หมวดหมู่ : อาหารอีสาน

อ่อมเขียดน้อย

ชื่อพื้นบ้าน อ่อมเขียดน้อย
ชื่อภาษาไทย อานนท์พลิกตัว
ภาษาอังกฤษ   Wrath of Heaven

สวัสดีครับพี่น้อง  มื้อนี้ พ่อลุงเติม เลาไป”ล่องเขียดน้อย” มาได้โพสต์ รูปมาให้ บ่าวปิ่นลม สะออน
ก็เลยเสนอเมนูสุดยอด ของอีสานบ้านเฮา ให้พี่น้องได้ ม่วนซื่น ม่วนแซบนำกัน

บางคนไม่รู้จัก “ปลาอานนท์ ”  ต้องเล่าให้กันฟังก่อน
ตามคติความเชื่อ ไตรภูมิ ว่ากันว่า ในมหาสมุทรสีทันดร ที่อยู่ในโลกนี้ เบื้องล่าง
ที่ค้ำมหาสมุทร คือ “ปลาอานนท์” ตัวยิ่งใหญ่มหึมา รองรับก้นมหาสมุทร
เมื่อใดที่ปลาอานนท์พลิกตัว จะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง  สิงห์สา ลาสัตว์ต่างๆ
ต้องประสบภัยพิบัติ ตายราบคาบ ชนิดเรียกว่า มหันตภัย เลยทีเดียว

ปกติเมนูนี้ ชาวอีสานบ้านเฮาทำกินกันในฤดูแล้ง  เมื่อน้ำแห้งขอด เหลือเพียงลำน้ำใหญ่
ลำห้วยใหญ่ ที่เป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชาวท้องถิ่น    เมื่อแหล่งอาหารหายาก
จึงต้องหา ไต้เขียดน้อย  ล่องเขียดน้อย  ส่อนเขียด  และ สารพัดแมลงในน้ำมากิน
พบเจอทั้งแมลง ทั้งเขียด ทั้งปูปลาน้อย สารพัดสัตว์  ผสมกันไปตามแต่สิได้
นำมาทำแกงอ่อมกินกันตามครัวเรือน  เกิดเป็นวิถี ที่แตกต่างจาก
คนทางลุ่ม ที่มีน้ำตลอดปี
กลายมาเป็น อ่อมเขียดน้อย สัมมะปิ

อ่อมเขียดน้อย

ส่วนประกอบของเมนู

1.เขียดน้อย  แมงระงำ ปูน้อย ปลาน้อย แมงตับเต่า ฯลฯ
2.ผักชี(ลาว) ผักอีตู่  หรือผักส้มขม  ผักไส้ไก่ หาได้ยิ่งดี
3.ผักบั่ว (ต้นหอม)
4.พริก
5.หัวซิงไค  หัวบักบั่ว (หัวหอม)  กระเทียม
6.ข้าวคั่ว
7. ปลาแดก

เขียดน้อย  (Microhyla heymonsi )  เขียดบักแอ๋  (Microhyla ornata )
เขียดบักแอ๋   (Microhyla pulchra)
เขียดทราย  (Occidozyga martensii )เขียดจะนา(Occidozyga lima )

รวมๆกันแล้ว เรียกว่า เขียดน้อย ซึ่งเป็นดัชนีวัดความหลากหลายทางชีวภาพ ของท้องถิ่น
วัดความสามารถของธรรมชาติ และ วัฏจักรน้ำ ของแผ่นดินอีสาน

ซุมเขียดน้อยชนิดต่าง ๆ ที่กล่าวมา สามารถนำมาเป็นอาหารได้
ยกเว้น  เขียดบักหมื่น (Marten`s puddle frog)
บ่นิยมเอามากิน เนื่องจากมีพิษอ่อน ๆ

บรรดาเขียดน้อยที่กล่าวมาทั้งหมด  ในประเทศไทย ยังบ่มีการศึกษาวิจัย มีเพียงฝรั่งมังค่า
ผู้เล็งเห็นคุณค่าต่อระบบนิเวศน์ บันทึกชนิด และข้อมูลขั้นต้นไว้เท่านั้น  องค์ความรู้ปฐมภูมิ
ของชาวบ้านในเรื่องนี้ ยังไม่มีการต่อยอด ให้เจริญก้าวหน้า เพื่อปรับใช้กับวิถีที่กำลัง เปลี่ยนแปลง

วิธีประกอบอาหาร

1. ล้างเขียดน้อย และ แมลงต่าง ๆ ให้สะอาด
2. ตั้งไฟ ตั้งหม้อแกงใช้ไฟอ่อนๆ  ( ยอดไฟ)
3. ตำ หัวซิงไค หัวหอม พริก กระเทียม
4. พอน้ำเดือด เหลือน้ำพอ เอ๊าะเจ๊าะ เอาเขียดน้อยลง
5. เอาเครื่องแกงที่ตำเสร็จ  ลงคนให้ทั่ว
6. คั่วจนแกงเกือบน้ำแห้ง  จนกลิ่นฟุ้งกระจาย
7. เติมน้ำลงไป เติมเครื่องปรุง
8. เอาข้าวคั่วลงไป ใส่ปรุงรส ( ปลาแดก)
9. เอาบรรดาผัก ลงใส่    รอให้ผักยุบ เป็นอันเสร็จ

รสชาติของอาหารเมนูนี้ ช่างน่าอัศจรรย์  ทั้งปูน้อย ปลาน้อย เขียดน้อย แมลงน้อย ๆ
ผสมกับผักท้องถิ่น เช่น ผักส้มขม ผักไส้ไก่  ผักชีลาว ผักบั่ว  หวานขม อมแซบหอม
ดังชิมรสชาติท้องถิ่น ของอีสานขนานแท้ ดังแลเห็นตัวตน อยู่ฟากท่ง

เมื่อพิจารณาอาหารการกิน ของคนอีสานแล้ว พบว่า ส่วนใหญ่พึ่งพา และมาจากระบบนิเวศน์ท้องถิ่น
ปัญหาปากท้องคนอีสานก็คือ ระบบนิเวศน์ท้องถิ่น ที่สูญเสียความสามารถในการอุ้มชูชีวิตมนุษย์
เลี้ยงดูผู้คนที่อยู่นอก “กลไกการ ตลาด”

ซึ่งว่ากันตามความเป็นจริงก็คือ แผนและนโยบายของประเทศไทยเรา  มุ่งหวังให้คน
ที่มีกระบวนทัศน์แบบ”หาอยู่หากินตามวิถีธรรมชาติ”  หมดไปโดยเร็ว
รวบรัดเข้าสู่ การบริโภคอาหาร แบบกลไกการผลิต ที่ควบคุมโดย “ทุนนิยม”

พรากคนอีสาน ออกจากทรัพยากรท้องถิ่น และ นิเวศน์ที่อุ้มชู “วิถีชีวิต”
ลบล้างอัตลักษณ์  ออกจาก “โปรแกรมความคิด”  ภูมิปัญญาบรรพบุรุษ
สู่กระบวนทัศน์แบบใหม่ เงินคือความกินดีอยู่ดี มีสุข  แม้จะแลกด้วยการ
ล้างผลาญธรรมชาติ  คดโกง เอาเปรียบ  เบียดเบียน   ทำลาย  เห็นแก่ตัว
มุมมองเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เปลี่ยนแปลงไปอย่างสุดโต่ง
ไม่ได้มองกันเป็นเหมือน “พี่น้อง” เฉกเช่นในอดีต..ดังคนอีสานเคยเป็น

แชร์
Alitta Boonrueang