ปราสาทหินพนมวัน ตั้งอยู่ที่บ้านมะค่า ตำบลโพธิ์ ถนนสายโคราช-ขอนแก่น จังหวัดนครราชสีมา เป็นโบราณสถานสถาปัตยกรรมในคติความเชื่อของเขมรโบราณ สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 เพื่อเป็นเทวสถาน ต่อมาภายหลังดัดแปลงเป็นพุทธสถาน เป็นปราสาทหินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย … ตัวปราสาทหินพนมวันสร้างเป็นปรางค์มีฉนวน (ทางเดิน) ติดต่อกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมยาว 25.50 เมตร กว้าง 10.20 เมตร พระปรางค์มีประตูซุ้ม 3 ด้าน ซุ้มประตูด้านทิศเหนือ ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางประธานอภัย 1 องค์ ลักษณะศิลปะแบบอยุธยา รอบปราสาทเป็นลานกว้างมีระเบียงคดก่อด้วยหินกว้าง 54 เมตร ยาว 63.30 เมตร ประกอบด้วยประตูทางเข้า 4 ทิศ ทางด้านทิศตะวันออกมี “บาราย” หรือสระน้ำขนาดใหญ่ประจำชุมชน เรียกว่า “สระเพลง” ซึ่งยังคงสามารถใช้ประโยชน์ได้ถึงปัจจุบัน ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปรางค์มีอาคารก่อด้วยหินทรายสีแดงเรียกว่า “ปรางค์น้อย” ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหินขนาดใหญ่ บริเวณโดยรอบปราสาทมีระเบียงคด สร้างด้วยหินทรายและศิลาแลงล้อมเป็นกำแพงอยู่ ประตูทางเข้าเทวสถาน มีซุ้มประตูสลักหินทรายขนาดเล็กก่อสร้างเป็นรูปหอสูงทั้งสี่ทิศ บริเวณรอบนอกปราสาททางด้านทิศตะวันออกห่างจากโบราณสถานเกือบ 300 เมตร มีร่องรอยของคูน้ำและเนินดิน เรียกกันแต่เดิมว่า “เนินนางอรพิมพ์” หรือ “เนินอรพิม” นอกจากนี้ยังพบศิลาแลงจัดเรียงเป็นแนวคล้ายซากฐานอาคารบนเนินแห่งนี้ด้วย สันนิษฐานว่าน่าจะเป็น “พลับพลาลงสรง” ในรูปแบบพิเศษที่ไม่เคยพบในที่อื่น ๆ ของประเทศไทย อาจใช้เป็นเรือนสำหรับรับรองเจ้านายหรือเป็นวังของผู้ปกครองเมืองพนมวัน แล้วก็เป็นพลับพลาพระตำหนักรับเสด็จพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หรือผู้แทนพระองค์ที่น่าจะเดินทางมาถึงปราสาทพนมวันในยุคพุทธศตวรรษที่ 18 เพื่อถวายพระพุทธรูปพระชัยพุทธมหานาถ และจากการขุดค้นทางโบราณคดีโดยกรมศิลปากร ทำให้รู้ว่าปราสาทหินพนมวันสร้างขึ้นจนเป็นยอดปราสาทโดยสมบูรณ์ แต่ก็พังทลายแบบถล่มลงมาอย่างรุนแรงทำให้ชิ้นส่วนรูปสลักที่มีอยู่ไม่มากนักกระทบกันจนแตกหัก เรือนยอดปราสาทแตกละเอียดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจนยากที่จะซ่อม ส่วนหน้าบันยังมีหลงเหลือจนเกือบครบทุกด้าน มีทั้งที่ยังไม่เริ่มแกะสลักไปจนถึงแกะสลักเสร็จแล้ว … สิ่งที่น่าสนใจของปราสาทหินพนมวัน คือ เป็นศาสนสถานที่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ ถูกสร้างในแบบศาสนาพราหมณ์ แต่มีการค้นพบพระพุทธรูป, แผนผังของปราสาทหินพนมวันมีรูปแบบเดียวกันกับปราสาทหินพิมาย ใน ศิลปะร่วมแบบบาปวน และการก่อสร้างที่ลำบากเพราะแถบนี้ไม่มีภูเขาหินทราย จึงต้องไปเอาหินทรายมาจากที่ไกลแล้วขนมา จึงใช้หินทรายแดงที่มีคุณภาพต่ำผสมกับหินทรายสีขาวเทาเพราะ แหล่งวัตถุดิบที่ใกล้สุดมีหินทรายทั้งสองสีผสมกัน
เป็นศาสนสถานในแบบศาสนาพราหมณ์