วัดพระลอย

วัดพระลอยสร้างขึ้นเมื่อสมัยใด ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด แต่ก็พอจะเชื่อได้ว่าเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง เมื่อพิจารณาจากอุโบสถซึ่งชำรุดทรุดโทรมมากก็พอจะประมาณได้ว่าวัดนี้ต้องสร้างมาอย่างน้อย 200 ปีล่วงมาแล้ว เมื่อพ.ศ. 2504 นายตำรวจสูงอายุผู้หนึ่งเดินทางจากจังหวัดนครปฐมมาหาหลวงพ่อแต้ม และถามว่า วัดนี้สร้างแต่สมัยไหน หลวงพ่อก็ตอบไปว่า ไม่ทราบเพราะถามใครก็ไม่ได้เรื่องนายตำรวจผู้นั้นจึงได้ชวนไปดูอุโบสถ ได้ตรวจดูอิฐและใบเสมา ใบเสมาเป็นหินแดง มีรูปลายกระหนก นายตำรวจจึงกล่าวสันนิษฐานว่า วัดนี้คงจะสร้างในสมัยอู่ทอง แต่เป็นตอนกลาง ไม่ใช่ตอนต้น ในปีเดียวกัน หลังจากการสนทนากับนายตำรวจเรื่องประวัติวัดพระลอยประมาณ 15 วัน หลวงพ่อแต้มได้ไปเยี่ยมน้าผู้หญิงซึ่งอยู่ในละแวกนั้นมาตั้งแต่เล็กๆ และถามความเป็นมาเกี่ยวกับวัดพระลอย ได้รับคำบอกเล่าเกี่ยวกับวัดพระลอยว่า ผู้ใหญ่ได้บอกกันต่อๆ มาว่า ก่อนที่จะสร้างวัดนี้ มีพระนาคปรกสร้างด้วยหินองค์หนึ่งลอยมาติดอยู่ที่ริมตลิ่ง ชาวบ้านจึงได้ช่วยกันชลอขึ้นจากแม่น้ำสุพรรณบุรี และสร้างวัดขึ้นขนามนามว่า วัดชลอ อย่างไรก็ดี กิตติศัพท์ของคำว่า ลอย ก็มิได้จากหายไป คนบ้านใกล้และไกลต่างก็เรียกกันว่า วัดพระลอย อยู่มานานๆ เข้า คำว่าวัดชลอก็หายไป และก็เรียกกันว่า วัดพระลอย มาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ส่วนวันนี้จะสร้างมาแต่สมัยไหน น้าผู้หญิงของหลวงพ่อก็ไม่ทราบ ทราบแต่ว่าเมื่อเกิดมาและจำความได้ก็เห็นว่าวัดนี้สร้างอยู่แล้ว หลวงพ่อได้ถามน้าผู้หญิงอีกว่าตั้งแต่น้าผู้หญิงจำความได้ ปู่ย่าตายายเคยเล่าให้ฟังบ้างหรือเปล่าว่าวัดนี้เคยสร้างมาหรือไม่ น้าผู้หญิงได้ตอบว่าวัดจะเคยร้างหรือไม่ ก่อนท่านเกิดนั้นไม่สามารถทราบได้ เพราะไม่เคยมีผู้ใดเล่าให้ฟัง แต่นับตั้งแต่จำความได้มา คือตั้งแต่อายุ 3 – 4 ปี พ่อเคยมาช่วยทำกุฏิที่วัดนี้ เป็นกุฏิเสาไม้จริงเครื่องบนและฝาไม้ไผ่ หลังคามุงแฝก ได้สร้างกุฏิ 2 หลัง และหอสวดมนต์เล็กๆ 1 หลัง ขณะนั้นหลวงพ่อคล้ายเป็นเจ้าอาวาส ต่อมาอีกประมาณ 2 – 3 ปี หลวงพ่อคล้ายก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น มีหลวงพ่อทิมมาแทน อยู่ได้ 4 – 5 ปี หลวงพ่อทิมก็ย้ายไป หลวงพ่อแก้วมาเป็นเจ้าอาวาส ในขณะนั้นมีฆราวาสชื่ออาจารย์จอนได้มาปฏิบัติวัดนี้อยู่หลายพรรษาจนกระทั่งอุปสมบทเป็นหลวงพ่อจอน อีก 2 – 3 ปีต่อมาหลวงพ่อแก้วถึงแก่มรณภาพ หลวงพ่อจอนได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสแทน วัดนี้จึงได้เจริญขึ้น ได้นิมนต์อาจารย์คง บ้านวัดแค มาเป็นอาจารย์สอนหนังสือบาลีมูลกระจายเป็นตัวขอม ส่วนหลวงพ่อจอนก็เป็นหมอมีชื่อเสียงโด่งดังในจังหวัดสุพรรณบุรี ในยุคนี้วัดมีความเจริญมากในด้านการศึกษา แต่ในด้านการก่อสร้างไม่ค่อยเอาใจใส่ เนื่องจากหลวงพ่อจอนชอบเป็นหมอและพ่อค้าไม้ กระทำอยู่อย่างนี้วัดก็เสื่อมลงเป็นลำดับ เมื่อหลวงพ่อจอนชราภาพลงวัดก็รกรุงรัง กุฏิที่มีอยู่ 4 – 5 หลังก็ทรุดโทรมลงไป หลวงพ่อจอนถึงแก่มรณภาพ เมื่อ พ.ศ.2483 หลังจากออกพรรษาแล้ว วัดก็ร้างไปหลายเดือน ในปี พ.ศ.2483 คณะสงฆ์ได้อาราธนาหลวงพ่อแต้มมาเป็นเจ้าอาวาส ในขณะนั้น ยังมีกุฏิไม้เหลืออยู่บ้าง ซึ่งอายุประมาณ 100 ปี น้าผู้หญิงของหลวงพ่อผู้เล่าเรื่องนี้ชื่อ นางอิ่ม (แป๊ด) เกตุปลั่ง ขณะนั้นอายุ 93 ปี (พ.ศ.2510) ยังไม่หลงลืมอะไร และยังคงพำนักที่บ้านใกล้วัดพระลอย พิจารณาจากคำบอกเล่าของน้าผู้หญิงของหลวงพ่อแต้มและกุฏิไม้สักซึ่งมีอยู่เมื่อตอนหลวงพ่อย้ายมาเป็นเจ้าอาวาส (ปัจจุบันกุฏิดังกล่าวได้รื้อเสียแล้ว) พอจะประมาณได้ว่าวัดพระลอยได้สร้างมาอย่างน้อย 100 ปี เศษ เมื่อพิจารณาอุโบสถเก่าและใบเสมารวมทั้งคำบอกเล่าต่อๆ กันมา เรื่องชื่อของวัดก็พอจะกล่าวได้ว่าวัดนี้คงลงมือสร้างมานานกว่านั้น หลักฐานสำคัญอีกประการหนึ่งคือพระลอย เป็นพระพุทธรูปนาคปรก ทำด้วยหิน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญของวัดนี้ พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปสมัยลพบุรี และตามคำบอกเล่าต่อๆ กันมา ว่าได้ลอยมาติดริมตลิ่งของวัด แล้วจึงได้มีการสร้างมาระหว่างปลายสมัยอู่ทองกับต้นสมัยอยุธยา

แชร์
สถานที่ อีสานร้อยแปด