หอไตรหนองขุหลุ จ.อุบลราชธานี

มื้อนี้อีสานร้อยแปดเฮาสิพาพี่น้องไปเที่ยวทางเมืองดอกบัว นั่นก็คือ จ.อุบลราชธานี และสถานที่ที่เราจะพาไปวันนี้ก็คือ “หอไตรหนองขุหลุ” ณ บ้านขุหลุ ต.ขุหลุ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี
หอไตรนี้ตั้งอยู่ในหนองน้ำชื่อหนองขุหลุ ซึ่งเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนืองของหมู่บ้านปัจจุบันเป็นตัวอำเภอ ประมาณ 1 กม.
คำว่า “ขุหลุ” มาจากคำภาษาอีสานแบ่งเป็นสองคำคือ ขุ หรือ ครุ หมายถึง กระบุงที่เอาไว้ใส่ของไม้คานหาบ ส่วน หลุ แปลว่า ทะลุ ซึ่งมีตำนานเก่าเล่าโดยย่อว่า ในอดีตกาลมีเจ้าขุนเมืองท่านหนึ่งเดินทางผ่านมาทางอำเภอตระการพืชผล โดยเอาทองใส่ครุหาบมาด้วย พอมาถึงที่นี่ครุที่ใส่ทองเอาไว้ได้ทะลุ ทำให้ทองหล่นลง จนทำให้ดินแถวนั้นยุบลงกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ชาวบ้านในสมัยนั้นเลยเรียกหนองน้ำแห่งนี้ว่า หนองขุหลุ

หอไตรหนองขุหลุ

หอไตรหนองขุหลุ เป็นหอไตรกลางน้ำที่คงเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นของเมืองอุบลฯ และเป็นหอไตรกลางน้ำที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
สร้างขึ้นในราว พ.ศ.2459-2461 โดยหลวงปู่สิงห์ เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย และหลวงราษฎร์บริหาร (สด กมุทมาศ) นายอำเภอตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี ในสมัยนั้นได้ปรึกษาหารือกัน เรื่องตู้คัมภีร์ใบลานและตำราทางพุทธศาสนา ของวัดศรีโพธิ์ชัย ซึ่งมีจำนวนมาก ทำให้ปลวกและแมลงกัดแทะจนตำราขาดวิ่น เลยคิดจะหาที่เก็บแห่งใหม่ และในที่สุดทุกฝ่ายก็ตกลง สร้างหอไตรกลางน้ำขึ้น เพื่อเก็บคัมภีร์ใบลานและตำราทางพุทธศาสนา เป็นการป้องกันปลวกและแมลง และที่เลือกหนองขุหลุเป็นสถานที่ก่อสร้างหอไตร ก็เพราะเห็นว่าหนองขุหลุเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม จากนั้นจึงได้บอกกล่าวชาวบ้านให้หาไม้และวัสดุอื่นๆ มาช่วยกันก่อสร้างหอไตรจนแล้วเสร็จ

หอไตรหนองขุหลุ ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบท้องถิ่นอีสานที่มีความงามเรียบง่าย โดยฝีมือช่างในท้องถิ่น ซึ่งมีส่วนประกอบไปด้วย อาคารไม้ยกพื้นสูง รองรับด้วยเสาไม้ 25 ต้น ทำจากไม้พรรณชาติ เรียงเป็นแถว 5 แถว แถวละ 5 ต้น ตัวอาคารเป็นเรือนไม้แบบเครื่องสับ หลังคามีสองส่วน คือส่วนบนเป็นทรงจั่ว ส่วนชั้นล่างทำเป็นหลังคาปีกนก (พะไร) ปัจจุบันมุงกระเบื้องดินเผา ส่วนประดับหลังคาคือตัวเหงาไม้แกะสลักรูปนาค ช่อฟ้า (โหง่) รวยระกา และคันทวย แกะสลักเป็นลายก้านขด คล้ายเลข 1 ไทยซ้อนกันและหันหัวแย้งกันสามชั้น โดยรอบอาคารตีไม้เข้าลิ้นในแนวตั้ง ทรวดทรงอาคารแผ่กว้าง หลังคาสูงทิ้งชายคาลาดต่ำ ให้ความรู้สึกสงบนิ่งและสมดุล ภายในเป็นห้องทึบสำหรับเก็บคัมภีร์ใบลาน มีประตูทางเข้าทางด้านทิศใต้ทางเดียว ส่วนที่ใช้ประดับตกแต่ง ที่เป็นช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และคันทวย ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลาย แสดงถึงฝีมือช่างพื้นถิ่นในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี และเดิมทีจะไม่มีสะพานเชื่อมติดต่อ เมื่อก่อนพระต้องพายเรือเข้าไป เมื่อปี พ.ศ.2517 ฟ้าผ่าเสาแถวแรกด้านทิศตะวันตกสุด แล้ววัดศรีโพธิ์ชัยก็จัดงบประมาณเปลี่ยนเสาในปีนั้นเลย ต่อมาในปี พ.ศ.2519 ได้สร้างสะพานไม้เข้าชมหอไตร และปี พ.ศ.2524 ฟ้าได้ผ่าเสาแถวแรกด้านทิศตะวันออกสุดในเวลากลางคืนจนเกิดไฟลุกไหม้ แต่ฝนตกหนักจึงดับไฟลงได้ วันต่อมา ทางวัดก็เปลี่ยนเสาต้นที่ถูกฟ้าผ่าเสียหายจนแล้วเสร็จ ต่อมา สะพานไม้ที่เชื่อมหอไตรได้ชำรุดทรุดโทรม ทางราชการและชาวบ้านจึงได้สร้างสะพานใหม่ในปี 2544 จนสามารถเดินเข้าชมหอไตรกลางน้ำได้อย่างสะดวกขึ้นกว่าเดิม

สำหรับตัวอาคารหอไตร ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์สืบต่อกันมา ครั้งล่าสุดคือในปี พ.ศ.2542 บูรณะโดยสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี กรมศิลปากร การดูแลรักษาและบูรณะอย่างต่อเนื่อง ทำให้มรดกวัฒนธรรมแห่งนี้ยังคงอยู่ในสภาพดี แม้มีอายุยาวนานเกือบหนึ่งศตวรรษ นอกจากนี้หอไตรหนองขุหลุยังมีลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือมิได้เป็นของวัดใดวัดหนึ่ง แต่เป็นของชุมชนบ้านขุหลุและเป็นของประชาชนชาวอำเภอตระการพืชผลทุกคน หอไตรแห่งนี้นอกจากจะใช้เก็บคัมภีร์พุทธศาสนาอักษรธรรมและอักษรขอมแล้ว ยังเป็นที่เก็บตำราหนังสือและวรรณคดีอีสานจำนวนมาก แต่ในปัจจุบัน คัมภีร์โบราณและหีบพระธรรมได้ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่อุโบสถวัดศรีโพธิ์ชัย ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอตระการพืชผล

ความสำคัญของหอไตรหนองขุหลุอีกประการหนึ่งก็คือ นอกจากจะเป็นสถาปัตยกรรมที่งดงามตามแบบฉบับของถิ่นแล้ว ยังนับเป็นปูชนียสถานที่เรียกกันว่า “ธรรมเจดีย์” การอนุรักษ์หอไตรหนองขุหลุ นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมแล้ว ยังเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่เป็นสรณะของชาวพุทธที่ยั่งยืนสืบไปอีกประการหนึ่ง และในปี 2547 หอไตรหนองขุหลุยังได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น จากกรมศิลปากรอีกด้วย

ด้านหลังหอไตร

นักท่องเที่ยวที่ผ่านไปทางจังหวัดอุบลราชธานี อย่าลืมแวะเที่ยวชมหอไตรหนองขุหลุ ซึ่งเป็นทั้งแหล่งโบราณคดี สถาปัตยกรรมท้องถิ่น และยังเป็นปูชนียสถานที่เรียกว่า “ธรรมเจดีย์” อีกด้วย นอกจากนี้ บริเวณโดยรอบหนองขุหลุยังมีถนนขนาด 4 เลน และ 2 เลน ล้อมรอบ มีขอบฟุตบาทขนาดกว้างสำหรับให้ประชาชนเดินหรือวิ่งออกกำลังกาย ภูมิทัศน์โดยรอบก็สวยงาม ร่มรื่น อากาศสดชื่นเย็นสบาย เพราะเต็มไปด้วยไม้ยืนต้น ไม้ดอก ไม้ประดับนานาชนิด ภายในหนองขุหลุถูกถมที่ให้เป็นเกาะกลางน้ำขนาดใหญ่ มีสะพานข้ามเข้าไปบนเกาะ ซึ่งทำหรือสร้างขึ้นเพื่อสำหรับเป็นสถานที่จัดงานหรือกิจกรรมต่างๆของทางอำเภอตระการพืชผล ดังนั้น หากทุกท่านได้มีโอกาสไปเที่ยวเมืองอุบลฯ ก็อย่าลืมแวะไปยลหอไตรกลางน้ำที่อำเภอตระการพืชผล บ้างก็แล้วกัน

รวมภาพหอไตรหนองขุหลุ โดย ทีมงานอีสานร้อยแปด

หอไตรหนองขุหลุ
หอไตรหนองขุหลุ มุมใกล้
หอไตรบ้านขุหลุ
หอไตรบ้านขุหลุ (2)
หอไตรกลางน้ำหนองขุหลุ
หอไตรกลางน้ำขุหลุ
หอไตรกลางน้ำ
หอไตร
หอไตร ถ่ายจากมุมด้านข้าง
หนองขุหลุ
สะพานชมหอไตรหนองขุหลุ
สะพานไปยังหอไตรหนองขุหลุ
ส่วนต่างๆของหอไตรหนองขุหลุ
พระพุทธรูปบริหนองขุหลุ
ป้ายบอกรายละเอียดของหอไตรหนองขุหลุ
บ้านขุหลุ
บริเวณหนองขุหลุ
ถ่ายจากด้านของ หอไตรหนองขุหลุ
ด้านหลังหอไตร
ด้านหลัง หอไตรหนองขุหลุ
ด้านหน้า หอไตรหนองขุหลุ
ควายที่ชาวบ้านนำมาเลี้ยง
หอไตรหนองขุหลุ

แผนที่เดินทางไปยังหอไตรหนองขุหลุ
สำหรับเพื่อนๆที่ต้องการเดินทางไปยังหอไตรหนองขุหลุ สามารถเดินทางโดยใช้แผนที่ด้านล่างได้เลยนะครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก :
http://e-shann.com/?p=6124
http://www.oknation.net/blog/supawan/2008/12/17/entry-1
http://thailandyourtravel.blogspot.com/2011/09/blog-post.html
http://www.banmuang.co.th

แชร์
ไทสกล คนสว่าง

แอดมินอีสานร้อยแปด ไทสกล คนสว่าง ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บอีสานร้อยแปด นำเสนอข้อมูลรอบด้าน ทุกเรื่องราวของพี่น้องชาวอีสาน เป็นคนกรุงเทพฯโดยกำเนิดแต่เกิดอยู่สกลนคร ออนซอนประเพณีวัฒนธรรมที่ราบสูงที่เรียกว่าภาคอีสาน จึงได้รวบรวมข้อมูลเรื่องราวเหล่านั้นรังสรรค์ผลงานนำเสนอผ่านเว็บไซต์ "อีสานร้อยแปดดอทคอม"