เซิ้งกระหยัง ที่ได้ชื่อว่าเซิ้งกระหยังเพราะผู้ฟ้อนจะถือ กระหยัง เป็นส่วนประกอบในการแสดงของชาวภูไทบ้านหนองห้าง อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ เป็นแห่งแรกที่เป็นต้นกำเนิดของการแสดงชุดนี้ เมื่อกรมศิลปากรได้มาลงพื้นที่เพื่อศึกษาศิลปวัฒนธรรมของชาวภูไท และได้นำเอาชุดการแสดงเซิ้งกระหยัง ไปสร้างสรรค์ขึ้นใหม่เพื่อใช้แสดงในวงโปงลาง ซึ่งถือว่าเป็นชุดการแสดงที่มีชื่อเสียงอีกชุดหนึ่งที่ถือกำเนิดจากบ้านหนองห้าง
เซิ้งกระหยังเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากนายนุ่ม อยู่ในธรรม รองอธิบดีกรมศิลปากร ขณะเป็นนักศึกษาของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ ๑๒ ได้เดินทางไปสังเกตและดูงานกิจการต่าง ๆ ในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2512 และมีโอกาสชมการแสดงเซิ้งกระหยัง
เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการแสดงที่น่าชมมีจังหวะรุกเร้าสนุกสนาน จึงให้ศิลปินกรมศิลปากรไปรับการถ่ายทอดจากศิลปินในอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
ท่าฟ้อนของเซิ้งกระหยังได้ดัดแปลงและนำเอาท่าฟ้อนจากเซิ้งอื่นๆ เช่น เซิ้งกระติบข้าว เซิ้งสาละวัน ฯลฯ เข้าผสมผสานกันแล้วมาจัดกระบวนขึ้นใหม่มีอยู่ 19 ท่า โดยจะแสดงในรูปแบบของการทำมาหากินโดยใช้กระหยังเป็นอุปกรณ์หลัก ซึ่งท่าฟ้อนจึงมีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น ท่าไหว้ ท่าไท ท่าโปรยดอกไม้ ท่าขยับสะโพก ท่าจับคู่ถือกะหยัง ท่านั่งเกี้ยว ท่าสับหน่อไม้ ท่ายืนเกี้ยว ท่ารำส่าย ท่าเก็บผักหวาน ท่ากระหยังตั้งวง ท่าตัดหน้า ท่าสาละวัน ท่ากลองยาว ท่ารำวง ท่าชวนกลับ ท่าแยกวง ท่านั่ง
ฝ่ายหญิงสวมเสื้อภูไทแขนกระบอก ห่มสไบขิดแดง(หากเป็นแบบฉบับกรมศิลปากรจะใช้ผ้าขาว) นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้ สวมเครื่องประดับเงิน ฝ่ายชายสวมเสื้อม่อฮ่อมกางเกงขาก๊วย ใช้ผ้าขาวม้าคาดเอว และโพกศีรษะ
การแสดงแบบดั้งเดิมของบ้านหนองห้างจะใช้พิณ แคน กลอง ฉาบและฉิ่งในการบรรเลงลายไปเรื่อยๆโดยไม่ได้กำหนดลายเพลง เพียงแค่ว่าลายเพลงไหนเข้ากับจังหวะกลองก็จะบรรเลงไปเรื่อยๆไม่ตายตัว แต่หากเป็นแบบฉบับของกรมศิลปากรแล้วจะใช้วงดนตรีพื้นเมืองอีสานบรรเลงลายเซิ้งบั้งไฟ
อุปกรณ์การแสดง กระหยัง