วัดมหาธาตุ หมายถึง วัดอันเป็นที่สถิตของพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า สร้างขึ้นในสมัยขุนหลวงพะงั่ว เมื่อปี พ.ศ. 1917 แต่เข้าใจว่าการก่อสร้างเสร็จสิ้นในรัชสมัยพระราเมศวร จารีตของการสร้างพระเจดีย์ขนาดใหญ่เอาไว้ในเมือง ซึ่งถือสมมุติว่า พระเจดีย์นั้นเป็นที่สถิตของพระบรมสารีริกธาตุ และวัดนั้นถือว่าเป็นวัดศักดิ์สิทธิ์ มักจะมีชื่อว่า วัดมหาธาตุ หรือ วัดพระศรีมหาธาตุ หรือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ปรากฏโดยทั่วไปในทุกภูมิภาค
จารีตดังกล่าวนี้จะเริ่มในสมัยใดนั้นไม่ทราบได้ แต่หากจะพิจารณา เฉพาะอาณาจักรอยุธยาจะเห็นได้ว่า ธรรมเนียมดังกล่าวเริ่มตั้งแต่สมัยแรกๆ เลยทีเดียว
วัดมหาธาตุจึงเป็นวัดที่สำคัญที่สุดวัดหนึ่งของราชอาณาจักร ในฐานะที่เป็นตัวแทน ของพระพุทธเจ้า อีกทั้งหากจะพิจารณาดูสถานที่ตั้งก็จะเห็นว่าอยู่ใกล้ชิดกับพระบรมมหาราชวังเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น วัดนี้จึงเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช (ฝ่ายคามวาสี) มาตลอดจนสิ้นกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันเหลือเพียงซากปรักหักพัง ซึ่งแต่เดิมมีพระปรางค์ที่มีลักษณะสูงใหญ่ แต่ได้พังทลายลงมาเหลือเพียงชั้นล่าง
เมื่อพ.ศ. 2499 กรมศิลปากรได้ขุดแต่งพระปรางค์แห่งนี้ พบของโบราณหลายชิ้นที่สำคัญ คือ ผอบศิลา ภายในมีสถูปซ้อนกัน 7 ชั้น แบ่งออกเป็น ชิน เงิน นาก ไม้จันทร์แดง แก้วโกเมน และทองคำ ชั้นในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และเครื่องประดับอันมีค่า ปัจจุบันพระบรมสารีริกธาตุ นำไปประดิษฐานไว้ที่ี่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา …
วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่เชิงสะพานป่าถ่าน ทางทิศตะวันออกของวัดพระศรีสรรเพชญ์ มีสิ่งที่โดดเด่น คือ เศียรพระพุทธรูปกว่าร้อยปีในรากไม้ โดยเศียรพระพุทธรูปเป็นพระพุทธรูปหินทรายเหลือแค่ส่วนเศียร คาดว่าเศียรพระพุทธรูปนี้จะหล่นลงมาอยู่ที่โคนต้นไม้ในสมัยเสียกรุงจนรากไม้ขึ้นปกคลุม ทำให้มีความงดงามแปลกตา เลื่องชื่อลือนามกลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ ทำให้วัดแห่งนี้กลายเป็นวัดที่มีชื่อเสียงและ เป็นที่รู้จักทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ
สิ่งที่น่าสนใจในวัดอีกอย่างคือ เศียรพระพุทธรูปหินทราย ซึ่งมีรากไม้ปกคลุมเข้าใจว่าเศียรพระพุทธรูปนี้จะหล่นลงมาอยู่ที่โคนต้นไม้ในสมัยเสียกรุงจนรากไม้ขึ้นปกคลุมมีความงดงามแปลกตาไปอีกแบบ