อีสานร้อยแปดนำพาทุกคนมาถึงจังหวัดสุรินทร์ จังหวัดหนึ่งทางภาคอีสานที่อยู่ทางตอนใต้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “อีสานใต้” ซึ่งความพิเศษของจังหวัดสุรินทร์ก็คือมีพื้นที่ติดกับชายแดนประเทศกัมพูชา ประชากรส่วนหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์ในแถบนั้นจึงมักจะมีความนิยม มีความเชื่อเกี่ยวกับเขมรกันอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่ที่เราจะพาทุกท่านไปท่องเที่ยวในวันนี้ ก็เป็นสถานที่ที่แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างศิลปะของไทยและศิลปะของเขมร ถูกถ่ายทอดออกมาแบบอลังการงานสร้าง มีความงดงามแบบไทยอยู่ด้วย และมีความขลังแบบฉบับศิลปะของเขมรอยู่ด้วย ที่ “ศาลหลักเมืองสุรินทร์”
ก่อนหน้านี้ เป็นเพียงแค่ศาลเก่าๆเท่านั้น ไม่มีเสาหลักเมืองด้วยซ้ำไป ซึ่งในตอนนั้น ทุกคนก็ร่ำลือในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ของศาลเป็นอย่างมาก แม้จะเป็นเพียงศาลเก่าๆไม่ได้มีการสร้างเพิ่มหรือพัฒนาอะไรขึ้นมา ก็ยังคงเป็นที่เคารพสักการะของของทุกคนเป็นอย่างดี ทั้งชาวบ้าน ทั้งผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ต่างก็เคารพทั้งนั้น ผ่านเวลามาเป็น 100 ปีแล้วก็ยังคงเหมือนเดิม
ในสมัยนั้น เริ่มมีการลงเสาหลักเมืองกันบ้างแล้วในเมืองอื่นๆ หรือในจังหวัดอื่นๆ ในจุดนี้กรมศิลปากรก็ได้เข้ามาดูแลเรื่องของการลงเสาหลักของศาลเจ้าอันศักดิ์สิทธ์แห่งนี้ในปี พ.ศ.2511 เป็นปีที่กรมศิลปากรอนุมัติให้มีการก่อสร้างบูรณะขึ้นมาใหม่โดยเสาหลักนั้นทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ (ซึ่งได้มาจาก นายประสิทธิ์ มณีกาญจน์) ซึ่งความยิ่งใหญ่ก็ดูได้จากไม้ชัยพฤกษ์ที่มีความสูงกว่า 3 เมตร
การเริ่มก่อสร้าง เสร็จสิ้นเมื่อปี พ.ศ. 2517 ซึ่งในตอนนั้น ก่อนที่จะนำเสาไปตั้งก็ได้มีการแห่รอบเมืองก่อน มีงานสมโภชฉลองเสาหลักเมืองอย่างยิ่งใหญ่ ชาวบ้านทุกคนต่างก็ทึ่งในความสวยงามของเสาหลักเมืองไม้ชัยพฤกษ์ที่ทำการแกะสลักอย่างสวยงามภายใต้การดูแลของกรมศิลปากรที่จัดทำขึ้น ความเป็นสิริมงคลยิ่งกว่านั้นก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 9) ได้ทำการเจิมเสาหลักเมือง เพื่อความเป็นสิริมงคลของชาวเมืองสุรินทร์ ซึ่งในตอนนั้น ชาวบ้านทุกคนต่างปลื้มปริ่มในใจ เพราะพระองค์ท่านมีพระราชดำรัสให้ข้อคิดในเรื่องของการตั้งเสาหลักเมือง ว่าเปรียบเสมือนจุดศูนย์รวมของทุกคน รวมความรัก ความสามัคคีของทุกคนเอาไว้ที่เสาต้นนี้ นับว่าเป็นเรื่องมงคลสูงสุดทีเดียว การตั้งเสาหลักเมืองประดิษฐานในตอนนั้นก็เป็นไปได้ด้วยดี พร้อมกับการก่อสร้างศาลหลักเมืองใหม่ที่เสร็จสิ้นแล้ว ที่ใช้ศิลปะของทางเขมรเข้ามาร่วมเป็นศิลปะที่สวยงาม มองดูแล้วมีความขลัง ได้รับความรู้สึกน่าเกรงขามและอ่อนช้อยไปในเวลาเดียวกัน สัมผัสได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์แม้เดินทางไปถึงครั้งแรกแบบที่ไม่มีใครเคยรู้มาก่อน
ชาวบ้านหลายคน เล่าต่อกันมาให้ลูกหลานได้ฟัง ถึงความศักดิ์สิทธิ์และเหตุการณ์มหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นบริเวณที่ตั้งของศาลหลักเมือง พบว่ามีถนนที่เป็นรอยแตกและแยกอย่างเห็นได้ชัด เป็นถนนคอนกรีตธรรมดาๆเท่านั้น ชาวบ้านหลายคนมีความสงสัยหลายประการ เหตุเพราะมีรถของผู้คนมักจะหยุดดับอยู่ตรงนั้นบ่อยครั้ง จนกระทั่งเวลาผ่านเลยไป รอยแยกถนนคอนกรีตบริเวณนั้นก็เริ่มขยายขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเป็นรู เป็นช่องที่สามารถล้วงมือเข้าไปได้ สุดท้ายแล้วก็มีการขุดพบพระนาคปรกบริเวณที่เกิดรอบแยกนั้นอย่างน่าอัศจรรย์ใจ ไม่ใช่แค่เพียงชิ้นเดียวเท่านั้น กับวัตถุโบราณต่างๆที่ขุดพบ รอบๆบริเวณที่ตั้งศาลหลักเมืองนั้น ยังมีการขุดพบซากพระพุทธรูปอีกมาก รูปปั้นต่างๆอย่างพญานาค รูปปั้นพระพิฆเนศบ้าง รูปปั้นพระนารายณ์บ้าง ขุดพบเจอเครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับโบราณเก่าๆบ้าง ซึ่งชาวบ้านทุกคนก็ไม่มีใครเก็บเอาไว้เป็นสมบัติส่วนตัว เพราะเกรงถึงความศักดิ์สิทธิ์ ก็มีการนำขึ้นไปตั้งไว้บนศาลเพื่อเคารพบูชาต่อไปเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวเมืองทุกคน
สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปจังหวัดสุรินทร์ หรือมีการเดินทางผ่านทางชายแดนกัมพูชา สามารถเดินทางเข้าไปกราบสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับตัวเองได้แล้ว ซึ่งศาลหลักเมืองสุรินทร์นี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากศาลากลางจังหวัด ห่างกันเพียงแค่ 500 เมตรเท่านั้น นักท่องเที่ยวสายบุญ สายประวัติศาสตร์โบราณไม่ควรพลาดทีเดียว
แหล่งอ้างอิง:
ขอบคุณรูปภาพสวยๆจาก: