ประวัติความเป็นมาของชุมชนมอญบางกระดี่ ในปัจจุบันถ้าสอบถามจากผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ชื่อบางกระดี่เพราะแถบลำน้ำในชุมชนนี้ชุกชุมไปด้วย ปลากระดี่ ซึ่งมีให้เห็นจนถึงปัจจุบัน ส่วนนักวิชาการที่เข้ามาศึกษาประวัติความเป็นมาของชุมชนมอญบางกระดี่จะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่พบชื่อชุมชนนี้ในวรรณกรรมสมัยรัชกาลที่ 2 เช่น นิราศนรินทร์ ของนรินทร์ธิเบศร์ และนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่ แม้จะเดินทางผ่านแถบแสมดำ บางขุนเทียนก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าชุมชนบางกระดี่เกิดขึ้นพร้อมกับวัดบางกระดี่ ซึ่งเป็นธรรมเนียมของคนมอญในประเทศไทยที่เห็นกันอยู่ทั่วไป วัดจะถูกสร้างขึ้นพร้อมกับหมู่บ้าน เพราะคนมอญมีกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาทุกวัน วัดบางกระดี่ ซึ่งสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2420 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ตอนต้น หลังจากครองราชย์ประมาณ 9 ปี ตามประวัติศาสตร์ เล่าสืบกันมาว่าพระอาจารย์เฒ่า ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัด ซึ่งเคยเป็นทาสในเรือนเจ้านายท่านหนึ่งเมื่ออายุครบบวชแล้วจึงขอลาออกบวช เจ้านายท่านนั้นจึงได้ยกที่ดินในแถบบางกระดี่เป็นสถานที่สร้างวัดในปัจจุบันนี้ให้ เมื่อสร้างวัดแล้วจึงเรียกชื่อวัดนี้ว่า “วัดบางกระดี่” พระอาจารย์เฒ่าจึงเป็นเจ้าอาวาสวัดบางกระดี่เป็นรูปแรก ต่อมาชาวบ้านได้ย้ายตามกันมาอยู่เพิ่มขึ้นเกิดเป็นชุมชนอย่างที่เห็นในปัจจุบัน คนมอญบางกระดี่ส่วนใหญ่ย้ายมาจากชุมชนบ้านมอญคลองหมาหอน หรือชุมชนสุนัขหอน มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร คนส่วนน้อยจะมาจากธนบุรีและสมุทรปราการ คำบอกเล่านี้มีมูลยืนยันความถูกต้องจากชื่อ สกุล ได้แก่ สกุล มะคนมอญ, สกุลประเสริฐ, สังข์ทอง, ศรสำแดง, ปุงบางกะดี่, แก่นแดง, เตียเปิ้ล, มอญดะ สกุลดังกล่าวนี้สารถพบกันได้ทั่วไปในชุมชนมอญบางกระดี่ ชุมชนมอญสมุทรสาคร และชุมชนมอญอื่นๆ บ้าง นอกจากนั้นในพิธีรำผีมอญของชุมชนมอญบางกระดี่ ญาติพี่น้องในตระกูลเดียวกันที่มาร่วมในพิธี จะมาจากสมุทรสาครเป็นจำนวนมากและการแต่งกายของชาวมอญบางกระดี่มีความสัมพันธ์กันอย่างเห็นได้ชัด ทั้งผ้านุ่งห่ม และการเกล้าทรงผมเครื่องประดับมวยผม เช่นเดียวกันกับกลุ่มชาวมอญสมุทรสาคร นอกจากการย้ายถิ่นฐานตามพระอาจารย์เฒ่าอย่างที่กล่าวขั้นต้นแล้ว การย้ายถิ่นฐานอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการแต่งงานของคนมอญในชุมชนตามประเพณีมอญ เมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายชายจะมาอยู่ที่บ้านฝ่ายหญิงเป็นส่วนใหญ่