พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2517 โดยนายสุธี โอบอ้อม ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ขณะนั้น เป็นผู้ริเริ่มชักชวนให้ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน นำศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ มาบริจาค และจัดแสดงไว้ที่ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งต่อมาภายหลังได้ย้ายไปเก็บรักษาและจัดแสดง ณ อาคารสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุรินทร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 กรมศิลปากรมีนโยบายที่จะปรับปรุง และจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำจังหวัด (พิพิธภัณฑ์เมือง) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ จึงได้ปรับปรุงโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ ไว้ในแผนงานอนุรักษ์ พัฒนาและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 โดยได้ทำความตกลงกับกรมธนารักษ์ ในการขอใช้ที่ดินบริเวณ กม. ที่ 4 ริมถนนสายสุรินทร์-ปราสาท เป็นสถานที่จัดตั้ง กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศกำหนดสถานที่จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ ลงในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่มที่ 115 ตอนที่ 104 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2541 ในขณะนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์เสร็จสมบูรณ์แล้ว พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสุรินทร์ ตั้งอยู่ที่ถนนสุรินทร์-ปราสาท หมู่ที่ 13 ตำบลเฉนียง มีการจัดแสดงเป็น 4 ส่วน คือ อาคารที่ 1 เป็นโถงทางเข้าและทางเดิน อาคารที่ 2 เป็นส่วนการศึกษา ประกอบด้วย ห้องประชุม ห้องกิจกรรม ห้องรับรอง ห้องสมุด อาคารที่ 3 เป็นอาคารจัดแสดงและสำนักงาน ประกอบด้วย ห้องนิทรรศการถาวร ห้องนิทรรศการชั่วคราว ห้องทำงานเจ้าหน้าที่ อาคารที่ 4 เป็นคลังพิพิธภัณฑ์ ประกอบด้วย ห้องคลังโบราณวัตถุ ห้องปฏิบัติการอนุรักษ์และสงวนรักษา เนื้อหาการจัดแสดงในห้องนิทรรศการของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ กรมศิลปากรได้รับความร่วมมือจากผู้ทรงคุณวุฒิในท้องถิ่นช่วยค้นคว้าและรวบรวม โดยการจัดแสดงแบ่งออกเป็น 5 เรื่อง คือ ธรรมชาติวิทยา โบราณคดี ประวัติศาสตร์เมือง ชาติพันธุ์วิทยา และมรดกดีเด่นประจำจังหวัด โดยจัดแสดงในอาคารที่ 3 ดังนี้ ชั้นล่าง จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยาในด้านต่างๆ ประวัติศาสตร์โบราณคดีตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ประวัติศาสตร์เมืองตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบัน และมรดกดีเด่นในเรื่องการเลี้ยงช้าง ชั้นบน จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับชาติพันธุ์ของชาวไทยเชื้อสายเขมร ชาวไทยเชื้อสายลาว ชาวไทยเชื้อสายกูย และชาวไทยโคราช ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ และมรดกดีเด่นในงานหัตถกรรมและศิลปะการแสดงพื้นบ้านในด้านต่างๆ พิพิธภัณฑ์นี้เปิดทุกวัน เวลา 09.00-16.00 น. เว้นวันจันทร์-อังคาร และวันนักขัตฤกษ์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 4451 3358 หรือ www.thailandmuseum.com