ตำนาน ปราสาทโดนตวล กล่าวถึงสตรีสูงศักดิ์ที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม แต่มีลักษณะอาภัพ คือหน้าอกใหญ่ ไปไหนมาไหนไม่สะดวก ต้องเอาสายสร้อยทองคำเป็นสาแหรกรองรับไว้ กิตติศัพท์เลื่องลือไปจนถึงกษัตริย์ขอม จึงให้เหล่าอมาตย์มารับนางไปเฝ้า แต่ขณะเดินทางได้พักที่ลานหินโดนตวล ขณะนั้นตาเล็งซึ่งเป็นคนบ้านเดียวกันกับนางนมใหญ่ ได้เข้าไปตามนางนมใหญ่กลับไป เกิดการต่อสู้กับเหล่าอำมาตย์จึงฆ่าตาเล็ง ทิ้งไว้ที่ป่า บริเวณที่สร้างปราสาทโดนตวล ปราสาทโดนตวล เป็นปราสาทขอมโบราณขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ริมหน้าผาสูง บนเทือกเขาพนมดงรัก บริเวณใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา ประกอบด้วยปรางค์รูปสี่เหลี่ยมย่อมุม ก่อด้วยอิฐ ซุ้มประตูก่อด้วยศิลา และมีรูปสิงโตจำหลักอยู่หน้าปราสาท ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก บริเวณหน้าปราสาทมีถนนปูด้วยหินขนาดเล็ก กว้าง 6 เมตร มีเสาหิน 2 คู่ สูง 3 เมตร อยู่ห่างกันราว 250 เซนติเมตร ซุ้มประตูทางเข้าปราสาทมีรูปสิงห์โตจำหลักตั้งอยู่บนแท่นข้างละ 1 ตัว ตัวปราสาทประกอบด้วยซุ้มประตู และปรางค์ 2 องค์ ซุ้มประตูมีจำนวน 3 ประตำ ก่อด้วยศิลา ประตูกลางมีขนาดใหญ่ที่สุด กว้าง 1 เมตร สูง 2.5 เมตร ประตูเล็กซ้ายขวา กว้าง 70 เซนติเมตร สูง 1.8 เมตร กรอบประตูและศิลาทับหลังไม่ได้จำหลักลวดลาย ปรางค์องค์หน้าอยู่ถัดจากซุ้มประตูเข้าไปประมาณ 1 เมตร หักพังจนมีสภาพเป็นกองอิฐทับถมกันอยู่ ปรางค์องค์ในอยู่ห่างจากปรางค์องค์แรกประมาณ 1 เมตร ก่อด้วยอิฐและศิลาแลงฐานทำเป็น 4 ชั้น กว้างด้านละ 6 เมตร สูง 26 เมตร ตัวปรางค์มีประตูเข้าออกทางด้านหน้า 1 ประตู กว้าง 1 เมตรสูง 2 เมตร คูหาปรางค์มีเนื้อที่ 3.7 x 3 เมตร ลักษณะของปรางค์เป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมสลับซับซ้อนลดหลั่นกันไปจนถึงยอด ห่างจากปราสาทประมาณ 10 เส้น มีสระน้ำขนาดใหญ่กว้างด้านละ 80 เมตร มีร่องระบายน้ำจากยอดเขาลงมาสู่สระร่องน้ำลึกประมาณ 2 เมตร ประวัติศาสตร์ยังไม่มีปรากฏแน่ชัด แต่สันนิษฐานได้จากการที่กรมศิลปากรบันทึกไว้ว่าที่ช่องตาเฒ่า ตำบลบึงมะลู อำเภอกันทรลักษ์ ซึ่งเป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษ ได้มีการสำรวจพบ เทวรูปทำด้วยหิน 1 องค์ สูง 2 ศอก กว้าง 1 คืบเศษนั่งแท่นหินที่แท่นมีจารึกอักษร โบราณสถานช่องตาเฒ่าที่กรมศิลปากรได้บันทึก คือ ปรางค์ศิลาโดนตวล สำหรับอายุของปราค์ศิลาแห่งนี้คงอยู่ราว พ.ศ. 1500 – พ.ศ. 1650