หมวดหมู่ : เรื่องทั่วไป

เมืองโบราณดงเมืองเตย

หากพูดถึงจังหวัดยโสธรแล้ว คงชวนให้เรานึกถึงวัด หรือสถานที่ทางวัฒนธรรม และเมื่อกล่าวถึงชื่อ “เมืองโบราณดงเมืองเตย” ก็คงเป็นอีกที่หนึ่งที่หลายๆ คนรู้จัก ซึ่งวันนี้ทางทีมงานอีสานร้อยแปดก็ขออนุญาตพาทุกท่านได้มาทำความรู้จักกับสถานที่แห่งนี้มากยิ่งขึ้น

ขอบคุณภาพจาก foodtravel.tv

ประวัติความเป็นมา
จากประวัติศาสตร์บ้านสงเปือย (หน่วยศิลปากรที่ 6 นครราชสีมา 2536) กล่าวถึงดงเมืองเตยซึ่งตั้งอยู่ในเขตบ้านสงเปือยไว้ว่า

“ดงเมืองเตยเป็นเมืองเก่าสมัยขอมจะเป็นเมืองร้างมาแล้วนานเท่าไรไม่ทราบได้ สภาพที่เห็นมาจากปู่ย่าตาทวดหลายชั่วอายุคน ดงเมืองเตยมีป่าไม้ขึ้นสูงข้างล่างโปร่ง มีหมู่ไม้เล็กๆ ขึ้นบ้าง ต้นไม้ใหญ่ได้แก่ ไม้ยาง ไม้ตะแบก ไม้ยางเหียง เป็นป่าหนาแน่นมาก พวกพ่อแม่ปู่ย่าตายายไม่กล้าตัดต้นไม้ในดงนี้ เพราะดงเมืองเตยมีผีดุเรียกว่า ผีปู่ตา ป่าไม้จึงเป็นที่อาศัยของลิง และนกหลายจำพวก บึงรอบบริเวณดงเมืองเตยเป็นหนองน้ำขนาดลึกมีน้ำขังตลอดปี เป็นที่อาศัยและเป็นที่เพาะพันธุ์ปลาตามธรรมชาติ นอกจากนกจำพวกต่างๆ แล้วบึงนี้ได้ชื่อว่ามีเต่ามากที่สุด เหตุที่มีเต่ามากเช่นนี้ชาวบ้านนับถือผีปู่ตา ปู่ตาห้ามจับกินทำลายสัตว์พาหนะของท่าน คือ ลิงและเต่า ถ้าเกิดทำอันตรายขึ้นมา จะต้องมีอันเป็นไป”

“ต่อมาเมื่อประมาณ 90 ปีมาแล้ว ชาวบ้านสงเปือยมีหมอร่ำเรียนวิชาอาคมมาทำพิธีปราบผีดงเมืองเตยได้ หมอผู้มีวิชาอาคมผู้นี้ชื่อ ผู้ใหญ่สุวอ เหตุการณ์นี้ตรงกับสมัยพ่อใหญ่อัครฮาด เป็นตาแสง เมื่อชาวบ้านใกล้ไกลได้ยินข่าวพ่อใหญ่สุวอข่มผีดงเมืองเตยได้แล้ว ก็พากันหลั่งไหลมาจับเต่าปลาดงเมืองเตยไปเป็นอาหารจนเกือบเกลี้ยงบึง เต่าจึงเกือบสูญพันธุ์มาจนบัดนี้ พ่อใหญ่สุวอได้แบ่งปันที่บึงออกเป็นที่นาให้พี่น้องญาติมิตรทำนามาจนทุกวันนี้ ส่วนบริเวณดงเมืองเตยได้แบ่งบันทำไร่ สวน ปลูกพืชทำกินมาเท่าทุกวันนี้ อันนี้เป็นเรื่องจริง ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีอายุครบ 90 ปี เช่น พ่อใหญ่อ่อน หอมกลิ่น พ่อใหญ่บู กกเปือย ยังมีชีวิตเป็นพยานอยู่”

 

ขอบคุณภาพจาก foodtravel.tv

 

จากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีอายุประมาณ 90 ปี ของบ้านสงเปือยเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของดงเมืองเตยกล่าวว่า เห็นสภาพของดงเมืองเตยตั้งแต่เยาว์วัยก็คงสภาพที่เป็นในปัจจุบัน คือเป็นเนินดินขนาดใหญ่ที่มีคันดินและคูน้ำล้อมรอบ เหตุที่ได้ชื่อว่าดงเมืองเตย เนื่องจากบริเวณโดยรอบดงเมืองเตยมีต้นเตยซึ่งมีผลกลมเป็นเครือขึ้นอยู่โดยรอบนั่นเอง

จากการศึกษาดงเมืองเตยอย่างละเอียดมากยิ่งขึ้น จึงได้พบว่าชุมชนดงเมืองเตยได้มาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่เมื่อประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว โดยได้ตั้งถิ่นฐานอยู่บนเนินใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งน่าจะดำรงชีพด้วยการเพาะปลูกข้าวเป็นหลัก และได้มีการติดต่อกับชุมชนอื่นๆที่อยู่ห่างไกลภายในภูมิภาค มีการถลุงและผลิตเหล็ก และคงมีการส่งเหล็กเป็นสินค้าออกส่วนหนึ่ง เพราะได้พบปริมาณเศษเหล็กเป็นจำนวนมากภายในชุมชน การอยู่อาศัยมีพัฒนาการทางสังคมที่ซับซ้อน ประชากรของชุมชนมีเพิ่มมากขึ้น มีการติดต่อค้าขายกับชุมชนอื่น เกิดอาชีพต่างๆขึ้น ชุมชนคงมีการขยายตัว เกิดผู้นำชุมชน และต่อมาจึงมีการขุดคูน้ำและทำคันดินขึ้น อาจแสดงให้เห็นถึงการมีระบบชนชั้นขึ้นแล้ว

ถึงแม้ดงเมืองเตยอาจะไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือน ปราสาทเขาพนมรุ้ง หรือปราสาทหินพิมาย ที่อยู่ในละแวกเดียวกันนั้น รวมไปถึงเศษซากที่ไม่ได้ทิ้งร่องรอยไว้อย่างสมบูรณ์มากนัก ซึ่งที่มีให้เห็นก็จะเป็นส่วนฐานของสิ่งก่อสร้างซะส่วนใหญ่ แต่ก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่เหลือไว้ให้เราชาวอีสานได้ชื่นชม ได้ศึกษาประวัติความเป็นมา และได้ร่วมกันดูแลโบราณสถานแห่งนี้ด้วยกัน
ขอขอบคุณข้อมูลจากทาง ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน)

ขอบคุณภาพจาก foodtravel.tv

 

 

แชร์
หนุ่มอุดรนอนนา

หนุ่มอุดร นอนบ่ดึก คึกแต่เช้า ปั้นแต่ข้าวเหนียว อาหารอีสานคือชีวิตจิตใจ เช้าจ้ำป่น เที่ยงขั่วลาบ แลงแกงขี้เหล็ก ความใฝ่ฝัน อยากเฮดเว็บไซต์ให้พี่น้องเฮาได้มาโสเหล่ม่วนซื่นกัน