พระธาตุหนองคาย หรือ พระธาตุกลางน้ำ เดิมชื่อพระธาตุหล้าหนอง เป็นพระธาตุที่หักพังอยู่กลางลำน้ำโขง เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุฝ่าพระบาทเก้าพระองค์ตามตำนานอุรังคธาตุ หรือตำนานพระธาตุพนม จากการสำรวจใต้น้ำของหน่วยโบราณคดีภาค 7 พบว่าองค์พระธาตุมีฐานกว้างด้านละ 17.2 เมตร ย่อมุมที่ฐาน และมีความสูงประมาณ 28.5 เมตร หักออกเป็น 3 ท่อน สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 20–22 เนื่องจากมีรูปร่างคล้ายพระธาตุบังพวนในหนังสืออุรังคธาตุ หรือตำนานพระธาตุพนม ตอนหนึ่งได้กล่าวถึงการสร้างพระธาตุหล้าหนองว่า พระธาตุองค์นี้ สร้างโดยพระอรหันต์ 5 องค์ ประกอบด้วย พระมหารัตนเถระ, พระจุลรัตนเถระ, พระมหาสุวรรณปราสาทเถระ, พระจุลสุวรรณปราสาทเถระ และพระสังฆวิชัยเถระ ที่ล้วนเป็นศิษย์พระพุทธรักขิต พระธรรมรักขิต พระสังฆรักขิต พระอรหันต์ทั้ง 3 องค์ พระอรหันต์ทั้ง 5 ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า จากประเทศอินเดียมาพร้อมกันและได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้พร้อมกัน 6 แห่ง คือ พระธาตุหอผ้าหอแพ บ้านทรายฟอง เมืองหาดทรายฟอง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พระธาตุหัวเหน่า 29 องค์ บรรจุไว้ที่พระธาตุหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พระอุรังคธาตุ หรือพระธาตุหน้าอก บรรจุไว้ที่พระธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม พระธาตุบังคล หรือกระเพาะอาหาร บรรจุไว้ที่พระธาตุบังพวน วัดพระธาตุบังพวน อำเภอเมืองหนองคาย พระธาตุเขี้ยวฝาง 7 องค์ บรรจุไว้ที่พระธาตุโพนจิกเวียงงัว อำเภอเมืองหนองคาย พระธาตุฝ่าพระบาทเบื้องขวา 9 องค์ บรรจุไว้ที่พระธาตุเมืองลา หรือ พระธาตุหล้าหนอง อำเภอเมืองหนองคาย โดยพระธาตุหล้าหนองนี้ตั้งอยู่กลางบริเวณวัดธาตุ หรือวัดสิริมหากัจจายน์ ชุมชนวัดธาตุ เทศบาลเมืองหนองคาย พระธาตุองค์นี้มีขนาดใกล้เคียงกับองค์เจดีย์พระธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งบริเวณวัดธาตุแห่งนี้มีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 100 ไร่ และตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง พอถึงฤดูน้ำหลากแม่น้ำโขงที่ไหลเชี่ยวกรากจะกัดเซาะตลิ่งบริเวณวัดธาตุจนพังทลายหายไป ซึ่งตามประชุมพงศาวดาร ภาค 70 ได้บันทึกไว้ว่า น้ำโขงกัดเซาะตลิ่งพังเข้าไปจนถึงองค์พระธาตุหล้าหนอง และพระธาตุได้พังลงในแม่น้ำโขง เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 9 เวลาใกล้ค่ำ ร.ศ.66 จ.ศ.1209 พ.ศ. 2309 ฟรองชีวการ์นิเยร์ ชาวฮอลันดา หนึ่งในคณะสำรวจอินโดจีนในอาณาจักรล้านช้าง ได้วาดภาพลายเส้นของพระธาตุหล้าหนองนี้ไว้เมื่อปี พ.ศ. 2411 พร้อมคำบรรยายภาพว่า ปิรมิด หรือองค์พระธาตุตั้งอยู่บนพื้นที่รูปครึ่งวงกลมที่ถูกตัดขาดจากฝั่งแม่น้ำด้านขวา หรือฝั่งไทย โดยปิรมิดแห่งนี้ถูกน้ำพัดขาดจากที่ตั้งเดิมบนริมฝั่งสิบปีมาแล้วและยังเอียงลงสู่น้ำราวกับเรืออับปางที่พร้อมจะจมลง