วัดบางยี่หน

วัดบางยี่หน ตั้งอยู่บริเวณปากคลองยี่หน อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี คลองนี้เป็นคลองขุด ที่ขุดขึ้นในสมัยโบราณ มีประตูระบายน้ำของกรมชลประทาน เรียกว่าประตูน้ำบางยี่หน พระกรุนี้แตกเมื่อตอนปี พ.ศ. 2504 เนื่องจากในสมัยนั้นยังมีการติดต่อค้าขายทางเรือ และมีพวกชาวมอญกลุ่มหนึ่งที่ค้าขายทางเรือด้านนี้เป็นประจำและได้จอดพักเรือใกล้วัดบางยี่หน พอตกกลางคืนได้เข้าไปแอบเจาะองค์พระเจดีย์ข้างโบสถ์ อาจารย์พ่วง สุวัณโณ เจ้าอาวาสในสมัยนั้น ท่านได้ยินสุนัขเห่าเสียงดังอยู่นาน ท่านจึงหยิบไฟฉายออกมาสำรวจดู พอถึงตรงเจดีย์ก็พบว่า มีคนมาแอบเจาะเจดีย์และวิ่งหนีไป อาจารย์พ่วงกับพระลูกวัดจึงสำรวจดูพบว่า องค์พระเจดีย์ถูกเจาะเป็นโพรง พบว่าภายในมีพระเครื่องบรรจุอยู่เป็นจำนวนมาก ทางวัดจึงจัดเวรยามเฝ้าในคืนนั้น พอรุ่งเช้าจึงเข้าสำรวจดูอีกที ท่านอาจารย์พ่วงคิดว่าขืนปล่อยไว้แบบนี้ ต่อไปก็คงมีคนมาแอบเจาะเจดีย์อีก และอาจทำให้องค์พระเจดีย์พังชำรุดลงมาได้ ท่านจึงตัดสินใจเกณฑ์พระเณรและชาวบ้านให้มาช่วยกันนำพระเครื่องทั้งหมดออกมา พระที่พบมีอยู่สองพิมพ์คือ พระพุทธชินราช และพิมพ์เชียงแสน เป็นพระเนื้อดินเผาทั้งหมด พระพิมพ์พระพุทธชินราชของกรุนี้เป็นพระประทับนั่งปางสมาธิขัดเพชรบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย อยู่ภายในซุ้มเรือนแก้ว ด้านหลังมีพระพุทธรูปสององค์ องค์ทางซ้ายประทับนั่งปางมารวิชัยอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว อีกองค์ประทับยืน ส่วนพระพิมพ์เชียงแสน พุทธลักษณะเป็นพระประทับนั่งปางสมาธิขัดเพชร องค์พระอวบอ้วนล่ำสันกว่าพิมพ์พระพุทธชินราช ประทับนั่งบนฐานบัว ซุ้มโดยรอบเป็นรัศมีแฉก การตัดขอบเข้ารูป พระทั้งหมดทางวัดได้นำมาให้ประชาชนเช่าบูชา เพื่อนำปัจจัยมาซ่อมบำรุงองค์พระเจดีย์และบูรณะวัดต่อไป พระทั้งสองพิมพ์ที่ถูกบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์นี้ สืบค้นได้ความว่า เป็นพระที่หลวงตาหยัดสร้างขึ้น หลวงตาหยัดผู้นี้เป็นพระผู้คงแก่เรียน และมีความเข้มขลังทางด้านวิทยาคมมาก เมื่อหลวงตาหยัดท่านได้สร้างพระเสร็จแล้วนั้น ท่านก็ได้นำพระทั้งหมดมาให้หลวงพ่อแก้ว วัดสวนหงส์ ซึ่งอยู่ด้านหน้าตลาดอำเภอบางปลาม้าปลุกเสกอีกทีหนึ่ง หลวงพ่อแก้ว วัดสวนหงส์นี้ ท่านเป็นพระคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงทางด้านวิปัสสนากรรมฐาน และสนิทสนมเป็นเพื่อนกับหลวงพ่อเนียมวัดน้อย พระกรุวัดบางยี่หนนี้จึงเป็นที่เชื่อถือได้ทางด้านพุทธคุณ และมีประสบการณ์ต่างๆ ตั้งแต่เริ่มมีการออกให้เช่าบูชา ปัจจุบันยังพอหาได้อยู่และสนนราคาก็ยังไม่สูง

แชร์
สถานที่ อีสานร้อยแปด