พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา

พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา ภายใต้การบริหารของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มีพัฒนาการมาจาก “หอวัฒนธรรม” ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2523 เมื่อครั้งสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ยังเป็น “ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม” ของวิทยาลัยครูนครราชสีมา โดยมีว่าที่ ร.ต. ถาวร สุบงกช เป็นหัวหน้าศูนย์ศิลปวัฒนธรรมท่านแรก ใช้ห้อง 514 และ 515 เป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และสิ่งอื่น ๆ ที่ได้รับความไว้วางใจจากชุมชนมอบให้เป็นผู้เก็บรักษา และขอซื้อเพิ่มเติมในบางส่วน โดยบูรณาการให้เป็นนิทรรศการที่นำเสนอเนื้อหาประวัติความเป็นมาของจังหวัดนครราชสีมา … ในปี พ.ศ. 2528 ผศ.ดร. เกียรติศักดิ์ นาคประสิทธิ์ หัวหน้าศูนย์ศิลปวัฒนธรรมท่านต่อมา ได้ย้ายสำนักงานศูนย์ศิลปวัฒนธรรมไปอยู่ชั้นล่างของห้องประชุม 10.21 ของอาคาร 10 แต่ยังคงใช้ห้อง 514 และ 515 เป็นหอวัฒนธรรมเช่นเดิม … ในปี พ.ศ. 2529 รองศาสตราจารย์ ดร. ทองคูณ หงส์พันธุ์ อธิการบดีในขณะนั้น ได้ย้ายสำนักงานศูนย์ศิลปวัฒนธรรมและหอวัฒนธรรมไปยัง อาคาร 2 ซึ่งเป็นอาคารไม้ดั้งเดิมของสถาบัน เพื่อความสะดวกในการดำเนินงาน เนื่องจากมีพื้นที่กว้างขวางมากขึ้น โดยแบ่งเป็นห้องต่าง ๆ ได้แก่ ห้องสำนักงาน ห้องเอกสารทางวัฒนธรรม ห้องนิทรรศการและสาธิต (แบ่งออกเป็น ห้องฝึกอบรม และห้องนาฏศิลป์) ห้องจัดแสดงนิทรรศการ แบ่งออกเป็น ห้องของดีโคราช ห้องเอกลักษณ์ไทย ห้องงานอาชีพพื้นบ้าน และห้องโบราณวัตถุ … จากนั้น ในปี พ.ศ. 2538 ผู้ช่วยศาสตราจารย์อุทัย เดชตานนท์ อธิการบดีในขณะนั้น มีโครงการในการจัดสร้างอาคารบนพื้นที่อาคาร 1 และอาคาร 2 แต่ไม่ต้องการรื้อถอนอาคารทั้งสอง จึงได้ทำการเคลื่อนย้ายอาคารโดยวิธีการดีดขึ้นบนรางรถไฟเคลื่อนย้ายไปทางทิศตะวันออกของสนามฟุตบอล แต่เนื่องจากอาคารทั้งสองมีความยาวมากจึงทำการตัดบางส่วนออกแล้วยุบรวมอาคารทั้งสองเข้าด้วยกันและให้หมายเลขอาคารว่าอาคาร 1 … อาคาร 1 ได้รับการพัฒนาให้เป็นอาคารหอวัฒนธรรม โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์นฤมล ปิยวิทย์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรมในขณะนั้นได้ปรับปรุงรูปแบบการจัดแสดงออกเป็นห้องต่างๆ จำนวน 7 ห้อง โดยมีห้องหลัก คือ ห้องเมืองโคราช นำเสนอเนื้อหาประวัติจังหวัดนครราชสีมาตามหลักวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ โดยมีคณาจารย์โปรแกรมวิชาประยุกต์ศิลป์ (ทัศนศิลป์) ช่วยดำเนินการออกแบบและช่วยควบคุมการก่อสร้าง ซึ่งนับได้ว่าเป็นต้นแบบของพิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมาในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังได้จัดแสดงนิทรรศการด้านศิลปวัฒนธรรมแขนงอื่น ๆ ในห้องต่าง ๆ ได้แก่ ห้องพุทธศาสตร์ ห้องจริยธรรม ห้องดนตรีศิลปกรรม ห้องประวัติสถาบัน บ้านโคราช และพิพิธภัณฑ์เพลงโคราช และบ้านโคราช … ในปี พ.ศ. 2555 มหาวิทยาลัยต้องการใช้พื้นที่บริเวณอาคาร 1 เพื่อดำเนินการก่อสร้างศูนย์รวมกิจการนักศึกษาและศูนย์ประชุมนานาชาติ ดังนั้นในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 หอวัฒนธรรมจึงได้ถูกรื้อถอนอีกครั้งหนึ่ง … พ.ศ. 2556 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เศาวนิต เศาณานนท์ อธิการบดีในขณะนั้น ได้อนุมัติงบประมาณ จำนวน 4.5 ล้านบาท เพื่อให้อาจารย์วิลาวัลย์ วัชระเกียรติศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรมในขณะนั้น ดำเนินการออกแบบและจัดสร้างหอวัฒนธรรม ณ อาคาร 10 ซึ่งเป็นอาคารดั้งเดิมของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ใช้งานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2515 โดยได้ปรับปรุงบทและเนื้อหาการจัดแสดงโดยใช้รูปแบบเดิมที่เคยจัดแสดง ณ อาคาร 1 มาเป็นฐาน ต่อยอดการพัฒนาโดยเน้นความเชื่อมโยงของเรื่องราวร่วมกับโบราณวัตถุที่จัดแสดง และพัฒนาเนื้อหาในส่วนของความเจริญของจังหวัดนครราชสีมาในด้านต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อให้เห็นพัฒนาการของจังหวัดนครราชสีมาที่มีเป็นมาอย่างยาวนาน และเปลี่ยนชื่อมาเป็น “พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา” ภายใต้แนวคิด “บรรยากาศย้อนอดีต เพลินพินิจนครราชสีมา” ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2557 ในสมัยการบริหารของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฐกิตติ์ อินทร์สวรรค์ ผู้อำนวยการสำนักฯ ท่านปัจจุบัน … พ.ศ. 2558 ได้รับงบประมาณจากมหาวิทยาลัยให้ดำเนินการปรับปรุงห้องประชุม 10.21 เพื่อใช้เป็นโรงละครขนาดเล็กและรองรับผู้มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมาเป็นกลุ่มใหญ่ รวมถึงได้รับงบประมาณในการสร้างลานวัฒนธรรมบริเวณด้านหน้าอาคาร 10 เพื่อใช้เป็นเวทีกลางแจ้งโดยมีผลทางอ้อมในการแก้ปัญหาน้ำท่วม (เริ่มปรับปรุงในเดือนพ.ย. 2558) … พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา ได้รับการคัดเลือกจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมพรรษา 5 รอบ … พ.ศ. 2559 ได้ดำเนินการก่อสร้างห้องคลังวัตถุพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ บริเวณชั้นสอง ของอาคาร 10 ฝั่งทิศตะวันออก เพื่อใช้เป็นห้องปฏิบัติการในการซ่อมบำรุง และจัดเก็บวัตถุที่ไม่ได้จัดแสดง … การปรุงเรือนโคราช โดยการบริจาคจาก ศิษย์เก่าโรงเรียนฝึกหัดครูนครราชสีมา วิทยาลัยครูนครราชสีมา สถาบันราชภัฏนครราชสีมา และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา นำโดย ดร.นิเชต สุนทรพิทักษ์ ซึ่งท่านเป็นทั้งศิษย์เก่าโรงเรียนฝึกหัดครูและอาจารย์เก่าของวิทยาลัยครูนครราชสีมา เพื่อให้เรือนโคราชเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของคนโคราช มูลค่ากว่า 4 ล้านบาท เริ่มดำเนินการก่อสร้าง เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ทำพิธีขึ้นเรือนใหม่ (ขึ้นบ้านใหม่) ในวันที่ 17 ธันวาคม 2559 … พ.ศ. 2561 “เรือนพ่อคง เรือนโคราช มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา” ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2561 ประเภทอาคารสถาบันและอาคารสาธารณะ จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมป์

ข้อมูลเพิ่มเติม

โบราณวัตถุ, ศิลปวัตถุ

Facebook

พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา Korat Museum

แชร์
สถานที่ อีสานร้อยแปด