เรื่องทั่วไป

แมงดา

ชื่อภาษาไทย    แมลงดานา
ชื่อท้องถิ่น          แมงดา
วิทยาศาสตร์ Lethocerus indicus Lep.-Serv.
ชื่อสามัญ Giant water bug
ชื่อชั้น Insecta
อันดับ Hemiptera
ชื่อวงศ์ Belostomatidae

ลักษณะทางกายภาพ

แมลงดานาเป็นจำพวกมวนน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ตัวโตเต็มที่มีขนาดประมาณ 3-4 นิ้ว ตัวผู้มีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย
มีลำตัวยาวเป็นรูปไข่ ด้านท้อง และทางด้านหลังมีลักษณะแบน หัวสีน้ำตาลแก่ปนเขียว ตาลสีดำ

จากประสบการณ์ งมแมงดา ตามท้องไร่ท้องนามา กว่า 15 หยก ๆ  16 หย่อน ๆ  ในประเทศไทย มีแมงดานาอยู่ 3 ชนิด
แมงดานา ชนิดสีน้ำตาลดำ  ชนิดขอบปีก ลาย   และแมงดาปีกทอง
ชนิดที่เราเห็นจนชินตา คือ ชนิดสีน้ำตาลดำ พวกนี้ตัวใหญ่ที่สุด  ชนิดขอบปีกลาย คือ มีลายที่ขอบของปีก ตัวเล็กที่สุด
ในจำนวนทั้งหมด  ส่วนชนิดสุดท้ายคือแมงดาปีกทอง  คือมีสีออกเหลือง ๆ ไม่มีลายที่ขา เรียกได้ว่า แมงดาปีกทอง
มีกลิ่น หอมที่สุดในบรรดาแมงดาทั้งหมด  แต่หาได้ยาก

ปากเป็นแบบเจาะดูด ลักษณะเป็นท่อยาวออกมาจากด้านหน้าของส่วนหัว และเก็บซ่อนไว้ด้านล่างของหัว
ปลายปากมีลักษณะคล้ายหนามแหลม ภาษาอีสานเรียกว่า “ไล” ใช้แทงเข้าไปในร่างกายเหยื่อแล้ว
ฉีดเอนไซม์ เยื่อเนื้อเหยื่อเพื่อดูดกินน้ำเหลวๆในตัวเหยื่อ อาหารของแมลงดานา ได้แก่ ลูกกบ ลูกอ๊อด
หรือ ฮวก ในภาษาอีสาน ลูกอึ่งอ่าง ปู ปลา กุ้ง เขียด และแมลงน้ำต่างๆ

แมงดา

วงจรชีวิต

แมงดาเจริญเติบโตแบบ การลอกคราบ (moulting, ecdysis)  หรือ การเจริญเติบโตแบบไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง
(ametabola, non-metamorphosis)  แมงดานา มีอายุขัย ประมาณ 1.5 ปี ไม่นับพวกที่โชคร้าย เจอฤาษีใหญ่ ผู้บูชาไฟ
“ตึกแห” หรือ งมเอาไปกิน  ตัวนั้นอายุไขไม่นาน เพราะโดน “หักไล”
เมื่อต้นฤดูฝน แมงดาที่อุ้มท้องจะตระเวนหาแหล่งน้ำที่เหมาะสมในการวางไข่  โดยจะอาศัยความมืดบินเสาะหาแหล่งน้ำ
เมื่อตาประกอบของมัน แลเห็น พื้นน้ำ “ขาวมาบ ๆ “ ด้วยสะท้อนกับแสงจันทร์  จึงพุ่งเข้าหาเต็มแรง เต็มสปีด
“ ปัง..!.”
“ เป้ง…..ปัง  ปุ๊ก  ปุก ปุก ! “   แมงนาท้องแก่ถึงกับ สลบไสล
นึกว่าพุ่งเข้าหาพื้นน้ำ ที่แท้ชนกับ หลังคา สังกะสี 5 ห่วง ของจารย์ใหญ่ ที่เพิ่งซื้อมาจากอำเภอมามุงเสร็จหมาดๆ อย่างจัง
เหตุการณ์เช่นนี้มักเกิดประจำเมื่อต้นฤดูฝน  โดยเฉพาะเมื่อเรามุงหลังคาเถียงนาใหม่ๆ สังกะสี ยังขาววับ
แมงดามักบินหาแหล่งน้ำใหม่อยู่เสมอ โดยมากจะเดินทางในเวลากลางคืน  เพราะเมื่อแสงกระทบตามัน
จะทำให้มันสับสนเรื่องทิศทาง  ปฏิกิริยาจะกระตุ้นให้มันหันหน้าเข้าหาแสงทันที

แมงดานับตั้งแต่ออกจากไข่ มันจะลอกคราบ 5 ครั้งเพื่อเติบโตเป็นตัวเต็มวัย มีรูปร่างไม่ต่างจากพ่อแม่
ตัวเมียวางไข่ในช่วงต้นของฤดูฝน วางไข่ตัวหนึ่งประมาณ 150 ฟอง  โดยจะวางไข่ตามยอดหญ้า ที่สูงพ้นน้ำ
เมื่อวางไข่เสร็จ จะผลัดกันเผ้าไข่ กับตัวผู้ที่จับคู่กัน  ใครว่าแมงดาตัวผู้ไม่มีความรับผิดชอบนั้น ผิดถนัดเลยครับ
ใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ ก็จะฟักเป็นตัว

แมงดานาที่จะการลอกคราบเพื่อเติบโตประมาณ 5 ครั้ง คือ ครั้งแรกเมื่อมีอายุได้ 2 สัปดาห์
ครั้งที่สองหลังจากนี้ประมาณ 5-7 วัน และอีกเท่า ๆกัน สำหรับการลอกคราบครั้งที่ 3-4 และ5
ใช้เวลา ประมาณ 1 เดือน เป็นตัวโตเหมือนพ่อแม่  มีอายุตราบวายชนม์ได้ 1 ปี กว่า ๆ

แมงดาตัวผู้ผลิตสารที่มีกลิ่นฉุน  สำหรับมนุษย์ผู้กินแมงดาแล้ว ช่างมีกลิ่นหอมยวนใจ
สารที่มีกลิ่นน่าจับมากินนี้ เป็น สื่อในการหาคู่ของมันครับ  แมงดาตัวผู้ จะมีกลิ่น “ ฮ๊อก”
ส่วนตัวเมียไม่มี  เด้อ แมงดาในภาคอีสาน วางไข่ ปีละ 1 ครั้ง ในช่วงต้นฤดูฝน
ส่วนในภาคกลาง ชุ่มน้ำมากกว่าทางอีสาน จึงวางไข่ได้ 2 ฤดู คือ ต้น พ.ค. และ เดือน ต.ค.
ปัจจุบัน เทคโนโลยีการเกษตร ก้าวหน้า มีการ นำเอาแมงดานา มาเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจ
เนื่องจาก แมงดา ในธรรมชาตินั้นหายาก พอๆ กับคนที่มีใจเสียสละ

ไข่แมงดา

ความเกี่ยวเนื่องกับวิถีอีสาน

ในฤดูลงนา หรือ แรกแย้มแห่งวสันต์  ฝนตกมา พืชต่าง ๆ ก็งอกเงย  ในท่งนามีน้ำขัง “เอ๊าะเจ๊าะ
ตามต้นหญ้า พุ่มไม้ปริ่มน้ำตามท้องนา มักจะพบเห็น ไข่แมงดา  โผล่เหนือน้ำ
ว่าแล้ว ก็ หา “งมแมงดา” เพื่อทำแจ่วแมงดากินเป็นอาหาร  คนอีสานกับแมลง
มีความสัมพันธ์ในการบริโภคค่อนข้างมาก  และเป็นอาหารที่หาได้แทบทุกฤดู

บางรายลงทุกแบกแห “หาตึกแมงดา”  เพราะความแซบของแมงอันนี้  บ้างก็อาศัยช่วงว่าง
จาการไถนาฮุด หาส่อนแมงดา นำไปแจ่วใส่ กบเขียด แซบบ่มีแนวคือ

เมื่อตะวันลงลา ยอดไม้เย็นย่ำ ม่านเมฆด้านตะวันตก แซมสีเหลืองส้มแดง
ผักกะแยงบ่งยอดใหม่ แวมไหวในม่านน้ำ  เขียดจะนาน้อย ลอยคอ พรรณนาความเมื่อยยาก
ควันไฟโรยจากคิงไฟเถียงนาเนิ้ง  เสียงโขลกตำอาหารบ้านทุ่ง หอมกลิ่นแมงดาเจืออัสดง

เหนื่อยล้าปนหิวหอด ดังทิพรส แต้มเติม “ป่นแมงดาใส่เขียดน้อย” ให้เป็นอาหารเลิศล้ำ
จ้ำแจ่วคำได๋  วิญญาณเจือจางในสายลมร่ำทุ่ง   จนหลงลืมในจริต…

แชร์
Alitta Boonrueang