เดือนเจ็ด – บุญซำฮะ

บุญเดือนเจ็ด หรือ บุญซำฮะ เป็นงานบุญที่ชาวอีสานจะจัดขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อปัดรังควานและขับไล่เสนียดจัญไร ตลอดจนเหล่าภูติผีปีศาจหรือสิ่งชั่วร้ายออกไปจากหมู่บ้าน คำว่า “ซำฮะ” ก็คือ “ชำระ” ที่หมายถึง ล้างให้สะอาด “บุญซำฮะ” อาจจะเรียกว่าเป็นบุญบ้าน ซึ่งนอกจากจะทำพิธีขับไล่สิ่งชั่วร้ายแล้ว ยังต้องมีการทำพิธีบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ประชาชนและหมู่บ้านด้วย

ความเป็นมา

ตามตำนานกล่าวไว้ว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ เมืองไพสาลี เป็นยุคเข็ญ เกิดทุพภิกขภัยมากมาย ข้าวยากหมากแพง ฟ้าฝนก็ไม่ตกต้องตามฤดูกาล สรรพสิ่งต่างๆพากันเจ็บป่วยล้มตาย ด้วยโรคห่า ชาวบ้านที่ยังมีชีวิตอยู่จึงไปนิมนต์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อมาปัดเป่าทุกข์ภัย พระพุทธองค์จึงเสด็จมาพร้อมกับพระสงฆ์จำนวน 500 รูป กว่าพระองค์จะเดินทางมาถึงก็ใช้เวลานานถึง 7 วัน เมื่อเสด็จมาถึงพร้อมคณะสงฆ์ก็เกิดฝนห่าแก้วตกลงมาอย่างหนัก จนน้ำท่วมเมืองไพสาลี แล้วน้ำพัดพาเอาซากศพต่างๆ ลงสู่แม่น้ำจนหมดสิ้น พระองค์จึงทำน้ำพระพุทธมนต์ให้พระอานนท์ไปประพรมทั่วเมือง นับตั้งแต่นั้นมาโรคร้ายก็สูญหายไปจากบ้านเมือง

ด้วยความเชื่อตามตำนานนี้ ชาวอีสานจึงได้จัดให้มีประเพณีบุญซำฮะขึ้นในเดือนเจ็ดของทุกปี ในการจัดงาน ชาวบ้านจะทำบริเวณพิธีด้วยการนำต้นกล้วยมาสี่ต้น ทำเป็นเสา ผูกยึดด้วยสายสิญจน์ และมีการโยงสายสิญจน์ไปยังบ้านทุกหลังในหมู่บ้าน แล้วนิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์ นอกจากนี้จะมีการนำหินเข้าพิธี เมื่อปลุกเสกเสร็จแล้ว พระหรือพราหมณ์จะนำหินที่ปลุกเสกไปหว่านทั่วหมู่บ้าน เพื่อปัดรังควาน ในปัจจุบัน บางหมู่บ้านที่มีขนาดใหญ่ชาวบ้านจะนำหินใส่ถุงเขียนชื่อตนเองลงไป เมื่อเสร็จพิธีก็จะมารับกลับไปหว่านที่บ้าน บ้างก็นำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบ้านของตนไปเข้าพิธีเพื่อปลุกเสก โดยมีพระสงฆ์ร่วมด้วย

พิธีกรรม

เมื่อถึงวันทำบุญ ชาวบ้านจะพากันมารวมกันที่ศาลากลางบ้าน หากหมู่บ้านไหนไม่มีศาลากลางบ้าน ก็จะช่วยกันทำปะรำพิธีกลางหมู่บ้าน โดยมีการนำดอกไม้ ธูปเทียน ขันน้ำ ขันใส่กรวดทราย และฝ้ายผูกแขน มารวมที่ศาลากลางบ้าน ตอนเย็นจะนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ และในช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น ชาวบ้านก็จะนำข้าวปลา อาหารมาทำบุญ เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้วจะให้พรและรดน้ำมนต์ให้กับชาวบ้านที่มาในงาน ทุกคนจะเอาขันน้ำมนต์ ด้ายผูกแขน ขันกรวดทรายกลับไปที่บ้านเรือนของตนเอง แล้วนำน้ำมนต์ไปพรมให้แก่ทุกคนในครอบครัว ตลอดจนบ้านเรือน วัว ควาย เอาด้ายผูกแขนลูกหลานทุกคน เชื่อว่าจะนำความสุขและสิริมงคลมาให้ ส่วนกรวดทรายก็จะนำเอาไปหว่านรอบๆ บริเวณบ้านและที่ดิน สวนไร่นา เพื่อขับไล่เสนียด จัญไร สิ่งอัปมงคลทั้งหลายให้หมดสิ้นไป

อย่างไรก็ตาม บางแห่งจะทำบุญซำฮะ เมื่อฝนแล้งหรือไม่ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อทำบุญทำทานนี้แล้ว เชื่อว่าจะทำให้ฝนตกและบ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข เพราะจะได้ทำนาและปลูกพืชพันธ์ุธัญญาหาร เมืองใดที่มีมเหศักดิ์หลักเมือง ก็ทำพิธีเซ่นสรวงหลักเมือง หมู่บ้านใดที่มีผีประจำหมู่บ้านซึ่งเรียกกันว่า “ผีปู่ตา” หรือ “เจ้าบ้าน” ก็จะทำพิธีเลี้ยงในเดือนเจ็ดนี้ นำข้าวปลาอาหารพร้อมสิ่งอื่นๆ ไปเลี้ยงผีประจำไร่นา ซึ่งเรียกว่า “ผีตาแฮก” ด้วย

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ

  • lib.ubu.ac.th
  • isangate.com

 

แชร์
Fern Esan108

สาวอีสานหลานย่าโม แต่ไปเรียนไกลถึงเชียงใหม่ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ สปป.ลาว เป็นผู้ชื่นชอบการเขียนบทความทั้งไทยและเทศ และเน้นสาระประโยชน์แก่ผู้อ่านเป็นสำคัญ

ดูความคิดเห็น