ประมาณปี พ.ศ. 1837 พญามังรายทรงสถาปนาเวียงกุมกามให้เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนา แต่เนื่องจากเวียงกุมกามเกิดปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ จึงย้ายมาอยู่ที่เวียงเชียงใหม่ ซึ่งทำเลที่ตั้งเหมาะสมกว่าในอดีตการคมนาคมระหว่างเชียงใหม่เวียงกุมกาม เวียงหริภุญไชยและอาณาจักรอื่นๆ จะใช้แม่น้ำปิงเป็นหลัก ต่อมาเกิดน้ำท่วมใหญ่ แม่น้ำปิงเปลี่ยนร่องน้ำจากเดิมไหลผ่านด้านทิศตะวันออกของเวียงกุมกามมาเป็นด้านทิศตะวันตก ร่องน้ำเดิมถูกตะกอนทับถมจนตื้นเขิน เหลือเป็นเพียงร่องน้ำขนาดเล็ก ชาวบ้านเรียกร่องน้ำนี้ว่าปิงห่าง (สรัสวดี,2537) ต่อมามีการตั้งบ้านเรือนตามแนวปิงห่างมากขึ้นเกิดเป็นชุมชนหลายแห่ง ชุมชนแต่ละแห่งมีการติดต่อไปมาหาสู่เป็นประจำ จึงเกิดเป็นทางสัญจรระหว่างชุมชนและพัฒนาเรื่อยมาเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญระหว่างเชียงใหม่กับลำพูน และมีการปรับปรุงและซ่อมแซมตลอดมา ประมาณปี พ.ศ.2438 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่5 พระยาทรงสุรเดช (อั้น บุนนาค) ข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวเฉียง ได้ปรับปรุงและขยายเส้นทางสายนี้ให้กว้างขึ้น จนเกวียนสามารถเดินได้ (หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ร.ศ. 114) และในปี พ.ศ. 2449 ( ร.ศ. 124) เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ ได้ปรับปรุงเส้นทางสายนี้อีกครั้งโดยให้ มิสเตอร์ โรเบิร์ต ข้าหลวงโยธาเป็นผู้ให้คำแนะนำซึ่งการปรับปรุงครั้งนี้ทำให้เส้นทางสายนี้สภาพดีขึ้นและมีความกว้างกว่า 3 วา เท่ากันตลอดทั้งเส้น (หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ร.ศ. 124) เป็นที่มาของถนนสายเชียงใหม่-ลำพูนสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้ ถนนสายนี้เริ่มต้นที่เชิงสะพานนวรัฐ ตรงไปตำบลหนองหอย และเริ่มเลียบแนวปิงห่างที่วัดกู่ขาวไปจนถึงลำพูน