พระตำหนักพระจันทร์ลอย

ตำหนักพระจันทร์ลอย ตั้งอยู่ห่างจากปราสาทนครหลวงประมาณ 90 เมตร จากการดำเนินการขุดแต่งเมื่อปี พ.ศ. 2534 พบแนวพื้นปูอิฐทำให้ทราบว่าตำหนักพระจันทร์ลอยสร้างคร่อมทับสิ่งก่อสร้างเก่าหลังหนึ่งและจากหลักฐานเอกสารสันนิษฐานว่า ซากสิ่งก่อสร้างนั้น คือ ตำหนักนครหลวง ซึ่งสมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้ประทับร้อนระหว่างทางเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปนมัสการพระพุทธบาทสี่รอย จังหวัดสระบุรี แต่ก่อนมาจากสภาพซากตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในระยะทางเสด็จประพาสมณฑลอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2421 ทำให้สันนิษฐานว่า ตำหนักนครหลวงคงจะมีลักษณะเป็นตำหนักยาวอย่างพระที่นั่งจันทรพิศาลในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี ตำหนักพระจันทร์ลอยที่เห็นกันในปัจจุบันเป็นอาคารจตุรมุข เป็นของที่ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระปลัด (ปลื้ม) ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูวิหารกิจจานุการอาคารทรงจตุรมุขดังกล่าวเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนมีบันไดทางขึ้นเตี้ยภายในประดิษฐานพระจันทร์ลอย แผ่นศิลาที่ชาวบ้านเรียกกันว่า พระจันทร์ลอย ซึ่งประดิษฐานอยู่ในมณฑปจตุรมุขนี้เดิมอยู่ที่วัดเทพพระจันทร์ (ปัจจุบันชื่อวัดเทพพระจันทร์ลอย) ตำบลนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่พระวิหารกิจจานุการ (ปลื้ม) ได้นำมาประดิษฐานไว้ที่อาคารหลังนี้ พระจันทร์ลอยนี้เป็นแผ่นหินแกรนิตรูปวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตรหนา 6 นิ้ว ด้านหน้าสลักเป็นรูปเจดีย์ 2 องค์ พระพุทธรูป 3 องค์ เจดีย์องค์หนึ่งเป็นรอยสลักอยู่เดิม แต่เจดีย์อีกองค์หนึ่งและ พระพุทธรูปสามองค์มีปูนปั้นพอกให้นูนเด่นออกมามากกว่าหน้าศิลาคงจะมีผู้ทำขึ้นภายหลังด้านใต้มีรอยสลักลายตรงกลางมีรูปต่างๆ ที่ปรากฎชัดเป็นรูปปลา 2 ตัว เหมือนสัญลักษณ์ราศรีมีน ต่อจากลายมาสลักเป็นลวดโค้งเหมือนรอยต้นพระบาท ลายเหล่านี้ลบเลือนมาก สันนิษฐานได้ว่าแผ่นศิลาพระจันทร์ลอยนี้คือ ธรรมจักร ซึ่งยังทำไม่เสร็จ

แชร์
สถานที่ อีสานร้อยแปด