วัดม่วยต่อ

วัดม่วยต่อ คำว่า “ม่วยต่อ” เป็นภาษาไทยใหญ่ที่คนทั่วไปเรียกเพี้ยนไปจากสำเนียงที่แท้จริง ซึ่งจะต้องออกเสียงว่า “หม่วยต่อ” แปลว่า พระธาตุวัดหม่วยต่อ ก็คือวัดพระธาตุในภาษาไทยกลางนั้นเอง วัดม่วยต่อที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ตั้งอยู่ในหมู่บ้านขุนยวมหมู่ที่ 1 ตำบลขุนยวม อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีเนื้อที่ทั้งหมด 11 ไร่ 3 งาน มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้ ทิศเหนือจดกับที่ทำการประปาขุนยวมและสระน้ำหัวหนอง ทิศใต้จดกับถนนกริชสุวรณ ทิศตะวันออกจดกับถนนกริชสุวรรณ ทิศตะวันตกจดกับถนนหลวงสายเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และสนามบิน วัดม่วยต่อเคยเป็นวัดร้างมานานก่อน พ.ศ. 2397 จากคำบอกเล่าของผู้มีอายุทราบว่า มีแต่ซากอิฐของพระธาตุและวิหารเท่านั้น เริ่มสร้างมีพระภิกษุรูปหนึ่งได้เดินธุดงค์ภายหลังออกพรรษา ลุถึงวัดแห่งนี้จึงได้เข้าพักอาศัย ต่อมามีศรัทธาญาติโยมใกล้เคียงเลื่อมใสใคร่จะให้พระคุณเจ้าอยู่ประจำ ณ หมู่บ้านนั้น จึงมีศรัทธาผู้เข้มแข็งคนหนึ่งซื่อ ลุงจองจาย พร้อมด้วยครอบครัวชักชวนคนอื่นๆ สร้างศาลาการเปรียญแบบไทยใหญ่ขึ้นเป็นศาลาชั่วคราวมุงด้วยใบตองพลวง ทั้งนี้ ก็เพื่อให้พระธุดงค์ได้มีสถานที่บำเพ็ญสมณธรรม และเพื่อให้ศรัทธาญาติโยมมีโอกาศได้ฟังเทศน์ทำบุญเป็นประจำในวันธรรมสวนะ เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้ถวายแด่พระธุดงส์พร้อมกับตั้งชื่อว่า “วัดหม่วยต่อ” และนิมนต์พระธุดงค์เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ได้ชื่อว่าเป็นวัดแห่งแรกในอำเภอขุนยวม วัดนี้ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์เรื่อยมาทุกปีจนถึง พ.ศ. 2451 มีศรัทธาลุงจองหลู่และครอบครัว พร้อมด้วยศรัทธาทั้งหลาย มีจิตศรัทธาสร้างศาลาการเปรียญแบบไทยใหญ่เป็นอาคารถาวรขึ้นหลังหนึ่งแทนศาลาหลังเก่าซึ่งชำรุดทรุดโทรมมาก พร้อมกับสร้างพระประธานแบบก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ขึ้นเป็นองค์แรก (องค์ซ้ายมือ) ต่อมาอีกหนึ่งปีพระโพธิญาเจ้าอาวาสองค์ที่สองพร้อมด้วยลูกศิษย์ลูกหาได้สร้างพระประธานองค์ที่สองขึ้นลุ ถึง พ.ศ. 2471 ศรัทธาแม่เฒ่าพะก่าหม่านจี่ พานิชยานนท์และครอบครัว พร้อมด้วยศรัทธาอื่นๆ ร่วมกันสร้างศาลาการเปรียญเพิ่ม 1 หลัง พร้อมกับสร้างหอไตรแบบไทยใหญ่ใต้ฐานเจดีย์และศาลาบำเพ็ญสมณธรรม (สลอบอาหยุ่ง) ด้านหน้าพระธาตุเจดีย์ไว้เป็นที่บำเพ็ญสมณธรรมคนเฒ่าคนแก่อีกด้วย พ.ศ. 2472 ศรัทธาพ่อเฒ่าจองยอย แม่เฒ่าจองออย วัฒนมาลาและครอบครัว พร้อมด้วยศรัทธาชาวบ้านขุนยวมได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างพระประธานขึ้น 1 องค์ เป็นองค์ที่สามและสร้างศาลาการเปรียญเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งหลัง พ.ศ. 2439 นายพะกะเปอพร้อมด้วยคณะศรัทธาได้ร่วมแรงสามัคคีกันสร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้น 4 องค์ ปัจจุบันเหลือเพียง 3 องค์ เพราะองค์ที่ 4 ทรุดพังไม่สามารถบูรณะปฏิสังขรณ์ให้คงสภาพเดิมได้ ส่วน 3 องค์ที่เหลือนี้พระมหาธรรมศรฐานิสสโร ได้เชิญชวนศรัทธาญาติโยมที่มีจิตศรัทธาร่วมกันบูรณะปฎิสังขรณ์ใหม่ ในขณะเดียวกันศรัทธานายส่ง กานหลู่ บุญลืนและคณะศรัทธาทั้งหลายได้มีจิตศรัทธาปสาทร่วมกันสร้างศาลาหน้าองค์พระเจดีย์ 1 หลัง เพื่อเป็นที่บำเพ็ญสมณธรรมของพระสงฆ์และเป็นที่จำศีลภาวนาของสัตบุรุษ พ.ศ. 2512 พระครูอนุสารณ์ศาสนการ ได้เชิญชวนศรัทธาประชาชนทั้งใกล้และไกล บูรณปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญด้านหน้าซึ่งชำรุดทรุดโทรมจนแทบจะอาศัยอยู่ไม่ได้ให้เป็นอาคารถาวรแบบใหม่ หลังคาเป็นแบบศิลป์ไทยภาคกลางทำให้วัดม่วยต่อเป็นถาวรสถานที่ผสมผสานศิลปะของไทยใหญ่เข้ากับศิลปะไทยกลาง เกิดความสวยงามอีกแบบหนึ่ง

แชร์
สถานที่ อีสานร้อยแปด