใส่พี่ชาย อ้ายเอย อ้ายเอย…………
ชายเอย เห็นว่าสาวภูไทน้อง อยู่บ้านป่านาดอน หากินหนูกินแลน หมู่กระแตดอกเห็นอ้ม
ซางมาตั๋วให้นางล้ม โคมหนามแล้วถิ่มปล่อย ทำสัญญากันเฮียบฮ้อย ซางมาฮ้างดอกห่างกัน อ้ายเอย……..
ในท่อนนี้ไม่มีเนื้อร้อง ซึ่งจะบรรเลงลายเพียงอย่างเดียว