ชื่อพื้นเมือง : แมงอี , แมงอี่
ชื่อสามัญ : Chorus cicada
ชื่อวิทยาศาสตร์: Ptatylomia radha
ชั้น : Insecta
ลำดับ : Hemiptera
วงศ์ : Cicadidae ( วงศ์เดียวกัน กับจักจั่น)
บางคนบางท่านเห็นภาพแล้ว “ นี่มันจักจั่นนี่นา “ ครับผม ไม่ผิดเท่าใดนัก แมงอี เป็นแมลง วงศ์เดียวกันกับจักจั่น
แต่เป็นคนละพันธุ์กัน แมงอี มีขนาดเล็กกว่า สั้นกว่า ลักษณะทั่วไปจากหัวจรดหาง มีรูปร่างเป็น สามเหลี่ยม
ซึ่งต่างจากจักจั่น ที่มีลักษณะเรียว สีสัน ของแมงอี เท่าที่พบมีสีสวยงานั่นคือ มีสีเขียว และสีใบไม้แห้ง
เสียงร้องของมัน ร้อง “ อี อีๆๆๆๆๆ “ ก้องกังวานป่า นั่นคือที่มาของชื่อ “ แมงอี”
ส่วนมากพบในประเทศเขตร้อน ครับ
มีลำตัวยาว 2- 3 ซม. มีหนวดเป็นรูปขน มีตาเดี่ยว 3 ตาเรียงกันเป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วนหัว ลำตัว และท้อง
จะเชื่อมต่อเป็นส่วนเดียวกัน มีปีกบางใสและยาวกว่าลำตัว เวลาเกาะอยู่กับที่ ปีกจะหุบชิดกันเป็นรูปสามเหลี่ยม
มองคล้าย เครื่องบิน “สเตลท์” ของอเมริกา ใครจะรู้ แรงบันดาลใจของวิศวกรการบิน ที่ผลิต
อาจได้จากการเดินเที่ยว ป่าโคก บ้านเรา แล้วได้ยินแต่เสียง “ อี ๆๆ “ มองหาตัวแมงอี ไม่เห็น
พอจับตัวได้ แอบไปเพ่งพิจ แล้ว คิดออกแบบออกมา
กลายเป็นเครื่องบินรบที่ทันสมัย ตั้งชื่อว่า “ล่องหน”
ตัวอ่อนมีลักษณะรูปร่างเช่นเดียวกับตัวเต็มวัย มีสีน้ำตาลอ่อน ตาโต ขาหน้ามีขนาดใหญ่ไว้สำหรับขุดดิน
เสียงที่เกิดจากแมงอี ไพเราะจนฝรั่งตั้งชื่อให้มันว่า ” แมลงแห่งเสียงประสาน”
ตัวผู้สามารถทำเสียงได้ดังมาก เฉลี่ยอยู่ที่ 100 เดซิเบล เสียงของมันมีความถี่สูง แตกต่างจาก
จักจั่นชนิดอื่น จนเราสามารถได้ยินเป็นเสียงแหลมเล็ก ส่งเสียงร้องในเวลากลางวันมากกว่ากลางคืน และร้องมากที่สุด
เมื่อมีอุณหภูมิประมาณ 32-33 องศาเซลเซียส ช่วงเดือน มีนาคม – เมษายน
ในภาคอีสานเรียกว่า “ฤดู ฝนฮวย”
ส่วนตัวเมีย หรือ อีสานเรียกว่า “โตแม่” ไม่สามารถทำเสียงได้
แหล่งกำเนิดเสียงมาจากบริเวณใต้ลำตัวของท้องปล้องแรกต่อกับส่วนอก เกิดจากการสั่นถี่ยิบ
ของกล้ามเนื้อส่วนปล้องอก เรียกว่า กล้ามเนื้อ Tymbal ดูดีๆ จะคล้าย “ ฮีทซิงค์ “ ของเครื่องคอมพิวเตอร์
จากนั้นเสียงที่มีความถี่ เฉลี่ย 120 เฮิรตซ์ จะถูกส่งผ่าน ถุงลม และจะผ่านการปิด-เปิดของแผ่น opercula
ที่จะปรับแต่งเสียงเป็นครั้งสุดท้าย ป๊าด..มี.ขั้นมีตอน ปานไส้กรอก นครพนม พะนะ
การส่งเสียงของแมงอีตัว ผู้ไม่ต่างไป จากการส่งกลิ่นฟีโรโมนของแมลงชนิดอื่น ๆ
เพื่อเรียกร้องความสนใจจากเพศตรงข้าม แปลเป็นภาษามนุษย์ได้ว่า “มาเอากับข่อยเด้อ”
การเจริญเติบโตของจักจั่นเป็นแบบไม่สมบูรณ์ คือ ระยะตัวอ่อนมีรูปร่างลักษณะเช่นเดียวกับตัวเต็มวัย
ต่างกันที่ตัวอ่อนในระยะแรกไม่มีปีก เมื่อลอกคราบปีกจะค่อย ๆ ยาวออก
ระยะไข่ ตัวเมียจะอาศัยเปลือกไม้ เพื่อวางไข่ เมื่อไข่ฟักกลายเป็นตัวอ่อน
จะร่วงลงสู่พื้นดิน โดยไข่ใช้เวลาฟักประมาณ 4 เดือน
ระยะตัวอ่อน อาศัยในดินที่ความลึกตั้งแต่ 30 เซนติเมตร ถึงมากกว่า 2.5 เมตร
ดูดกินน้ำเลี้ยงจากรากพืช ตัวอ่อนมีขาหน้าขนาดใหญ่สำหรับขุดดิน
บางครั้งจะเห็นดินเป็นแท่งทรงกระบอกเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร
บิดเป็นเกลียวโผล่ขึ้นมาจากดินสูงประมาณ 5-7 เซนติเมตร คล้ายกับดินที่เกิดจากไส้เดือน หรือ “ ขี้ไก่เดียน”
ในภาษาอีสาน แต่มีขนาดใหญ่กว่า นั่นคือ “ ฮังของแมงอี “ หรือรังของจักจั่นชนิดนี้ละครับ
ตัวอ่อนใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือน ในใต้
ตัวเต็มวัย เมื่อตัวอ่อนเจริญเติบโตเต็มที่ จะไต่ขึ้นมาบนลำต้นเพื่อลอกคราบเป็นตัวเต็มวัย
ในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ระยะที่เป็นตัวเต็มวัยจะประมาณ 1-2 เดือน
วงจรชีวิตโดยรวมประมาณ 2 ปี ส่วนใหญ่มันใช้ชีวิตใต้ดิน ช่วงเวลาที่เราเห็นมัน ร้องรำ คือ วงจรสุดท้าย
ของชีวิตแมงอี เมื่อผสมพันธุ์เสร็จ วางไข่ แล้วมันก็จะอำลาวงการเพลง กลับคืนสู่ผืนดิน
ในฤดู”ฝนฮวย” ต้นเดือน มี.ค – ปลายเดือน เม.ย. เมื่อฝนแรก โรยรินแผ่นดินอีสาน ใบไม้ไปไหล่ ออกบ่งใหม่
ฟื้นคืนชีพให้แดนดินอีสานบ้านเฮา ต้นจิก ต้นฮัง ต้นตะแบก ต้นยางนา และต้นไม้ถิ่นหลากหลายชนิด
ผลิใบเพื่อต้อนรับฤดูฝนที่จะมาถึง เมื่อดินชุ่มพอควร แมงอี และ จักจั่น ต่าง โผล่ออกมาจากดินดอน
ไต่ขึ้นกกไม้ เพื่อลอกคราบกลายเป็น ตัวโตเต็มวัย ส่งเสียง แซ่ซ้องสรรเสริญใบเขียวแห่งโคก
เมื่อผ่านพ้นความยากลำบากในห้วงฤดูแล้งมาแล้ว ดังเพลงของ พ่อใหญ่ เทพพร เพชรอุบล ว่า
“ ฝนตกมา มีของกิน “ แมงอี และจักจั่น คืออาหารของชาวอีสาน ที่ฟ้าประทานมาให้
ต่างถือข่องและไม้ส่าว และ ปั้งตั๋ง หรือ กระบอกบรรจุยางไม้เหนียวๆ เพื่อไปหา” ติดจักจั่น”
โคกได๋หละ แมงอี กับจักจั่นหลาย ก็พากันออกหากิน และ บ่ลืมห่อหมกปลาแดก และ ติ๊บข้าวเหนียวห้อยไปด้วย
การหาแมงอันนี้ ปีหนึ่งทำได้ครั้งเดียว ภาคอื่นมีผลไม้ตามฤดู แต่ อีสานเฮามี แมลงตามฤดู ละครับพี่น้อง
ฤดูนี้ มีทั้ง ไข่มดแดง จักจั่น และ แมงอี สำหรับหมู่บ้านไหน ไม่มีโคกป่า กิจกรรมนี้ อาจทดแทนด้วยการหาแมงจินูน
เสียงก้องกังวานของแมลงชนิดนี้ บ่งบอกถึง ความร่มเย็น และพูนสุขในวิถีชีวิต การอุดมสมบูรณ์ด้วย ธรรมชาติ
ได้นอนอิงต้นไม้ใหญ่ร่มครึ้ม หลับตา ฟังเสียงเพลงคอรัส แห่งแมงอีและจักจั่น
พริ้มหลับไปให้เมโลดี้เจือลมเย็น เห่กล่อม