กาดนั่งยอง คล้องย่าม

กาดนั่งยองคล้องย่าม เกิดจากแนวคิดของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดตาก (นายสมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ) เพื่อคืนวัฒนธรรม วิถีชีวิต ให้เมืองตากกลับไปสู่ยุคเดิม ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตของคนเมืองตากแบบดั้งเดิม เป็นถนนสายวัฒนธรรมที่ช่วยอนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น สร้างความภาคภูมิใจในวัฒนธรรม และภูมิปัญญาของคนเมืองตาก อีกทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน และส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในจังหวัด
จากแนวคิดริเริ่มจนถึงผลตอบรับในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่า “กาดนั่งยอง คล้องย่าม” เป็นตลาดที่ไม่ใช่แค่ตลาดธรรมดา แต่เป็นตลาดที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคนจังหวัดตากอย่างแท้จริง โดยที่มาของชื่อ “กาดนั่งยอง คล้องย่าม” มาจากการที่กาดหรือตลาดแห่งนี้ ตั้งร้านวางแคร่ไม้ไผ่สูงประมาณเข่า เวลาซื้อหรือเลือกชมสินค้าต้องนั่งยองๆ การตั้งร้านด้วยแคร่ นอกจากเป็นการส่งเสริมการใช้ไม้ไผ่ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านแล้ว ยังทำให้ไม่บดบังทัศนียภาพทางธรรมชาติ และสวนหย่อมริมแม่น้ำปิงที่สวยงาม
ส่วนคำว่า “คล้องยาม” นั้น เนื่องจากจังหวัดตาก มีหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ และนิยมใช้ย่าม ซึ่งเป็นสินค้าที่ผลิตเองภายในท้องถิ่น และยังเป็นสินค้า OTOP ของจังหวัดตาก ดังนั้นการใช้ถุงย่ามจึงเป็นการสนับสนุนให้มีการซื้อสินค้าพื้นเมืองมาใช้ ช่วยกระจายรายได้ให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และการใช้ย่ามยังเป็นการลดใช้ถุงพลาสติก ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นการคืนธรรมชาติให้เมืองตากอีกทางหนึ่งด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม

ถนนคนเดินเมืองตากริมแม่น้ำปิง

แชร์
สถานที่ อีสานร้อยแปด