ชื่อพื้นเมือง แมงหัวแข็ง ( ด้วงหนวดยาว) แมงกอก ( ชาวเหมืองแห่ง เหมันต์ )
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Plocaederus obesus Gahan
ชื่อสามัญ : Stem-boring grub
ชื่ออันดับ : Coleoptera
วงศ์ : Cerambycidae
ตัวเต็มวัยเป็นด้วงหนวดยาวสีน้ำตาลแก่ ขนาดหัวยาว 4 ซม.
เพศผู้มีหนวดยาวกว่าลำตัวมาก เพศเมียขนาดสั้น หรือยาวเท่าลำตัว
ปีกแข็งคู่หน้ามีจุดสีเหลืองและแดง กระจายกันอยู่ ดวงตาเป็นลักษณะ ตามรวม
สีดำแบนราบด้านหน้า มีเขี้ยวสองเขี้ยวไว้เจาะเปลือกไม้
วางไข่ในเปลือกไม้ เมื่อโตขึ้น 1 จะเจาะชอนไช หากินตามเปลือกไม้
ตัวหนอน ตัวอ่อนมีเขี้ยวไว้คอยเจาะต้นไม้ ชอบอยู่ตาม ต้นงิ้ว ( ต้นนุ่น ) ต้นมะเดื่อ
ต้นมะม่วงหิมะพานต์ รวมทั้งต้นมะม่วงบางชนิด
เมื่อจะลอกคาบเป็นตัวโตเต็มวัย จะสร้างเปลือกไข่บางๆ สีขาวๆ ในรูของต้นไม้
พอย่างเข้าเดือนที่ 3 จะเป็นตัวอ่อนเจาะออกมา โบยบินหากินต่อไป
ตัวเต็มวัยในช่วงฤดูฝนราวเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เพื่อผสมพันธุ์และวางไข่
ตัวอ่อนของ แมงหัวแข็ง สามารถนำมาเป็นอาหารได้ เนื่องจากมีรสชาติ อร่อย แซบ
ส่วนมากนำมา จี่ใส่ขี้เถ้ากองไฟ ตอนหน้าหนาว อีกทั้งตัวโตเต็มวัย ก็กินได้
อย่างไรก็ตาม แมงหัวแข็ง จัดว่าเป็นศัตรูพืช เนื่องจาก ชอบเจาะ ต้นงิ้ว ต้นมะม่วง
และต้นไม้เนื้ออ่อนอย่างอื่น
สมัยเก่า คนอีสานทำเครื่องนอน เครื่องนุ่งห่มเอง เช่น ผ้าห่ม หมอน อาสนะ ( ฟูกที่นอน )
ซึ่งต้องอาศัย ต้นงิ้ว หรือ ต้นนุ่น เอาใยนุ่น มาทำ จึงต้องปลูกต้นงิ้ว ไว้ตามบ้านแทบทุกบ้าน
นี่เองคือสวรรค์ ของ แมงหัวแข็ง มีอาหารอันอุดมสมบูรณ์ ได้เจาะกินชอนไช
เมื่อถึงคราวหน้าหนาว เสร็จนาแล้ว ตอนเช้าๆ ผู้เฒ่าผู่แก่ ก็จะมาก่อไฟผิง ใต้ต้นงิ้วหน้าบ้าน
หรือหลังบ้าน ลูกหลานก็จะมา “ตุ้มโฮม” กันผิงไฟ แก้หนาว นั่ง “จี่ข้าวจี่ทาไข่ ”
อยู่ข้างกองไฟ ฟังปู่ย่าเล่าเรื่องสนุก ๆ ระว่างนั้น เด็ก ๆ ก็จะเดินเลาะหา หนอนแมงหัวแข็ง
หรือ ด้วงงิ้ว หาเจาะงัดแงะเอาตามเปลือกต้นงิ้ว ตามรูของต้นไม้ ก็จะได้ แมงอันนี้ มา จี่กิน
เป็นที่สนุกสนาน บ้างก็ได้ แมงหัวแข็งตัวโตเต็มวัยมาอ้างกัน
เวลาจับมันจะร้อง เสียงดังเหมือนพลาสติกสีกัน ดังออด แอด.. ออด แอด ด้วยการเอาหัว
ยกขึ้นลงทำให้ปล้องช่วงลำคอของมันสีกัน จนเกิดเป็นเสียงร้อง บางครั้งเด็ก ๆ ก็โดนผู้ใหญ่อำ
บอกว่า “แมงหัวแข็ง เอิ๊กมันหอม” พลางให้เด็กน้อยดม อกแมงหัวแข็ง
แล้วก็โดน “แมงหัวแข็ง หยุมดัง ”
ปัจจุบัน ต้นงิ้วเหลือน้อย เพราะงานหัตถกรรม ผ่าห่ม ฟูกที่นอน ที่ทำด้วยมือ หายไป
ยกหน้าที่ให้เป็นของ โรงงานต่างๆแทน ลูกหลานต่างแยกย้ายจากถิ่นฐาน หาอยู่หากิน
ตามจำนวนต้นงิ้วที่หายไปจาก เฮือนอีสาน การ”ตุ้มโฮม” หาได้ยาก
บางคนไม่รู้จัก แมงหัวแข็ง รู้จักแต่ การหัวแข็งแทน